Announcement

Collapse
No announcement yet.

ศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับระบบเสียง

Collapse
X
 
  • Filter
  • Time
  • Show
Clear All
new posts

  • ศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับระบบเสียง

    จริงๆผมก็เป็นคนนึงที่ชอบฟังเพลงนะครับ แต่ที่ผ่านๆมา เคยไปอ่านหลายๆเวบมาแล้ว สิ่งที่เจอเหมือนๆกันก็คือ มึนตึ้บครับ ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ทั่วๆไป การใช้งานปกติ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเรื่องเสียงเมื่อไหร่ ได้เรื่องทุกที เท่าที่ลองอ่านๆดูในบอร์ดนี้นะครับ สรุปได้ใจความสั้นๆว่า ก่อนที่เสียงเพลง (ไม่ว่าจะเป็น mp3 หรือ cd) ก่อนที่จะออกมาเป็นเสียงให้เราได้ฟัง ต้องผ่าน software ไม่รู้กี่ชุดกี่ตัว ทั้ง encode decode สารพัด พอจบ software หลาย layers แล้ว ก็ยังมี hardware อีกหลายชุดเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น amp สารพัดแบบ ตัวนี้ขยายเสียงแหลม เสียงเบส เสียงกลาง ซึ่งก็มี material อีกหลายๆประเภท ที่ต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่ยากสำหรับคนที่จะเริ่มต้นใหม่ เพราะไม่รู้ว่าการจะเลือกของแต่ละชิ้น ควรจะเริ่มต้นดูอะไรบ้าง แล้วต้องเลือกยังไง ถึงจะได้เสียงแบบที่ตัวเองต้องการ (อย่างน้อยๆก็ดูจาก spec ก่อนไปฟังจริง)

    หลังจากที่ intro กันมายาวนาน ผมก็อยากให้เทพ หรือจะมาร หรือคนธรรมดาก็ได้ ขอแค่มีความรู้และอยากอธิบาย ซึ่งจะหูทอง หูเงิน หูทองแดง หรือว่าหูดำ หูหิ้วอะไรต่างๆนาๆ มาช่วยกันสรุปโดยคร่าวๆกันดีกว่าครับ อาจจะเริ่มต้นจากระบบเสียง 2.1 5.1 dts ฯลฯ ก็ได้ ว่ามีสายต่อแบบไหน ทองแดง coaxial digital ตัวไหนมีข้อจำกัดยังไง แล้วมี tip&technic แบบไหนบ้าง ที่จะทำให้เราได้เสียงแบบที่ต้องการ ไม่ว่าจะเอาไปแขวนบนเพดาน เอาตู้เย็นทับ หรือจะเอารถถังมาทับก็ได้ครับ (ถ้าหาได้)

    และถ้าเป็นไปได้ ก็ stick กระทู้นี้ไว้บนสุดก็ดีนะครับ คนที่เริ่มเข้าบอร์ดนี้ใหม่ๆจะได้เข้าใจศัพท์ที่ใช้กันครับ

    ปล ขอแบบสรุปนะครับ ไม่อยากได้แบบ link เดียว มีครบทุกอย่าง แต่ต้องอ่าน 3 วัน 3 คืนจบ แต่ถ้ามี link แบบนั้นมาแปะๆไว้ด้วยก็ดีเหมือนกันนะครับ เผื่อใครอยากรู้อะไรเพิ่มเติมในแต่ละเรื่องจะได้เข้าไปหาได้
    ปล2 tip&technic ถ้าจะลง ก็บอกกันหน่อยละกันนะครับ ว่าทำแบบนี้แล้วจะได้อะไรบ้าง
    ปล3 ขอคำถามแค่คำศัพท์นะครับ ไม่อยากได้แบบขอความช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหา อันนั้นตั้งกระทู้ใหม่เองเลยครับ สะดวกกว่า

  • #2
    A

    Airy : (แอ-รี่) เวิ้งว้าง, เปิดเผย, ให้ความรู้สึกเหมือนมีเสียงก้องสะท้อนเบาๆ แต่กินบริเวณกว้างห่อหุ้มพื้นที่บริเวณที่เป็นตำแหน่งเสียงของเครื่องดนตรีเอาไว้, เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการจัดการกับการสะท้อนความถี่ในย่านสูงได้ดี (ทั้งจากการบันทึกเสียงในแผ่น และจากการเซ็ตอัพลำโพงในห้องที่มีสภาพอะคูสติกดี), บอกให้รู้ว่าตอนนั้นคุณกำลังได้ยิน (หรือสัมผัส) ความถี่ที่สูงกว่า 15kHz ถึง 20kHz (thai edition) ความหมายคล้ายกับคำว่า “ambient” : ในภาษาไทยมักจะใช้คำว่า “เสียงเปิดกว้าง มีมวลอากาศล้อมรอบ หรือมีแอมเบี๊ยนต์ห่อหุ้มเวทีเสียง หรือห่อหุ้มชิ้นดนตรี

    B

    Bassy : (เบส-ซี่) เป็นลักษณะของเสียงที่มีการเน้นหนักที่ความถี่ด้านต่ำ (ต่ำกว่า 200Hz ลงไป) (thai edition) ดุลเสียงเน้นไปทางด้านทุ้มมากกว่ากลาง-แหลม, หรือเสียงทุ้มล้ำหน้าความถี่อื่นๆ

    Blanketed : (บแลง-แค็ท) เป็นลักษณะของเสียงที่ให้เสียงแหลมที่มีปริมาณน้อย, เปรียบเทียบเหมือนกับการเอาผ้าห่มหนาๆ ไปคลุมลำโพงเอาไว้ เสียงแหลมจึงไม่ออกมา (thai edition) เสียงอับทึบ, เสียงแหลมจมไม่เปิดกระจ่าง

    Bloated : (บโลท-อิด) มีปริมาณความถี่ในย่านมิดเบส (mid-bass = ความถี่ประมาณ 250Hz) มากเกินไป, เป็นลักษณะของเสียงทุ้มที่ไม่กระชับ ไม่เก็บตัว, หรือว่ามีอาการก้องสะท้อนที่ความถี่ย่านมิดเบสเกิดขึ้น (thai edition) เสียงเบสบูม, เสียงกลางต่ำล้น มีอาการอื้ออึง, ไม่กระชับ เก็บตัวไม่ดี หัวโน๊ตย่านต่ำไม่คม

    Blurred : (บเลอ) ความเร็วในการตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันไม่ดี, ให้ตำแหน่งมิติสเตริโอที่คลุมเครือ, ให้โฟกัสของเสียงที่ไม่เด่นชัด (thai edition) เสียงพร่าเลือน, โฟกัสไม่แม่นยำ, ไม่มีความคมชัดของชิ้นดนตรี, อิมแพ็คของหัวเสียงไม่คม

    Boomy : (บูม-มี่) มีปริมาณเสียงทุ้มในย่านต่ำ (Lower-bass = ความถี่ประมาณ 125Hz) มากเกินไป, เป็นลักษณะของเสียงทุ้มต่ำที่ไม่กระชับ ไม่เก็บตัว, หรือว่ามีอาการก้องสะท้อนที่ความถี่ย่านทุ้มต่ำๆ เกิดขึ้น (thai edition) เบสบวม

    Boxy : (บ็อก-ซี่) เกิดอาการก้องสะท้อนของเสียงตู้ลำโพงเข้ามาปนกับเสียงดนตรี ทำให้ฟังแล้วรู้สึกเหมือนเสียงดนตรีดังอู้อยู่ในตัวตู้ลำโพง ไม่หลุดตู้ออกมา, อาการอู้ก้องของตัวตู้ลำโพงมักจะอยู่ที่ความถี่ประมาณ 250Hz – 500Hz (thai edition) เสียงครางอู้, เสียงไม่หลุดตู้

    Breathy : (บเร็ธ-ธี่) ได้ยินเสียงลมที่เคลื่อนตัวผ่านปล่องเสียงหรือเสียงลมที่แทรกตัวผ่านลิ้นของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลม (wood-winds) และเครื่องเป่าทองเหลืองที่ใช้ลิ้น (reeds) อย่างเช่น แซ็กโซโฟน, ฟลุ๊ท (thai edition) ไม่ใคร่นิยมทับศัพท์ แต่มักจะใช้วลีอธิบาย ทำนองว่า “รับรู้ได้ถึงลมหายใจของตัวโน๊ต” เป็นต้น

    Bright : (บไรท) เป็นเสียงที่เน้นหนักในย่านเสียงแหลม, สัญญาณเสียงส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกของเสียงดนตรีจะมีความหนาแน่นมากกว่าเสียงดนตรีหลัก (fundamental) (thai edition) เสียงเปิดกระจ่าง สว่างโพลน, ดุลเสียงหลักไปทางกลาง-แหลม, ดุลเสียงโดยรวมเบาบาง ลอยไม่ลงพื้น

    C

    CD : (คอมแพคดิสค์) คือแผ่นออพติคอลซึ่งมีหน้าที่เก็บข้อมูลดิจิตัลในรูปแบบต่างๆ ทั้งเสียง, ภาพ หรือข้อมูล โดยแต่เดิมแผ่น CD พัฒนาสำหรับเก็บข้อมูลเสียงดิจิตัล หรือที่เรียกว่า ซีดีเพลง หรือ ออดิโอซีดี (audio CD) โดยสัญญาณเสียงถูกเก็บไว้ในรูปแบบที่เป็นไปตามมาตรฐานเรดบุ๊ค (red book) ซึ่งระบุไว้ว่าซีดีเสียงต้องเก็บข้อมูลเพลงด้วยการเข้ารหัสแบบ PCM (Pulse Code Modulation) ขนาด 16 บิตด้วยอัตราการสุ่มตัวอย่าง 44.1 kHz โดยมาตรฐานแผ่นซีดีมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ 120 มิลลิเมตร (5 นิ้ว) แต่ก็มีรุ่นขนาด 80 มิลลิเมตรอยู่บ้างในรูปการ์ดขนาดเท่านามบัตรหรือเป็นรูปวงกลม สำหรับแผ่นดิสค์ขนาด 120 มิลลิเมตรสามารถบันทึกเสียงได้ 74 นาที ส่วนแผ่นขนาด 80 มิลลิเมตร เก็บเสียงใช้เพียงแค่ 20 นาที สำหรับความเป็นมาของแผ่น CD นั้นเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 80 (ประมาณ ค.ศ. 1970-80) นักวิจัยของบริษัทฟิลิปส์ ได้ใช้เทคโนโลยีของแผ่นเลเซอร์ดิสค์ มาทดลองสร้างแผ่นออพติคอลสำหรับเก็บเสียงแต่เพียงอย่างเดียว และในที่สุด ในปี ค.ศ. 1980 ทางฟิลิปส์และโซนี่ ได้ร่วมมือกันออกแบบและจำหน่ายต้นแบบของแผ่นดิสค์ระบบเสียงดิจิตอลขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2525 แผ่นซีดีก็เข้ามาในตลาดเอเชีย และในปี พ.ศ. 2527 มีการออกแผ่นซีดีรอม (CD-ROM = หน่วยความจำอ่านได้อย่างเดียว) ที่ใช้สำหรับเก็บข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ และในปี พ.ศ. 2523 แผ่นซีดีที่ผู้ใช้สามารถเขียนเองได้ หรือแผ่นซีดีอาร์ (CD-R) ก็ได้ปรากฏสู่สายตาผู้ใช้ในลำดับต่อมา

