สวัสดีปีใหม่ 2565 ชาวโอเวอร์คล๊อกโซน วันหยุดสบายๆ ที่ผมไม่ได้ออกไปเที่ยวไหน นั ก็ได้มีโอกาสรื้อคอมพิวเตอร์ ที่เหล่าบรรดาคนรู้จักได้มาฝากเซ็คเครื่องให้หน่อย ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่ผมได้เจอมา ส่วนนึงเกิดจากซิลิโคนระบายความร้อน หรือ ถ้าพูดให้เข้าใจตามที่คนทั่วโลกรู้จักมันจะเป็นในชื่อ Thermal grease หรือ Thermal paste ว่ากันไปมันคือ สารที่ช่วยทำให้ชุดระบายความร้อนให้ซีพียู หรือ IC นั้นช่วยถ่ายเทความร้อนได้ดีมากขึ้นนั้นเอง เนื่องจากหน้าสัมผัสของชุดระบายความร้อน และ ซีพียู หรือ IC นั้นมันไม่ได้ราบเรียบสนิท เมื่อประกบเข้าด้วยกันทำให้มันไม่สามรถถ่ายเทความร้อนได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งการใช้ Thermal grease หรือ Thermal paste มันจะเข้าไปช่วยแทรกอยู่ในช่องว่างในการแนบกัน ก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ซิลิโคนเป็นจำนวนมากเพื่อให้ประสิทธิภาพการระบายความร้อนออกมาดีที่สุด ใช้แค่ในระดับที่เหมาะสมกับชุดระบายความร้อน นั้นมันก็คือจุดที่เพียงพอแล้ว ยิ่งใครใช้ซิลิโคนซิ่งคุณภาพสูง ก็จะได้ความประหยัดมากขึ้นด้วย แกะมาบางเครื่องนี่ซิลิโคนทะลักไหลเข้าใต้ CPU แบบ LGA หรือ เข้าไปที่ CPU ที่ใช้ขาแบบ Pin ทำให้คอมพิวเตอร์นั้นมีปัญหาการใช้งานได้ เกิดจากจุดที่เข็มขัดสั้น (คาดไม่ถึง) อีกทั้งเมื่อการใช้งานไปในระยะเวลาหนึ่ง ที่ Thermal grease หรือ Thermal paste มันอาจะมีการเสื่อมสภาพ ในการทำความสะอาดเครื่องที่ควรต้องมีการเปลี่ยนซิลิโคน เพื่อการใช้งานได้อย่างราบลื่น
ฐานหน้าสัมผัสกับซีพียูนั้นหลักๆ จะมีสองแบบ คือ HDT ที่จะมีการออกแบบให้ท่อฮีทไปท์สัมผัสกับซีพียูโดยตรง และ แบบฐานหน้าสัมผัสเรียบ ที่จะมีการใช้ทั้งทองแดง หรือ อลูมิเนียม ซึ่งผิวหน้าสัมผัสนั้นที่เราเห็นว่ามันเรียบ จริงๆแล้วมันไม่ได้เรียบสนิททั้งซีพียูและชุดระบายความร้อน สามารถ Lapping ช่วยเค้นประสิทธิภาพในการระบายความร้อนได้ดีมากขึ้น แต่ถ้าใครไม่ใช้ความระมัดระวังในการทำ แนะนำว่าอย่าไปยุ่ง เพราะทำไปไม่ดี ระบายความร้อนแย่ลงได้ ถ้าเป็นรอยมากๆ ใช้น้ำยาขัดหัวเข็มขัดลูกเสือก็พอ
ปัญหาการใช้งานกับซ็อกเก็ตฝั่ง AMD นั้น ยังเกิดอาการของแท้ได้ ที่หลุดออกมาจาก Socket ทั้งที่ยังไม่ได้ปลดล็อก ซึ่งการใช้งานซิลิโคนเดิมมาจากโรงงาน หรือ การทามากเกินไป ทำให้อาการ AMD ของแท้แบบนี้ เกิดขึ้นได้ง่ายครับ ถ้าใช้แบบพอดี เท่าที่ผมนรื้อเข้าๆ ออกๆ ก็ยังไม่เคยเจอนะครับ จากในภาพนี่ขางอเกิน 5 ขาได้
ใครที่เล่นชุดระบายความร้อนประสิทธิภาพสูง ที่ลืมการลอกพลาสติกกันรอยออกมา ในชีวิตนี้ ผมก็พลาดมาหลายครั้งครับ
สายใช้งานเดิน ชุดระบายความร้อน Intel หรือ ฐานหน้าสัมผัสไม่ได้เต็มพื้นที่ซีพียู การปาดทั่วกระดองนั้นมันเกินความจำเป็น และ เปลืองซิลิโคนโดยใช่เหตุ ใช้ให้เหมาะสมพอดีกับชุดระบายความร้อนก็แล้วกัน
เหยี่อในการทดลองในวันนี้ จะเป็นซีพียู AMD Ryzen 7 5000 Series และ ซิลิโคนเจ้าดังยอดนิยม ในเวอร์ชั่นที่ 4
หน้าสัมผัสแบบ HDT (Heatpipe Direct Touch)
การทดลองแรกกับ HDT จะเป็นการหยอดซิลิโคนประมาณเม็ดข้าวสาร ตรงกลางซีพียู