    Chesty : (เช็ซ-ที้) เสียงร้องที่ฟังดูเหมือนคนร้องมีหน้าอก (ปอด) ที่ใหญ่ผิดปกติ, เป็นเสียงร้องที่มีปริมาณความถี่กลางต่ำ (ราว 250Hz – 125Hz) ถูกอัดขยายขึ้นมามากเกินความถี่ในย่านอื่น (thai edition) เป็นลักษณะ color ของเสียงกลางโดยเฉพาะเสียงร้องที่นักเล่นมักจะชอบ, ทำให้เสียงร้องมีเนื้อมวลที่ “หนา” กว่าความเป็นจริง แต่ฟังแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น ไม่บาง

    Clear : (เคลีย) (ดูศัพท์คำว่า “Transparent”)

    Colored : (คัล-เลอร์) มีอาการก้องกังวานของเสียงที่ไม่ใช่เสียงคู่แปด (Timbre) ที่เป็นธรรมชาติของเสียงเครื่องดนตรีนั้นๆ เข้ามาเจือปน, เป็นอาการโดยรวมที่สะท้อนถึงลักษณะของเสียงที่อยู่ในสภาพอะคูสติกที่มีการตอบสนองต่อความถี่ที่ไม่ราบเรียบ (อาจจะเป็นเสียงในแผ่นที่บันทึกมาจากสภาพอะคูสติกในห้องบันทึกเสียงที่ไม่ราบเรียบ หรืออาจจะเกิดจากการเพลย์แบ็คในห้องฟังที่มีสภาพอะคูสติกที่มีการสะท้อน+ความถี่ที่ไม่ราบเรียบ) มีการตก (dips) หายของความถี่หรืออาจจะมีอาการโด่ง (peak) ของบางความถี่เกินไป (thai edition) มักจะใช้ทับศัพท์ว่า “เสียงมีคัลเลอร์” หรือบางทีก็ใช้คำว่า “มีสีสัน” เข้ามาอธิบาย แต่โดยธรรมชาติแล้ว สีสันหรือคัลเลอร์บางชนิดนักเล่นจะชอบ อย่างเช่นสีสันหรือคัลเลอร์ของสัญญาณฮาร์มอนิกเลขคู่ที่เกิดจากการทำงานของอุปกรณ์ขยายสัญญาณจำพวกหลอดสุญญากาศเป็นต้น

    Crisp : (คริซพ) มีการขยายต่อเติมความถี่ในย่านสูงมากเกินไป โดยเฉพาะมักจะใช้เรียกลักษณะของเสียงฉาบ (thai edition) เซ็งแซ่, เสียงแหลมที่ฟุ้ง กระสานซ่านเซ็น ไม่เก็บรวบเป็นกลุ่มก้อน

    ประมาณนี้หรือเปล่าครับ ถ้าใช่คนธรรมดาจะได้โพสต์ต่อครับ ไปซื้อบุหรี่ก่อนแล้วกัน
    Last edited by Aeromancer; 27 Feb 2008, 13:27:29.

    Comment


    • #3
      ได้แบบนี้ก็ดีเหมือนกันครับ ... แล้วแต่จะช่วยๆกันโพสก็ได้ครับ ความรู้ทั้งนั้น

      ถ้าพูดถึงคำศัพท์ที่จะใช้กันในเวบบอร์ดหรือเวลาคุยกับร้านด้วยก็ดีเหมือนกันนะครับ อย่างเช่น ลาก = overclock เป็น verb ของการฉุดกระชาก ดึง ฯลฯ แต่ในทางเทคนิค หมายถึงการทำให้ cpu ทำงานเกิน spec ที่ได้มา เช่น q6600 ที่ซื้อมา 2.4 แต่ลากให้ไปวิ่งอยู่ที่ 3.6 ประมาณนั้น

      Comment


      • #4
        งั้นต่อเลย แต่ไม่ครบนะ รบกวนท่านอื่นเสริมกันด้วยนะครับ

        D

        Dark : (ดาค) ความหมายตรงข้ามกับ “Bright”, เป็นลักษณะของเสียงที่มีความถี่ในย่านสูงที่มีปริมาณน้อยและไม่แข็งขัน (thai edition) เสียงหม่นทึม, ไม่ใสกระจ่าง

        Delicate : (เดล-อิ-คิท) ลักษณะการยืดขยายของความถี่ย่านสูงตั้งแต่ 15kHz ถึง 20kHz โดยไม่มีการอั้น (thai edition) ไม่มีคำทับศัพท์ในภาษาไทย, มักจะใช้วิธีอธิบายความว่าเป็นลักษณะของเสียงแหลมที่ทอดขยายไปได้ไกลโดยไม่มีอาการอั้นตื้อ

        Depth : (เด็พธ) ความรู้สึกเกี่ยวกับ “ระยะทาง” (จากใกล้ไปไกล) ระหว่างชิ้นดนตรี (thai edition) ความลึกของเสียง ซึ่งจะทำให้รู้สึกถึงลักษณะความเป็นสามมิติของเวทีเสียง (มีตื้น-ลึก, กว้าง-แคบ, และสูง-ต่ำ)

        Detailed : (ดิ-เทลด) ได้ยินองค์ประกอบส่วนย่อยของเสียงดนตรีที่ชัดเจนมากถึงขนาดที่สามารถจินตนาการเป็นภาพขึ้นในสมองได้, มักจะเกิดกับลักษณะเสียงที่มีการตอบสนองต่อความถี่ย่านสูงได้ดี, และเป็นเสียงที่มีความฉับพลันที่ดี (thai edition) มักจะใช้ทับศัพท์ว่า “ดีเทล”, หรือบ้างก็มักจะขยายความโดยใช้คำว่า “มีรายละเอียดหยุมหยิม”, “ระยิบระยับ” เป็นต้น

        Dimension : (ไดเมนชั่น) หมายถึง ระนาบความกว้าง, ความลึก และความสูง ของเวทีเสียง (thai edition) ในวงการเครื่องเสียงไทยใช้คำว่า ‘มิติเสียง’ แทนคำนี้ โดยแสดงความหมายถึงระนาบความกว้าง, ลึก และสูงของ ‘เวทีเสียง’ ที่ปรากฏขึ้นในอากาศ และใช้ศัพท์ที่เรียกด้านต่างๆ ของเวทีเสียงแยกออกไปเป็น มิติด้านกว้าง, มิติด้านลึก และมิติด้านสูง

        Dull : (ดัล) ดู “Dark” (ความหมายคล้ายกัน) (thai edition) คำนี้จะไม่ค่อยปรากฏว่ามีใช้ในบ้านเรา, เป็นคำที่มีลักษณะความหมายของเสียงคล้ายกับคำว่า “dark”, ระหว่างสองคำนี้จะมีความคล้ายกันในส่วนของดุลเสียงซึ่งไม่เด่นในแง่ของเสียงแหลมด้วยกันทั้งคู่ แต่ “dull” จะสื่อไปทางลักษณะของเสียงที่มีไดนามิกเร้นจ์ที่แคบกว่า มีผลให้ฟังแล้วน่าเบื่อกว่า “dark”

        Dynamic Range : (ไดนามิกเร้นจ์) หมายถึง ช่วงกว้างของระดับความดังของเสียง นับจากเบาที่สุดไปจนถึงดังที่สุด หรือจากดังสุดลงมาเบาสุดก็ได้ มีหน่วยวัดเป็น ‘เดซิเบล’ (decibel = dB)

        Dynamic Contrast : (ไดนามิก คอนทราสน์) หมายถึง ระดับความแตกต่างระหว่างความดังของเสียง ถ้าให้ความแตกต่างของระดับความดังไม่***งกันมาก คือช่วงเบาที่สุดก็ไม่ได้มีระดับความดังที่ต่ำมาก ในขณะเดียวกัน ช่วงที่ดังที่สุดก็ไม่ได้มีระดับความดังที่สูงมาก อย่างนี้ก็เรียกว่า ไดนามิก-คอนทราสน์ไม่กว้าง และในทางกลับกัน ถ้าช่วงเบาที่สุดของเพลงมีระดับความดังที่ต่ำมากๆ ในขณะเดียวกัน ช่วงที่ดังที่สุดของเพลงก็มีระดับความดังที่สูงมากๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าเพลงนั้นมีระดับคอนทราสน์-ไดนามิกที่กว้างมาก (ตัวอย่าง : เพลงคลาสสิกประเภท symphony orchestra เป็นแนวเพลงประเภทที่ให้ไดนามิก คอนทราสน์ของเสียงที่กว้างมากกว่าแนวเพลงประเภทอื่นๆ)

        DVD-Audio : (ดีวีดี-ออดิโอ) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า DVD-A คือดิจิตัลฟอร์แม็ตสำหรับใช้บันทึกสัญญาณออดิโอที่มีคุณภาพความเป็นไฮ-ไฟเดลิตี้สูงลงไปบนแผ่นดีวีดี ถูกโปรโมทเข้าสู่วงการไฮไฟฯ ครั้งแรกก่อนปี 2000 ในขณะที่ตัวแผ่นจริงกับเครื่องเล่นถูกส่งเข้าสู่ตลาดตอนปี 2000

        DVD-Audio เป็นคู่สงครามฟอร์แม็ตกับ Super Audio CD หรือเรียกย่อๆ SACD ซึ่งเป็นดิจิตัลฟอร์แม็ตแบบไฮ-เรโซลูชั่นอีกฟอร์แม็ตหนึ่งที่ต้องการเข้ามาเป็นมาตรฐานในตลาดออดิโอเช่นกัน จนเมื่อเครื่องเล่นประเภมัลติฟอร์แม็ตที่สามารถเล่นทั้งแผ่น DVD-Audio และแผ่น SACD ได้ปรากฏออกมาในตลาด สงครามฟอร์แม็ต (format war) ระหว่าง DVD-Audio กับ SACD จึงยุติลง

        สเปคฯ ของฟอร์แม็ต DVD-Audio เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถเลือกที่จะบันทึกสัญญาณลงไปในแผ่นได้หลากหลายรูปแบบมาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือก ‘จำนวนแชนเนล’ ที่ยืดหยุ่นได้ตั้งแต่ 1 แชนเนล (mono) ไปจนถึง 6 แชนเนล (surround) รวมถึงสามารถเลือก ‘อัตราความละเอียด’ ของสัญญาณเสียงในแต่ละแชนเนลแยกจากกันได้ด้วย ทั้งในส่วนที่เป็น ‘จำนวนบิตข้อมูล’ ตั้งแต่ 16 – 24 บิต ไปจนถึง ‘อัตราสุ่มความถี่’ ของข้อมูลสัญญาณที่มีให้เลือกตั้งแต่ 44.1kHz, 48kHz, 88.2kHz, 176.4kHz, 96kHz และสูงสุดคือ 192kHz

        เครื่องเล่น DVD-Audio ยุคแรกๆ จะไม่สามารถปล่อยสัญญาณดิจิตัลออกมาภายนอกได้ ต้องทำการถอดรหัสเสียงและทำการแปลงสัญญาณจากดิจิตัลเป็นอะนาลอกด้วยวงจร DAC (Digital-to-Analog Converter) ที่อยู่ภายในตัวเครื่องเอง แล้วปล่อยเป็นสัญญาณอะนาลอกออกมาภายนอก แต่ในปัจจุบัน เครื่องเล่นดีวีดีที่สามารถเล่นแผ่น DVD-Audio ที่ติดตั้งขั้วต่อสัญญาณภาพ+เสียงที่เรียกว่า HDMI (High Definition Multimedia Interface) เวอร์ชั่น 1.3 จะสามารถปล่อยสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลออกมาได้ ทั้งที่เป็นแบบ stereo และ multichannel ที่มีรายละเอียดสูง เพื่อนำไปขยายผ่านทางแอมปลิฟายต่อไป

        E

        Edgy : (เอ็จ-จี้) มีปริมาณความถี่ย่านสูงมากเกินไป, สัญญาณส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกในย่านเสียงสูง (แหลม) มีอาการเน้นเข้มมากกว่าตัวความถี่หลัก (fundamental), เป็นลักษณะของความผิดเพี้ยนอย่างหนึ่งที่ทำให้ฟังแล้วเกิดอาการระคายหู (thai edition) เสียงแหลมมีอาการ “ขึ้นขอบ” แข็ง

        F

        Fat : (แฟ็ท) (ดูความหมายของ Full และ Warm ประกอบ) เกิดจากลักษณะของช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีที่พร่ามัว ไม่สะอาด, เกิดจากลักษณะการซ้อนทับที่ไม่ลงตัวกันระหว่างเสียงโมโนที่แพร่ออกมาจากลำโพงทั้งสองข้าง ทำให้ชิ้นดนตรีที่ดังออกมาจากลำโพงทั้งสองข้างมีตำแหน่งที่เหลื่อมล้ำกัน มีผลให้ชิ้นดนตรีมีขนาดที่อวบใหญ่ขึ้นเกินจริง (เมื่อเทียบกับสัญญาณที่บันทึกอยู่ในแผ่นจริงๆ), เป็นลักษณะของเสียงที่มักจะเกิดขึ้นจากการหน่วงช้า (delay) ของเสียงที่สร้างขึ้นจากเทปอะนาลอก หรือเสียงที่สร้างขึ้นจากอุปกรณ์ขยายประเภทหลอดสุญญากาศ (thai edition) เสียงหนาอ้วน, มีเนื้อมีมวล ซึ่งเป็นลักษณะความเพี้ยนของเสียงลักษณะหนึ่งที่ผู้ฟังมักจะชอบ, มีผลให้ความเป็นสามมิติของตัวเสียงและรายละเอียดยิบย่อยของชิ้นดนตรีลดด้อยลง

        Full : (ฟูล) ความถี่หลัก (fundamental) มีความหนาแน่นและมีความดังมากกว่าความถี่ส่วนที่เป็นฮาร์มอนิก (harmonic) ของมันเอง, บ่งบอกให้รู้ถึงลักษณะการตอบสนองความถี่ในย่านต่ำที่ดี (ของซิสเต็ม, หรือจากการบันทึกในแผ่น, หรือจากคุณสมบัติของอุปกรณ์เครื่องเสียง, หรือจากอะคูสติกในห้องฟัง), ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องมีลักษณะปริมาณของความถี่ในย่าน 100Hz ถึง 300Hz ที่มากเกินไป แค่มีระดับปริมาณที่เพียงพอก็ใช่แล้ว, เสียงร้องของผู้ชายจะมีลักษณะ “full” ถ้ามีความถี่ในย่าน 125Hz ที่มากพอ, ส่วนเสียงของนักร้องผู้หญิงและเสียงไวโอลินจะมีลักษณะ “full” เมื่อมีปริมาณความถี่ในย่าน 250Hz ที่มากพอ, เสียงของเครื่องเป่าอย่างแซ็กโซโฟน (เทอเนอร์) จะมีอาการ “full” เมื่อมีปริมาณความถี่ในย่าน 250Hz ถึง 400Hz ที่มากพอ, เป็นลักษณะของเสียงที่ตรงข้ามกับ “thin” (ผอม) (thai edition) มักจะทับศัพท์แต่เพิ่มเสริมว่า “ฟูลบอดี้” ในความหมายลักษณะเดียวกัน

        G


        Gentle : (เจน-ท’ล) ตรงข้ามกับ “edgy”, สัญญาณเสียงส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกของความถี่ในย่านสูงลงมาถึงย่านกลางตอนบน (upper-mid) ไม่ถูกขยายออกมาจนเกินจริง หรืออาจจะมีลักษณะที่น้อยกว่าความเป็นจริง (thai edition) เป็นลักษณะของเสียงที่นุ่มนวล, ฟังง่าย ให้ความรู้สึกที่ไม่รุกเร้า, ไม่ชี้ชัด

        Grainy : (เกรน-นี่) เป็นลักษณะของเสียงดนตรีที่ถูกแยกส่วนออกเป็นชิ้นเล็กๆ เอามาต่อกัน แทนที่จะมีลักษณะ (การเคลื่อนไหว) ที่ต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนสายน้ำ, เป็นความเพี้ยนของเสียงที่เกิดขึ้นจากปัญหาทางวงจรอิเล็กทรอนิคที่เรียกว่า Inter Modulation Distortion (IMD), หรืออาจจะเกิดจากความผิดพลาดในการออกแบบวงจรภายในอย่างเช่นระบบกราวนด์ ฯลฯ, อุปกรณ์เครื่องเสียงประเภท A-to-D converter ในยุคแรกๆ จะมีเสียงลักษณะนี้เกิดขึ้นมาก, มีอีกคำหนึ่งที่บ่งบอกลักษณะอาการที่คล้ายกันคือ “powdery” คือลักษณะของเสียงที่มีเนื้อเสียงที่ “ป่นเหมือนผงแป้ง” แต่เป็นลักษณะของเสียงที่มีอาการระคายหูน้อยกว่า ลักษณะ “grainy” (thai edition) มักจะใช้ทับศัพท์ว่า “เกรนของเสียง” แต่จะมีการแยกแยะเพิ่มเติมถึงระดับความหยาบ-เนียนของเกรนด้วย ซึ่งก็คือนำเอาความหมายของคำว่า “powdery” มาประกอบกัน

        Grungy : (กรั้ง-จี้) ลักษณะของเสียงที่เต็มไปด้วย Harmonic Distortion หรือเต็มไปด้วย Inter Modulation Distortion (thai edition) ไม่ค่อยพบว่ามีการใช้ศัพท์คำนี้ในบ้านเรา

        H

        Hard : (ฮารด) ลักษณะของเสียงที่มีความถี่ในย่านกลางสูง (upper-midrange) มากเกินไป, โดยมากจะอยู่ที่ความถี่ประมาณ 3kHz, หรืออาจจะใช้เรียกลักษณะของเสียงที่มีการตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันที่ดี (เกินไป) ก็ได้ (thai edition) บ้านเรามักจะใช้คำว่า “hard” ในความหมายถึงเสียงที่มีลักษณะแข็งกร้าว กระด้าง ไม่นุ่มหู ซึ่งจะใช้กับอาการแข็งกระด้างที่เกิดขึ้นกับความถี่ใดก็ได้ ไม่ได้มีการจำกัดขอบเขตอยู่กับความถี่ในย่านใดย่านหนึ่งโดยเฉพาะเหมือนความหมายที่ฝรั่งใช้

        Harsh : (ฮาฌ) เป็นลักษณะของเสียงที่มีความถี่ในย่านกลางสูง (upper-midrange) มากเกินไปเหมือน “hard” แต่ในย่านความถี่ประมาณ 2kHz ถึง 6kHz จะมีลักษณะที่โด่งขึ้นมา (peak) มากกว่าปกติ, หรือใช้เรียกลักษณะของเสียงที่มีอาการเลื่อนเฟส (phase shift) ที่มากเกินไปซึ่งมักจะพบได้จากแผ่นที่บันทึกเสียงด้วยระบบดิจิตัลที่ใช้วงจร lowpass filter รุ่นแรกๆ (แผ่นซีดีในยุคแรกๆ) (thai edition) มักจะใช้ในความหมายที่รวมไปกับคำว่า “hard”

        HDCD : HDCD : ตัวอักษร HDCD ย่อมาจากคำเต็มๆ ว่า High Definition Compactible Digital ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะ ‘ยัด’ คุณภาพเสียงลงไปบนแผ่นซีดี หลังจากความพยายามในหลายรูปแบบที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้โลหะทองคำ 24k เคลือบเป็นตัวสะท้อนแสงเลเซอร์แทนการเคลือบด้วยโลหะอะลูมิเนียมอย่างแผ่นซีดีธรรมดา

        จะสามารถฟังคุณภาพเสียงที่เป็นระบบ HDCD ได้อย่างไร?
        ระบบ HDCD เป็นระบบที่ต้องอาศัยทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ร่วมกันทำงาน ก็คือว่าแผ่นซีดีที่คุณใช้ฟังจะต้องถูกบันทึกมาโดยผ่านการ encode ด้วยระบบเสียง HDCD ซะก่อน ซึ่งคุณจะสามารถทราบได้ว่าแผ่นซีดีแผ่นไหนผ่านการเข้ารหัส HDCD มาหรือไม่ด้วยการสังเกตโลโก้ HDCD ซึ่งมักจะพิมพ์อยู่บนปกแผ่นที่บริเวณด้านหน้า หรือไม่ก็ด้านหลังของปก ถ้าบนปกหรือบนแผ่นซีดีแผ่นไหนมีโลโก้ HDCD ประทับอยู่ก็แสดงว่าซีดีแผ่นนั้นได้ผ่านการเข้ารหัสด้วยระบบ HDCD มาในขั้นตอนมาสเตอริ่ง ขั้นที่สอง ตัวเครื่องเล่นไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นซีดี หรือเครื่องเล่นดีวีดีที่คุณใช้ จะต้องมีวงจร HDCD decorder อยู่ข้างใน ซึ่งจะสังเกตได้จากการพิจารณาดูโลโก้ HDCD ซึ่งมักจะพิมพ์ไว้บริเวณแผงหน้าหรือแผงหลังของตัวเครื่อง ถ้ากรณีที่เครื่องเล่นซีดี หรือเครื่องเล่นดีวีดี ของคุณไม่มีวงจร HDCD มาให้ ก็ยังมีวิธีที่จะดึงคุณภาพของระบบ HDCD ออกมาได้ นั่นคืออาศัยวงจร HDCD ที่อยู่ในตัว D-to-A converter หรืออยู่ในภาค Decorder ของแอมป์เซอร์ราวนด์บางตัวในการถอดรหัส ซึ่งในกรณีนี้คุณต้องต่อสัญญาณดิจิตัลออกมาจากช่องดิจิตัล-เอ๊าต์ (digital out) ของเครื่องเล่นแล้วส่งให้กับตัว D-to-A converter ภายนอกทางช่อง digital input เพื่ออาศัยวงจร HDCD ในตัว D-to-A converter ตัวนั้นทำหน้าที่ถอดรหัส HDCD ให้ เครื่องเล่นซีดีหรือเครื่องเล่นดีวีดีที่มีวงจร HDCD อยู่ในตัวมักจะมีไฟแอลอีดีคอยบอกให้รู้เวลาที่มันเจอระบบเสียง HDCD บนแผ่นซีดีที่คุณใส่เข้าไป เมื่อสัญญาณ HDCD บนแผ่นซีดีถูกตรวจจับได้โดยวงจร HDCD filter ในตัวเครื่องเล่น ไฟแอลอีดีบนตัวเครื่องเล่นก็จะสว่างขึ้นให้คุณสังเกตได้ ดังนั้น แม้ว่าบนปกแผ่นซีดีจะมีโลโก้ HDCD พิมพ์อยู่ แต่ถ้านำซีดีแผ่นนั้นไปเล่นบนเครื่องเล่นซีดีหรือเครื่องเล่นดีวีดีที่มีวงจร HDCD อยู่ข้างในแล้วปรากฏว่าไฟแอลอีดี HDCD ไม่สว่างขึ้นมา แสดงว่าแผ่นซีดีแผ่นนั้นไม่ได้เข้ารหัส HDCD มา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการพิมพ์ปก หรืออาจจะเป็นการจงใจหลอกลวงของคนทำแผ่นซีดีชุดนั้นก็ได้

        ประวัติ และหลักการทำงานโดยย่อของ HDCD
        ระบบ HDCD เป็นระบบการบันทึกสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัล (encode) ลงบนแผ่นซีดี ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาในช่วงปี 1986-1991 โดยคนสองคน คนแรกเป็นซาวนด์เอ็นจิเนียร์ที่ชื่อว่า Keith O.Johnson เจ้าของสังกัดบันทึกเสียงระดับออดิโอไฟล์ที่ชื่อว่า Reference Recordings กับผู้หนึ่งเป็นวิศวกรที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับระบบดิจิตัลออดิโอที่ชื่อว่า Pflash Pflaumer แห่งบริษัท Pacific Microsonics (ซึ่งปัจจุบันบริษัทนี้ได้ถูก Microsoft ซื้อไปแล้วรวมถึงระบบเสียงนี้ด้วย) เหตุที่ระบบการบันทึกสัญญาณเสียงแบบ HDCD ให้คุณภาพเสียงดีกว่าการ encode แบบซีดีธรรมดาก็เนื่องจากระบบ HDCD ใช้วิธีการ encode สัญญาณเสียงเพลงลงบนแผ่นซีดีด้วยสัญญาณเสียงที่มีรายละเอียดสูงถึง 20bit แทนที่จะเป็นการเอ็นโค๊ดด้วยสัญญาณเสียงที่มีรายละเอียดเพียงแค่ 16bit เหมือนซีดีทั่วไป แต่ด้วยการใช้อุปกรณ์ในการเอ็นโค๊ดสัญญาณที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ทำให้แผ่นซีดีที่เอ็นโค๊ดด้วยระบบ HDCD ซึ่งมีรายละเอียดของสัญญาณที่ ‘สูงกว่า’ มาตรฐาน Red Book ที่กำหนดไว้สำหรับการผลิตแผ่นซีดีธรรมดายังสามารถนำมาเล่นบนเครื่องเล่นซีดีที่ใช้ภาค D-to-A converter ที่มีรายละเอียดแค่ 16bit ได้เหมือนแผ่นซีดีธรรมดาทั่วไป การบรรจุระบบ HDCD ลงบนแผ่นซีดีนั้นจะถูกกระทำในขั้นตอน mastering ด้วยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ระดับโปรเฟสชั่นแนลที่ชื่อว่า Euphonix Professional Model One และ Model Two ซึ่งมาสเตอริ่งเอ็นจิเนียร์จะนำเอาสัญญาณเสียงเพลงเดิมที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัล (ถ้ามาเป็นสัญญาณอะนาลอกก็จะถูกนำไปแปลงให้เป็นสัญญาณดิจิตัลซะก่อน) มาผ่านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ว่านี้ ซึ่งเครื่องที่ว่านี้ก็จะทำการเพิ่มเติมคำสั่งพิเศษลงไปในบิตสุดท้ายของสัญญาณเดิมพร้อมกับเพิ่มสัญญาณเสียงเข้าไปอีก 4 บิต เมื่อแผ่นซีดีแผ่นนี้ถูกนำไปเล่นบนเครื่องเล่นที่มีวงจรถอดรหัส HDCD คำสั่งพิเศษที่อยู่ในบิตสุดท้าย (บิตที่ 16) ของข้อมูลเดิมก็จะถูกกระตุ้นให้วงจร HDCD filter ที่อยู่ในชิพ HDCD decoder ทำการดึงเอาข้อมูลอีก 4 บิตออกมาถอดรหัสผสมเข้าไปกับข้อมูล 16bit ของเดิม บนเครื่อง Euphonix Professional ที่ใช้ในการเข้ารหัส HDCD นั้นจะมีฟังท์ชั่นให้มาสเตอริ่งเอ็นจิเนียร์เลือกปรับแต่งได้ 2 อย่าง ได้แก่ เลือกทำการบีบลดหรือขยายช่วงระดับความดังของเสียง (dynamic range) ซะใหม่ กับเลือกทำการเลือกใช้วงจรดิจิตัลฟิลเตอร์ที่ทำหน้าที่ในการ ‘เติม’ ข้อมูลรายละเอียด (interpolation) ลงในข้อมูลเดิมซึ่งมีให้เลือกอยู่สองวิธี คือแบบ linear phase กับแบบ minimum phase

        Honky : (ฮ็องค-คี่) เสียงแปร๋นแต่อู้อี้ ลักษณะคล้ายเสียงที่เกิดจากการป้องมือไว้ข้างปากแล้วพูด, เป็นเสียงที่มีการเน้นที่ความถี่ประมาณ 500Hz ถึง 700Hz (thai edition) เสียงอู้ก้อง

        M

        Mellow : (เมล-โล่) เป็นลักษณะของเสียงที่มีความถี่ในย่านสูงตกลงเล็กน้อย, ไม่มีขอบแข็ง (ไม่มีอาการ edgy) (thai edition) ลักษณะของเสียงที่นุ่มละมุน, วรรณะเย็น, เหมือนแสงแดดยามฟ้าหลังฝน, ฉ่ำชื่นแต่ไม่สดใสนัก

        Muddy : (มัด-ดี้) ไม่ชัดเจน, สัญญาณเสียงส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกไม่เด่นชัด, การตอบสนองต่อจังหวะเวลาของเสียงไม่เที่ยงตรง มีความสับสนปนเป, มีปัญหา Inter Modulation Distortion (thai edition) เสียงขุ่น ไม่ชัดเจน ให้ความรู้สึกคลุมเครือ แยกแยะตัวโน๊ตได้ไม่เด่นชัด โดยมากจะพุ่งเป้าไปที่ความถี่ในย่านทุ้มเป็นหลัก

        Muffled : (มัฟ-ฟ’ล) เป็นเสียงที่อ่อนแรงเหมือนเอาผ้าห่มหนาๆ ไปคลุมบนลำโพง, การสวิงของไดนามิกในย่านเสียงแหลมและเสียงกลางสูงไม่ดี ไม่มีพลังดีดตัว (thai edition) เสียงอับทึบ ไม่มีพลังดีดตัว ไม่สดใส เสียงเนือยอ่อนแรง

        N

        Nasal : (เน-แส็ล) เสียงอู้ก้องที่ความถี่ประมาณ 600Hz (thai edition) อาการที่เกิดขึ้นจะฟังง่ายกับเสียงร้อง ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนนักร้องเป็นหวัด เสียงขึ้นจมูก, หรือร้องโดยเอามือป้องบังไว้ที่ด้านหน้าของปาก ทำให้เสียงร้องมีอาการอู้ ไม่ชัดเจน ไม่ลอยใส

        P

        Piercing : (เพีย-ซิง) เป็นลักษณะของเสียงที่แหลมเฟี๊ยวและมีความดังจนแสบแก้วหู, มีอาการโด่งมากที่ความถี่ย่านแคบๆ ในระดับเสียงแหลมประมาณ 3kHz ถึง 10kHz (thai edition) ไม่ค่อยจะมีการใช้ศัพท์คำนี้ในบ้านเรา, มักจะใช้วิธีอธิบายลักษณะซะมากกว่าที่จะบัญญัติศัพท์ขึ้นมา อย่างเช่นอธิบายว่าเป็นเสียงที่แหลมคมบาดหู เป็นต้นฯ

        Presence : (พเรส-เอ็นซ) อธิบายถึงความรู้สึกที่ได้รับจากการฟังว่าคล้ายได้ยินการบรรเลงของเครื่องดนตรี (หรือเสียงร้องจากนักร้อง) เกิดขึ้นจริงๆ ในห้องฟัง, ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการถ่ายทอดคุณสวมบัติในแง่ต่างๆ อาทิ ความคมชัดของตัวเสียง (edge) , พลังดีดตัว (punch), รายละเอียด (detail), ความรู้สึกเชื่อมต่อถึงกัน (closness) และ ความใส (clarity) ของความถี่ในย่าน 5kHz สำหรับเสียงของเครื่องดนตรีทั่วไป และความถี่ในย่านตั้งแต่ 2 ถึง 5kHz สำหรับเสียงกระเดื่องกลอง (kick drum) และเสียงเบส (bass) ออกมาได้อย่างลงตัวมาก (thai edition) เป็นปรากฏการณ์เหนือมิติซึ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ หลายประการร่วมกัน อาทิ จากคุณภาพการบันทึกของแผ่น + คุณภาพของซิสเต็มและการแม็ทชิ่ง + การเซ็ตอัพตำแหน่งของลำโพง + สภาพอะคูสติกของห้องฟัง ซึ่งในบ้านเรายังไม่มีคำศัพท์เฉพาะสำหรับสิ่งนี้ แต่มักจะใช้คำอธิบายปรากฏการณ์ที่ว่าแทน อย่างเช่น ให้ความรู้สึกเหมือนได้ยินนักดนตรีเข้ามาบรรเลงให้ฟังถึงในห้อง ฯลฯ

        Puffy : (พัฟ-ฟิ) อาการก้องอู้ของความถี่ประมาณ 500Hz (thai edition) ไม่มีการใช้ศัพท์คำนี้ในบ้านเรา, มักจะใช้วิธีการอธิบายความเข้ามาแทน

        Punchy : (พั้น-ชิ) แสดงถึงลักษณะการตอบสนองต่อไดนามิกที่ดี, โดยเฉพาะในส่วนของสัญญาณฉับพลัน, ให้ลักษณะการดีดตัวของหัวเสียงที่ฉับไวและมีพลัง, ซึ่งในบางสภาวะอาจจะเป็นลักษณะของเสียงที่มีการเพิ่มระดับเสียงของสัญญาณบรืเวณความถี่ 5kHz ถึง 200Hz ขึ้นมาก็ได้ (แต่ไม่มากจนถึงขั้นพุ่งหรือบวม) (thai edition) มีการทับศัพท์บ้างเป็นบางครั้ง แต่มักจะมีการอธิบายเพิ่มเติมโดยเน้นถึงลักษณะความเร็วในการตอบสนองกับน้ำหนักในการตอบสนอง

        Comment


        • #5
          R
          Rich : (ริช) (ดู “Full”) เป็นลักษณะของเสียงที่ชวนฟัง รื่นหู ไพเราะ ซึ่งเป็นผลมาจากความเพี้ยนคู่ควบของสัญญาณฮาร์มอนิก (thai edition) ในบ้านเรามักจะใช้คำว่า “อิ่ม” หรือ “ฉ่ำ” สำหรับลักษณะเสียงแบบนี้, บางครั้งก็มีการอธิบายเพิ่มเติมโดยเน้นที่ความหนาอวบอิ่มของตัวเสียง

          Round : (เรานด) ความถี่ในย่านสูงตกลงอย่างรวดเร็ว, ลักษณะของตัวเสียงที่ไม่มีขอบคม (ไม่มีปัญหา “edgy”) (thai edition) ในบ้านเรามักจะใช้คำว่า “กลมกลึง” หรือใช้คำอธิบายโดยเน้นที่ลักษณะของตัวเสียง (อิมเมจ) ว่ามีสัญฐานกลมกลึงเป็นสามมิติ ฯลฯ

          S
          SACD : (เอส-เอ-ซี-ดี) เป็นสื่อบันทึกเสียงรูปแบบใหม่ผลงานความร่วมมือของ 2 หัวเรือใหญ่ผู้ให้กำเนิดแผ่น CD คือ ฟิลิปส์ และ โซนี่ ได้ทำการพัฒนาต่อยอดจนกลายมาเป็นสื่อบันทึกระบบเสียงรายละเอียดสูง ที่ให้การความสามารถในการตอบสนองความถี่ (Frequency Response) ที่กว้างมากคือตั้งแต่ 0-100kHz และให้ค่าไดนามิกเร้นจ์ (Dynamic Range) ของเสียงได้กว้างมากด้วย คือสูงสุดถึง 120dB สนับสนุนระบบเสียงแบบ 2 แชลเนลและมัลติแชนเนล (สูงสุด 6 แชนเนล) และมีความสามารถในการแสดงภาพนิ่งได้ด้วย (ไม่มีภาพเคลื่อนไหว)

          ความพิเศษของแผ่น เอส เอ ซี ดี ที่เหนือกว่าแผ่น ซีดี อยู่ที่ขนาดความจุที่มากกว่า, เทคโนโลยีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงฟอร์แมตใหม่ที่ให้รายละเอียดของเสียงที่ดีกว่า, มีความสามารถในการนำไปเล่นกับเครื่องเล่นซีดีทั่วๆ ไปได้ด้วย และมาพร้อมกับเทคโนโลยี PSP (Pit Signal Processing) สำหรับป้องกันการ copy แผ่น

          ความจุของแผ่นเอสเอซีดีซึ่งมากกว่าแผ่นซีดีนั้น เกิดจากการใช้ลำแสงเลเซอร์ความยาวคลื่น 650 นาโนเมตรในการบันทึกข้อมูลลงบนแผ่น จึงทำให้หลุมข้อมูลมีขนาดเล็กสามารถบรรจุข้อมูลได้มากขึ้น โดยแผ่นเอสเอซีดีมีขนาดความจุอยู่ที่ 4.7GB สำหรับแผ่นแบบ Single Layer (ชั้นเดียว) และ 8.5GB สำหรับแผ่นแบบ Dual Layer (สองชั้น)

          แผ่น SACD ที่บันทึกข้อมูลแล้ว (pre-recorded SACD disc) ที่มีผลิตออกมาตอนนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือแผ่น Single กับแผ่น Hybrid ซึ่งทั้งสองประเภทนี้จะเป็นแผ่นแบบที่มีส่วนบันทึกข้อมูลแค่หน้าเดียว แผ่นแบบ Single นั้นจะมีเฉพาะข้อมูลเสียงสำหรับฟอร์แม็ต SACD อย่างเดียว ส่วนแผ่น Hybrid นั้นจะมีชั้นข้อมูลที่เป็นฟอร์แม็ต CD และฟอร์แม็ต SACD บรรจุอยู่ในหน้าเดียวกันแต่คนละชั้นข้อมูล โดยในชั้นข้อมูลแบบซีดีจะใช้ลำแสงเลเซอร์ความยาวคลื่นขนาด 780 นาโนเมตรในการอ่านข้อมูล ซึ่งอยู่เหนือชั้นเอสเอซีดีขึ้นไป เวลานำแผ่น Hybrid ไปเล่นกับเครื่องเล่นซีดีทั่วๆ ไป เครื่องเล่นซีดีจึงเห็นเพียงชั้นข้อมูลในส่วนของซีดีเท่านั้น เทคโนโลยีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงฟอร์แมตใหม่ของแผ่นเอสเอซีดี ที่เรียกว่า DSD (Direct Stream Digital) แตกต่างไปจากฟอร์แมต PCM (Pulse Code Modulation) ที่ใช้ในแผ่นซีดีอยู่ที่ความเร็วในการสุ่มเลือกข้อมูล โดยฟอร์แม็ต PCM จะมีความเร็วในการประมวลผลอยู่ที่ 44,100 ครั้งต่อวินาที (44.1kHz) ส่วนฟอร์แม็ต DSD จะเร็วกว่าถึง 64 เท่า (2.8224MHz) ด้วยเหตุนี้ระบบ DSD จึงสามารถส่งสัญญาณข้อมูลได้ครั้งละ 1 หลัก(bit) เรียงต่อๆ กันไป (Direct Stream) โดยไม่สูญเสียคุณภาพ แทนที่จะส่งพร้อมๆ กันครั้งละ 16 หลัก (bit) เหมือนที่ใช้ในฟอร์แม็ต PCM ที่จำเป็นต้องนำไปแตกข้อมูลออกเป็นบิตย่อยๆ ก่อนนำไปใช้งาน แต่สำหรับฟอร์แมต DSD สามารถนำขบวนสัญญาณเสียงไปใช้งานได้ทันที

          สำหรับซอร์ฟแวร์ในรูปแบบ SACD ในปัจจุบันมีออกมาให้เลือกแล้วมากมาย มีทั้งที่เป็นอัลบั้มใหม่และอัลบั้มเก่าที่ผ่านการนำมาปัดฝุ่นรีมาสเตอร์ใหม่ ซึ่งอัลบั้มที่บันทึกเสียงใหม่หลังปี 2000 เป็นต้นมามักจะมีเวอร์ชั่นที่มิกซ์เสียงเป็นระบบเสียงรอบทิศ (Surround) 6 Ch มาให้เลือกฟังด้วย

          Sibilant : (ซิบ-อิแล็นท) อาการเน้นมากเกินไปของเสียงตัว “s” หรือ “sh” ที่มักจะพบในเสียงร้อง, เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากลักษณะการตอบสนองที่มากเกินไปของความถี่ประมาณ 6 – 10kHz (thai edition), ในบ้านเราไม่ได้มีศัพท์เฉพาะสำหรับเรียกลักษณะเสียงแบบนี้ แต่จะอธิบายว่ามีการเน้นปลายเสียงแหลมและหางเสียงร้องที่เน้นตัวอักษร “ส” หรือ “ซ” มากเกินไป

          Sizzly : (ซีส-สิ) ลักษณะคล้าย “Sibilant” คือเป็นการเน้นความถี่ในช่วงแคบๆ ขึ้นมามากเกินไป ซึ่งในความหมายของศัพท์คำนี้จะใช้กับเสียงฉาบมากกว่า (thai edition) คล้ายกับ “Sibilant”

          Smeared : (ซเมีย) ขาดรายละเอียด, การตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันไม่ดี, เสียงที่ให้โฟกัสไม่ชัดเจน (thai edition) มีการใช้ทับศัพท์คำนี้บ้างเป็นบางครั้ง ในความหมายที่ไปในทิศทางเดียวกัน

          Smooth : (ซมูฑ) เป็นเสียงที่ราบรื่นสำหรับการฟัง, ไม่มีอาการหยาบคม, มีการตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านเสียงกลาง, ไม่มีสัญญาณที่มีระดับเสียงสูงๆ (peak) หรือการลดต่ำของระดับเสียง (dip) ที่ต่างกันมากๆ (thai edition) เป็นลักษณะของเสียงที่ “ฟังดี-สบายหู” มีการสวิงของไดนามิกเร้นจ์ไม่กว้าง, แต่ไม่ใช่คำที่บ่งบอกถึง “คุณภาพ” ของเสียง หรือคุณภาพของอุปกรณ์เครื่องเสียง

          Spacious : (ซเพ-ฌัซ) เป็นคำที่อธิบายให้นึกถึงความเวิ้งว้างของอวกาศ, ความรู้สึกของแอมเบี๊ยนต์ หรือความโอ่โถงที่ห่อหุ้มอยู่รอบๆ ชิ้นดนตรี, รวมถึงลักษณะเสียงก้องที่เกิดขึ้นจากการใช้วงจรอิเล็กทรอนิค (stereo reverb) หรือสัญญาณเสียงที่เป็นความกังวานที่เกิดจากการก้องสะท้อนของสภาพอะคูสติก (early reflection) ในห้องบันทึกเสียงที่เก็บมาด้วยความไวของไมโครโฟนโดยตรง
          (thai edition) ในบ้านเราไม่ได้ใช้ทับศัพท์คำนี้ตรงๆ แต่มักจะใช้ศัพท์คำอื่นที่มีความหมายไปในทางเดียวกัน อย่างเช่น “ambient” หรือใช้คำว่า ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรี, ความโอบล้อม, มวลบรรยากาศ ฯลฯ มาอธิบายเพิ่มเติมซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          Steely : (ซทีล-ลิ) มีการเน้นเสียงในย่านกลางสูงที่ความถี่ประมาณ 3 – 6kHz ขึ้นมา, เป็นอาการโด่งของความถี่ในย่านกลางสูง และมีการตอบสนองความถี่ในย่านสูงที่ไม่ราบเรียบ ซึ่งเป็นต้นเหตุของลักษณะของเสียงที่หยาบคม (ดูความหมาย “harsh”, “edgy” ประกอบ)

          (thai edition) ในบ้านเราไม่มีการใช้ศัพท์คำนี้โดยตรง แต่จะอธิบายลักษณะเสียงดังกล่าวด้วยคำว่า “เสียงแข็งกร้าว มีความเป็นโลหะเข้ามาเจือปนในน้ำเสียง” ฯลฯ

          Strident : (ซทไร-เด็นท) (ดู “Harsh” กับ “Edgy” ประกอบ)

          Sweet : (ซวิท) ตรงข้ามกับ Harsh และ Edgy, เป็นลักษณะของเสียงที่มีการตอบสนองความถี่ในย่านสูงที่ราบเรียบ และไม่มีอาการโด่ง (peak) ที่ย่านความถี่สูง, เป็นลักษณะของเสียงที่มีความเพี้ยนต่ำ, ความถี่สูงไปได้ไกลเกิน 15kHz ขึ้นไป และยังคงมีความราบเรียบขึ้นไปจนถึง 20kHz โดยไม่มีอาการโด่งเลย, มักจะใช้เมื่อต้องการกล่าวถึงเสียงฉาบ, เสียงเพอร์คัสชั่น, เสียงสตริงเครื่องสาย และเสียงเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่อยู่ในย่านสูง (thai edition) ในบ้านเราจะไม่มีการทับศัพท์คำนี้ แต่จะมีการกล่าวถึงลักษณะเสียงแบบนี้อยู่บ่อยมากด้วยความหมายที่ไปในทิศทางเดียวกัน

          T
          Thin : (ธิน) สัญญาณเสียงส่วนที่เป็นเสียงหลัก (fundamental) จะมีปริมาณที่บางเบากว่าสัญญาณเสียงส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกของมันเอง (thai edition) ในบ้านเราใช้คำว่า “เสียงบาง” ในพื้นฐานของความหมายที่อธิบายไปในทิศทางเดียวกัน

          Tight : (ไทท) ลักษณะเสียงที่มีการตอบสนองต่อความฉับพลันของความถี่ในย่านต่ำได้ดี และมีรายละเอียด (thai edition) ในบ้านเราไม่ใช้คำทับศัพท์สำหรับความหมายนี้ แต่จะอธิบายลักษณะเสียงทุ้มแบบนี้ด้วยคำว่า “กระชับ”, “หนักแน่น” ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          Tinny : (ทิน-นิ), Telephone-Like (เทเลโฟน-ไล้ค) เสียงที่มีแบนด์วิธแคบ, เสียงกลางที่อ่อนแรง เหมือนเสียงที่ได้ยินผ่านสายโทรศัพท์หรือจากวิทยุกระป๋องของเด็กเล่น (thai edition) ไม่มีการใช้ศัพท์นี้ในบ้านเรา

          Transparent : (ทแร็นส-แพ-เร็นท) เป็นลักษณะที่ทำให้รู้สึกง่ายต่อการที่จะได้ยินลึกลงไปในรายละเอียดของเสียงดนตรี, ทำให้เกิดความกระจ่างใส, ไม่ขุ่น, เป็นลักษณะของเสียงที่มีการตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบตลอดย่าน, มีการตอบสนองต่อสัญญาณที่ฉับไวมากๆ, เป็นลักษณะของเสียงที่มีความเพี้ยนและสัญญาณรบกวนต่ำ (thai edition) ในภาษาไทยใช้คำว่า “ใส” แทนในความหมายเดียวกัน แต่ไม่ใช่ความหมายเดียวกับคำว่า “สดใส” ซึ่งคำหลังนี้หมายถึงลักษณะของเสียงที่มีดุลเสียงเน้นไปทางด้านกลางและสูงมากกว่าย่านทุ้ม

          Tubby (ทับ-บิ) : เสียงก้องอู้ในย่านความถี่ต่ำ คล้ายเสียงผู้ชายร้องเพลงในห้องน้ำที่มีอาการก้อง (thai edition) ในบ้านเราไม่มีการใช้ศัพท์คำนี้

          Veiled : (เฝล-อิด) ลักษณะของเสียงที่เหมือนมีผ้าม่านบางๆ มากั้นไว้หน้าลำโพง, เกิดขึ้นเนื่องจากสัญญาณรบกวนชนิดหนึ่ง, หรืออาจจะเกิดจากลักษณะของเสียงแหลมที่อ่อนกำลัง ไม่มีอิมแพ็คและมีปริมาณที่น้อยกว่าเสียงกลางและเสียงทุ้ม, แสดงถึงความรู้สึกที่ไม่ใส (ตรงข้ามกับ “transparent”) (thai edition) ในบ้านเราไม่มีการทับศัพท์คำนี้ แต่จะใช้คำว่า “ขุ่น” หรือ “มัว” เข้ามาแทน ซึ่งก็มีความหมายไปในทิศทางเดียวกัน

          W
          Warm : (วอม) ตรงข้ามกับ “thin”, เป็นลักษณะของเสียงที่มีความถี่ในย่านทุ้มที่มากพอ และเป็นเสียงที่มีสัดส่วนปริมาณของความถี่หลัก (fundamental) ที่มากกว่าความถี่ฮาร์มอนิกของมันเอง (คือไม่ “muddy”), มีความถี่ในย่านทุ้มตอนกลาง (mid-bass) ที่มากพอซึ่งจะทำให้รู้สึกถึงความกว้างขวางโอ่อ่าของสนามเสียง (“spacious”) และจะมีหางเสียงความกังวานของความถี่ในย่านต่ำที่ดีพอด้วย, (ดูความหมายของคำว่า “rich”, “round” ประกอบ), คำว่า “warm highs” ก็จะหมายถึง “sweet highs” (thai edition) มีการพูดทับศัพท์คำนี้กันบ่อยในบ้านเรา และโดยมากก็จะถูกใช้ในความเดียวกันนี้ แต่มักจะไม่ค่อยได้เอา “ลักษณะความกว้างของเวทีเสียง” มาอ้างถึงในความหมายของคำๆ นี้, บางคนอาจจะเอาความหมายของคำว่า “sweet” มาผสมกับคำนี้ด้วย

          Weighty : (เวท-อิ) เป็นลักษณะของเสียงที่มีการตอบสนองความถี่ในย่านทุ้มที่ดี โดยเฉพาะที่ย่านความถี่ 50Hz, เป็นคำที่มีความหมายชวนให้นึกถึงวัตถุที่มีน้ำหนักและมีพลังแฝง อย่างเช่น เสียงคำรามต่ำๆ ของเครื่องยนต์ดีเซลเป็นต้น, หรือเสียงโน๊ตตัวล่างสุดของออร์แกนท่อ, เสียงครางต่ำๆ ของฟ้า ฯลฯ (thai edition) ในบ้านเราไม่มีการทับศัพท์คำนี้ แต่จะใช้วิธีอธิบายความหมายแทน โดยมากมักจะพูดถึงพลังแฝง, มวลเสียงย่านต่ำที่เคลื่อนไหวเงียบเชียบแต่มีพลัง ฯลฯ

          X
          XRCD : (เอ็ก-อาร์-ซี-ดี) ตัวอักษร XRCD ย่อมาจากคำเต็มๆ ว่า Extended Resolution Compact Disc เป็นระบบที่พยายามดึงคุณภาพของเสียงออกมาจากกระบวนการทำมาสเตอริ่งและกระบวนการผลิตแผ่นซีดีให้ได้มากที่สุด คนคิดค้นระบบนี้คือบริษัท JVC victor

          โดยปกตินั้น สำหรับอัลบั้มงานเพลงทั่วไปที่ผ่านกระบวนการทำมาสเตอริ่งแล้ว สัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลจะถูกบันทึกลงบนเทป U-matic 1630 เพื่อส่งเข้าโรงงานปั๊มแผ่น ซึ่งในขั้นตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นตัวศิลปินเจ้าของผลงานเอง, โปรดิวเซอร์, รวมถึงซาวนด์เอ็นจิเนียร์ที่ร่วมกันสร้างงานชิ้นนั้นขึ้นมาต่างก็ทำได้แค่สวดภาวนาให้งานเพลงของพวกเขาถูกปั๊มออกมาโดยไม่มีอะไรเสียหายไป แต่เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมือที่โรงงานปั๊มแผ่นใช้ในการปั๊มนั้นได้ถูกติดตั้งขึ้นเป็นระบบปิด คืออุปกรณ์แต่ละส่วนจะทำงานต่อเนื่องกันไปเป็นระบบโดยอัตโนมัติ ค่าต่างๆ ได้ถูกกำหนดเอาไว้ในลักษณะที่เป็นค่าเฉลี่ย ทำให้งานเพลงแต่ละอัลบั้มที่ส่งเข้าไปปั๊มที่โรงงานแห่งนั้นไม่อาจจะได้คุณภาพสูงสุดออกมาทัดเทียมกัน

          การผลิตแผ่นซีดีเวอร์ชั่น xrcd ของค่าย JVC นั้น เขาอ้างว่าได้เข้าไปดูแลใกล้ชิดในทุกๆ ขั้นตอน ผสมผสานกับการเลือกใช้อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือที่มีคุณภาพสูงทั้งในขั้นตอนมาสเตอริ่งและขั้นตอนการปั๊มแผ่น เริ่มด้วยกระบวนการมาสเตอริ่งก่อน โดยการดึงสัญญาณอะนาลอกเดิมจากมาสเตอร์เทปเข้าสู่ภาคการแปลงสัญญาณให้เป็นสัญญาณดิจิตัลด้วยอุปกรณ์ A-to-D converter ที่ JVC พัฒนาขึ้นมาเอง ชื่อว่าระบบ 20bit K2 Super Coding ซึ่งตัว ‘K2’ ซึ่งเป็นหัวใจของระบบนั้นก็คือภาค A-to-D converter ที่ใช้ความละเอียดในการแปลงสัญญาณที่ระดับ 20bit และทำการแปลงสัญญาณด้วยอัตราสุ่มความถี่ที่ระดับความเร็วสูงกว่ามาตรฐานซีดีทั่วไปถึง 128 เท่า ทำให้ได้ค่าไดนามิกเร้นจ์ของสัญญาณสูงถึง 108dB สูงกว่ามาตรฐานซีดีธรรมดาถึง 12dB และให้การตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบมากโดยมีอัตราเบี่ยงเบนเฉลี่ยเพียง +/- 0.5dB ตลอดย่านเท่านั้น หลังจากนั้น สัญญาณเสียง 20bit ที่ผ่านการแปลงเป็นสัญญาณดิจิตัลด้วยเครื่อง K2 Super Coding แล้วจะถูกส่งไปเก็บไว้บนแผ่น magneto-optical แทนที่จะเก็บไว้บนม้วนเทป U-matic 1630 เหมือนขั้นตอนในโรงงานอื่นๆ เนื่องจากทางเจวีซีเห็นว่าการเขียนและอ่านข้อมูลบนแผ่นดิสก์มีโอกาสเกิดความผิดเพี้ยนน้อยกว่าการเขียนและอ่านข้อมูลบนม้วนเทปยู-เมติก อีกทั้งแผ่นแมคเนโตร-อ็อฟติคัลก็ยังมีความสามารถในการบันทึกสัญญาณที่มีรายละเอียดสูงถึงระดับ 20bit ได้ดีกว่าเนื้อเทปยู-เมติกอีกด้วย โรงงานปั๊มแผ่นที่ JVC ใช้ในการผลิตแผ่นซีดีเวอร์ชั่น xrcd นี้อยู่ในเมือง Yokohama ซึ่งมีอยู่แค่โรงเดียวเนื่องจากที่นี่มีอุปกรณ์พร้อมที่สุด ที่นี่ สัญญาณ 20bit บนแผ่นแมคเนโตร-อ็อฟติคัลจะถูกแปลงลงมาเป็นสัญญาณ 16bit ด้วยวงจรที่ชื่อว่า bit down mode ซึ่งเป็นวงจร downconvert ของเครื่อง K2 Super Coding ซึ่งเป็นการทำดาวน์คอนเวิร์ตสัญญาณจาก 20bit ลงมาที่ 16bit โดยไม่ใช้วงจร noise shaping เข้ามายุ่งทำให้ได้ค่าไดนามิกเร้นจ์ของสัญญาณสูงถึง 96dB เต็มตามมาตรฐานซีดีที่ 16bit และมีผลทำให้ได้รายละเอียดของสัญญาณที่มีระดับความดังต่ำๆ ออกมาดีด้วย

          หลังจากนั้น สัญญาณ 16bit ที่ผ่านการดาวน์คอนเวิร์ตลงมาก็จะถูกส่งผ่านมาที่วงจร K2 laser สู่ขั้นตอนการทำ glass master ซึ่งก็คือแผ่นมาสเตอร์ตัวแม่ (mother master) สำหรับใช้ทำ stamper master ซึ่งเป็นมาสเตอร์ตัวลูก (baby master) ที่ใช้ตัดแผ่นซีดีจริงๆ ต่อไป

          จะสามารถฟังคุณภาพเสียงที่เป็นระบบ XRCD ได้อย่างไร?
          ระบบ XRCD เป็นระบบการเพิ่มคุณภาพเสียงของแผ่นซีดีที่ให้ความสำคัญในขั้นตอนการทำมาสเตอร์และการปั๊มแผ่นโดยตรง ซึ่งการที่จะทำให้ได้คุณภาพเสียงออกมาจากแผ่น XRCD นั้นไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องเล่นดีวีดีพิเศษอะไรมาช่วย เพียงแค่เล่นกับเครื่องเล่นซีดีธรรมดาเท่านั้น

          XRCD 24bit Super Analog : (เอ็ก-อาร์-ซี-ดี- 24บิต-ซุปเปอร์-อะนาลอก) คือแผ่นซีดีเวอร์ชั่นพิเศษที่ผลิตโดยบริษัท JVC ซึ่งกระบวนการทำแผ่น XRCD เริ่มขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการทำมาสเตอริ่ง สัญญาณอะนาลอกจากมาสเตอริ่ง คอนโซลจะถูกนำมาผ่านการทำ digitized หรือแปลงให้อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลด้วยอุปกรณ์ K2 24bit Analog-to-Digital Converter เสร็จแล้วสัญญาณดิจิตัล 24bit เหล่านั้นจะถูกส่งผ่านไปที่วงจร Digital K2 ซึ่งจะทำหน้าที่ในการสุ่มสร้างสัญญาณ 24bit ที่มีความบริสุทธิ์สูงเพื่อส่งไปบันทึกลงบนแผ่น magneto-optical disc ของโซนี่ PCM-9000 และใช้แผ่นแมกนีโต-ออฟติคัล ดิสก์ของโซนี่แผ่นนั้นเป็นสื่อเก็บข้อมูล 24bit เพื่อส่งต่อไปที่โรงงานผลิตแผ่นในขั้นตอนต่อไป

          เมื่อแผ่นแมกนีโต-ออฟติคัล ดิสก์ถูกส่งมาถึงโรงงาน JVC ในเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่นแล้ว มันจะถูกนำไปเล่นกลับ (playback) ผ่านวงจร Digital K2 อีกครั้งซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้ข้อมูลดิจิตัล 24bit บนแผ่นปลอดจากปัญหา jitter อย่างสิ้นเชิง จากนั้น ข้อมูลดิจิตัล 24bit ดังกล่าวก็จะถูกนำมาลดรูป (down-converse) ให้เหลือแค่ 16bit ด้วยกระบวนการ K2 Super Coding ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่า สัญญาณ 16bit ที่ได้ออกมานั้นมีระดับของไดนามิกของเสียงเต็ม 16bit (maximum = 96dB) จริงๆ เสร็จแล้ว สัญญาณ 16bit นั้นก็จะถูกนำไปเข้ารหัส EFM แล้วจึงส่งเข้าสู่เครื่อง DVD K2 Laser ซึ่งเป็นเครื่องยิงเลเซอร์ดีวีดีที่ JVC ทำการโมดิฟายด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Extended Pit Cutting Technology เอาไว้ใช้สำหรับการตัดแผ่น Glass masters ที่ใช้เป็นแผ่นมาสเตอร์สำหรับปั๊มแผ่นซีดี

          เทคนิค Extended Pit Cutting Technology ของเจวีซีนี้จะช่วยควบคุมความเร็วของการตัดแผ่น glass master ให้มีความเที่ยงตรงตามปริมาณความยาวของสัญญาณ ซึ่งมีผลให้หลุมสัญญาณในแต่ละหลุมมีความยาวที่ถูกต้อง เครื่อง DVD K2 Laser ยังช่วยสุ่มสร้างสัญญาณ EFM ขึ้นมาใหม่ก่อนที่จะทำการเผาลงบนแผ่น glass master ซึ่งช่วยลดปัญหาจิตเตอร์ที่เกิดจากความผิดพลาดในแง่ของเวลาลงไป ซึ่งหัวใจสำคัญที่ทำหน้าที่ควบคุมความถูกต้องของเวลานี้ก็คือ K2 Rubidium Clock ซึ่งเป็นวงจรตรวจจับเวลาที่ใช้ธาตุรูบีเดียม (ธาตุแท้ชนิดหนึ่ง เป็นโลหะอยู่ในจำพวกโซเดียม) ซึ่งให้ความเที่ยงตรงสูงกว่า Crystal ถึง 10,000 เท่า!

          JVC ตัดขั้นตอนการผลิตแผ่นซีดีออกไปจากขั้นตอนปกติถึง 2 ขั้น โดยอาศัยกระบวนการปั๊มแผ่นที่เจวีซีคิดค้นขึ้นมา เรียกว่า Master Stamper Process ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้แผ่น XRCD ทุกแผ่นถูกปั๊มออกมาจากแผ่น glass master โดยตรง ด้วยเหตุนี้ การทำแผ่น XRCD จึงมีข้อจำกัดในแง่ของปริมาณ คือแผ่น glass master แต่ละแผ่นจะใช้ปั๊มแผ่นซีดีได้จำกัด (ปั๊มได้น้อยกว่าแผ่นซีดีคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไป) และนั่นก็เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้แผ่น XRCD มีราคาค่อนข้างสูง

          Comment


          • #6
            ว่าด้วยการเชื่อมต่อเสียง ดูรูปเอาแล้วกันนะครับ


            Analog Interconnect (สาย RCA ที่เรารูจักกันนี่แหละ)


            Coaxial (เชื่อมต่อสัญาณ Digital มีลักษณะทางกายภาพเหมือน สาย interconnect)


            Optic / Toslink (เชื่อมต่อสัญาณ Digital อาศัยแสงนำข้อมูล)


            Bi-Wire (อันนี้อธิบายยากแฮะ เอาเป็นว่า เอาไว้ต่อลำโพงข้างละ 2 ch ใช้ 4 สาย + - x2)


            Single-Wire (การต่อสายลำโพงปกติข้างละ 1 ch 2 เส้น + -

            ขั้วต่อ


            TRS (Ster / Mono ใหญ่)


            TS (Ster / Mono เล็ก)

            TS และ TRS ทังสองแบบ จะมีทั้ง Mono (ขีดที่รอบแกนโลหะ มี 1 ขีด) Stereo (มีสอง 2 ขีด)


            Banana (ส่วนใหญ่พบได้จากการเชื่อมต่อลำโพง กับ แอมป์)


            Quick Lock ( เป็นลักษณะการเชื่อมต่อสายกับขั้วต่อ โดยไม่ใช้การ บัดกรี แต่จะใช้วิธีตรึงด้วยการล็อค)


            XLR (มักพบเจอได้กับการเชื่อมต่อ ไมโครโฟน และ Mixer)


            BNC (มักพบเห็นได้จากสายสัญญาณต่องๆ ทั้ง Analog และ Digital)


            HDMI (เป็นสายนำสัญญาณ ทั้งภาพและเสียง แบบ digital ในรุ่นแรก จะนำสัญญาณ ภาพ และเสียง 2 ch แต่ตั้งแต่รุ่น 1.3 เป็นต้นมา สามารถนำสัญญาณ ในรูปแบบ Dolby True HD และ DTS HD ได้ โดยมีทั้งหมด 4 version หลักๆ คือ 1.0 , 1.1 , 1.2/1.2a , 1.3/1.30a/1.3b

            Comment


            • #7
              ขอเป็นไฟล์เลยได้ป่ะ ^^

              Comment


              • #8
                ขอบคุณ คุณAeromancer ครับ

                เวลาอ่านจะได้พอเข้าใจกะเค้ามั่ง อิอิ

                Comment


                • #9
                  ขอบคุณมากขอรับ
                  แต่มีคำนึงที่ผมสงสัยมานานแล้ว น้องถามก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง
                  ช่วยตอบทีครับ จะอธิบายคำว่า "Impedance" ให้เป็นภาษาชาวบ้านยังไง ให้เค้าเข้าใจขอรับ

                  Comment


                  • #10
                    ขอบคุณครับ ยังอ่านไม่หมดเลย

                    Comment


                    • #11
                      ไม่ต้องขอบคุณหรอกครับ ก๊อปเค้ามาแปะ เห็น จขกท บอกว่าไม่อยากได้ลิงค์ อิอิ พอดีอ่านเจอก็แบ่งๆ กันไป ครับ

                      Comment


                      • #12
                        ต่อไปนะครับ ศัพท์สำคัญๆ ใช้เวลาเหล่า Audiophile คุยกันหรือซื้อขาย เครื่องเสียง

                        เวทีเสียง(Soundstage)
                        เวทีเสียงเป็นเวที่ในอากาศ ที่เมื่อเราหลับตาลงตรงหน้าซิสเต็ม แล้วเสียงจากซิสเต็มนั้นก็จะสร้างภาพให้เรารู้สึกว่ากำลังฟังวงดนตรีทั้งวงบรรเลงอยู่ มีขนาด คือ มีความกว้าง ความลึก ความสูง มิติ กว้าง/ลึก/สูง นี้แตกต่างกันไปตามความสามารถของของซิสเต็ม

                        คุณสมบัติข้อนี้ดูจะเป็นเรื่องมหัศจรรย์ก็ว่าได้ เพราะอะไรๆ มันเกิดขึ้นจากลำโพงหนึ่งคู่ที่ขับด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เพียงสองแชนเนล แต่เสียงดนตรีนั้นสามารถออกได้<b>โดยมีการเรียงตัวซ้าย/ขวา และซ้อนเป็นชั้นเป็นแถวไม่ทับกันเสียงเวทีจะคาบเกี่ยวกันกับสิ่งที่เรียกว่า”อิเมจ”(Image)

                        Image
                        สิ่งที่เรียกว่าอิเมจนั้น คือ <b>การบอกที่ตั้งตำแหน่งของเครื่องดนตรี อิเมจที่ดีจะให้ตำแหน่งที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงในการบันทึกเสียง และตำแหน่งนั้นจะมั่นคงแน่นอนไม่เคลื่อนย้ายไปมา </b> การที่จะฟังเวทีเสียงจึงจำเป็นต้องฟังดนตรีที่มีการบรรเลงเป็นวงขนาดต่างๆวงดนตรีขนาดใหญ่ประเภทซิมโฟนีออร์เคสตราจะมีความซับซ้อนของตำแหน่งเครื่องดนตรี ทำให้เห็นความแตกต่างในความสามารถของซิสเต็มในเรื่องนี้ได้

                        Impedance
                        การวัดความต้านทานต่อไฟฟ้ากระแสสลับ มีหน่วยคือ โอห์ม

                        Comment


                        • #13
                          ลำโพง (Speaker)

                          ลำโพงประเภท DYNAMIC (เป็นลำโพงที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป)
                          มิค หรือลำโพงที่ทำงานได้โดยอาศัยการเคลื่อนที่ของกรวย หรือไดอาแฟรมของลำโพงผลักอากาศ การเคลื่อนที่จริง ๆ ของมันจุดต้นกำเนิดอยู่ที่วอยซ์คอยล์และแม่เหล็ก ลำโพงใด ๆ ก็ตามมีการออกแบบโดยใช้คอยล์เคลื่อนที่ เมื่อได้รับสัญญาณก็จะเรียกว่าลำโพงไดนามิคทั้งสิ้น ลำโพงไดนามิคได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางโดยทั่วไป จะมีจำหน่ายอยู่ในตลาดเครื่องเสียงมากกว่าลำโพงแบบอื่น ๆ เทียบอัตราสัดส่วนต้องไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน ข้างล่างนี้เป็นชื่อเรียกส่วนประกอบของลำโพงแบบ Dynamic

                          TWEETER
                          ลำโพงที่มีขนาดเล็กสุดก็จะใช้สำหรับขับเสียงแหลม ปัจจุบันมี Tweeter ที่ทำมาจากวัสดุต่างๆ เช่น ผ้าไหม (Silk) , Aluminum , Fabric (ผ้า) , Titanium

                          Mid range
                          ลำโพงที่มีขนาดกลาง ๆ ขับช่วงความถี่กลาง

                          Woofer หรือ Wooven
                          การออกแบบให้มีขนาดของกรวย ขนาดใหญ่ก็มักจะใช้ในการขับเสียงต่ำหรือเสียงทุ้ม

                          Subwoofer
                          จะทำงานในย่านความถี่ต่ำ ที่ครอบคลุมเพียงเฉพาะช่วงเช่น 200 Hz ลงไป

                          CONE
                          กรวยของลำโพง ซึ่งกรวยนี้ จะถูกยึดติดกับขอบยางหรือขอบโฟมในส่วนหน้า ส่วนก้นของกรวยลำโพงจะยึดติดกับสไปเดอร์ (ตัวยึดทรงกลมเหมือนใยแมงมุม) ส่วนก้นกรวยจะติดกับ วอยซ์คอยล์ กรวยนี้ปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายวัสดุ เช่น กระดาษ , Polymer Aluminium (CPC) , โลหะแบบบางต่างๆ , Keflar (ใช้ทำเสื้อกันกระสุน) , ฯลฯ

                          --------------------------------------------------------------------------
                          ลำโพงต่อไปนี้ จะมีการทำงานในรูปแบบที่แตกต่างกันจาก ที่เราใช้ๆ กันอยู่ทั่วไปครับ

                          ลำโพงประเภท ELECTROMAGNETIC RIBBON TRANSDUCER
                          เป็นลำโพงประเภท ใช้แผ่นฟิล์มบาง ๆ (ริบบ้อน) วางไว้ในสนามแม่เหล็กเมื่อมีการป้อนสัญญาณให้กับลำโพงก็จะเกิดสนามแม่เหล็ก ปฏิกิริยาการผลักและดูดกันของแผ่นริบบ้อน ทำให้เกิดคลื่นเสียงขึ้นมา

                          ลำโพงประเภท ELECTRO STATIC
                          เป็นลำโพงที่มีความแตกต่างไปจากลำโพงไดนามิค เพราะลำโพงชนิดชนิดนี้จะต้องมีการป้อนไฟฟ้าเข้าไปสู่ตัวลำโพงโดยตรง (ผ่านทรานสฟอร์เมอร์ของระบบเหมือนกับเครื่องจำพวกแอมปลิไฟร์เออร์) เป็นลำโพงที่เสียบไฟบ้าน และยังต้องต่อสัญญาณจากตัวแอมปลิไฟร์ไปสู่ตัวลำโพงอีกโสตหนึ่ง

                          จริงๆมันใช้กันไม่กี่คำหรอกครับ ถ้าใช้หมดนี่ ก็เรียกว่ากระแดะ แล้วล่ะครับ คำที่ได้ยินบ่อยๆ ก็
                          - เสียง Fat หรือ บวม อ้วน ใหญ่ หนา
                          - เวทีเสียง หรือ มิติเสียง
                          - เสียงออก สว่าง (Bright)
                          - คลุมเครือ Blur
                          - อุ่น หนา Chesty , Warm
                          - บาง Thin
                          - ไดนามิค dynamic range

                          เป็นต้นครับ
                          Last edited by Aeromancer; 27 Feb 2008, 16:31:06.

                          Comment


                          • #14
                            ชอบนะ ละเอียดดี

                            Comment


                            • #15
                              ยาวเกิ๊น

                              Comment

                              Working...
                              X