เนื่องจากหน้าสัมผัส HDT มันจะปัญหาที่ไม่สามารถทำให้หน้าสัมผัสเท่ากันได้ ทำให้การใช้ซิลิโคนต้องมากขึ้น ซิลิโคนไม่สามารถกระจายได้ทั่วหน้ากระดองซีพียู
การลองที่สอง แปะไปสี่จุดรอบๆ พร้อมกับซิลิโคนเป็นขนาดประมาณเม็ดข้าวสารที่ตรงกลางซีพียู
การกระจายของซิลิโคน ถ้ามองกันทีพื้นที่นั้นสามารถกระจายออกมาได้ดีใช้ได้ ถ้าวางรอบๆ 8 จุด และ ตรงกลางซีพียู คิดว่ามันสามารถกระจายตัวได้เกือบ 100 % แล้ว
การลองที่สาม แปะไปแปดจุดรอบ และ ตรงกลางจุดเท่ากับรอบๆ
ซิลิโคนบางจุดที่อาจน้อยไปหน่อย ทำให้การกระจายตัวยังคงทำได้ไม่ดีนัก ถ้าเพิ่มปริมาณซิลิโคนให้มากขึ้น วางจุดให้มันได้สมดุลบนหน้ากระดอง การกระจายซิลิโคน ก็สามารถทำได้ดีแล้ว
การทดลองที่ 4 วางจุดๆเป็น "*" ซึ่งลงซิลิโคนไม่ได้สวยอะไรมากนัก
ถ้าลงปริมาณซิลิโคนให้มีความสมดุลกัน การกระจายตัวของซิลิโคนที่เรียกได้ว่ามันจะสามารถทำได้ทั่วกระดองซีพียูแล้ว
การทดลองสุดท้ายของหน้าสัมผัส HDT ลงเป็นจุดๆ ให้วิ่งจนชนหางเหมือนเกมงูใน Nokia 3310 ใหญ่บ้าง เล็กบ้างตามอารมณ์
การกระจายตัวของซิลิโคนที่เรียกได้ว่ามีความเกือบ 100% ในการกระจายตัวบนหน้ากระดองซีพียู ซึ่งถ้ามีความตั้งใจมากกว่านี้ ลงจุดให้สม่ำเสมอกัน สามารถเกิดอาการ AMD ของแท้ได้แล้วครับ
หน้าสัมผัสแบบมาตรฐาน
มาต่อกันที่ฐานหน้าสัมผัสแบบมาตรฐาน ฮีทซิงค์ตัวนี้เป็นของ DeepCool โดยตัวนี้จะเป็นฐานหน้าสัมผัสทองแดง ที่มีการ Lapping มาระดับนึง แต่ไม่ได้ราบเรียบเหมือนกระจก เราจะเห็นลายขัดอยู่บ้าง
การทดลองแรกเป็นการหยอดซิลิโคนประมาณเม็ดข้าวสาร ตรงกลางซีพียู
ถ้าหยอดซิลิโคนที่ใหญ่กว่าเม็ดข้าวสาร และ วางให้อยู่ตรงกลางกระดองจริง การกระจายของซิลิโคนที่คิดว่ามันจะได้มากกว่า 80% ของพื้นที่กระดอง ถ้าเป็นฮีทซิงค์เดิม Intel ที่ฐานหน้าสัมผัสทรงกลมตรงกลาง ก็คงเพียงพอแล้วนะครับ
การทดลองที่สอง แปะไปสี่จุดรอบๆ พร้อมกับซิลิโคนเป็นขนาดประมาณเม็ดข้าวสารที่ตรงกลางซีพียู
การกระจายตัว ถือว่าน่าสนใจนะครับ กินพิ้นที่กระดองได้เกือบเต็ม ถ้าลงปริมาณมากกว่านี้เล็กน้อย มันก็คงกระจายได้เต็มกระดองแล้ว
การลองที่สามด้วยความมึนและง่วงนอนของผม วางซิลิโคนไม่ได้สมดุลเท่าไรนัก แปะไปแปดจุดรอบ และ ตรงกลางจุดเท่ากับรอบๆ
ถ้าวางซิลิโคนให้ได้จุดที่สมดุลกับกระดองซีพียู มันสามารถกระจายได้เต็มพื้นที่ของกระดองแล้ว
การทดลองที่สี่ วางจุดๆเป็น "*" ซึ่งลงซิลิโคน ที่ยังคงไม่ได้เน้นความสวยงาม
การกระจายตัวของซิลิโคนที่เรียกได้ว่าเกือบสมบูรณ์แบบแล้ว ถ้าบางจุดที่ลงซิลิโคนน้อย แล้วลงให้ค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ก็เต็มพื้นที่กระดองอย่างสมบูณ์แบบ
การทดลองสุดท้าย ลงซิลิโคนให้วิ่งจนชนหางเหมือนเกมงูใน Nokia 3310 ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เบี้ยวบ้างตามความง่วง
การกระจายตัวของซิลิโคน ที่มันสามารถแทรกเข้าไปในช่องว่างระว่างซีพียูและฮีทซิงค์ได้เต็มพื้นที่ แต่บางจุดนั้นซิลิโคนอาจมากไปนิด แต่ไม่ถึงขั้นที่ซิลิโคนเลอะถึง PCB และ PIN ซีพียูได้
Conclusion
วันนี้ที่อยากเขียนก็ไม่มีอะไรมากครับ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการใช้ประมาณซิลิโคนให้เหมาะสมนั้น นอกจากการประหยัดปริมาณซิลิโคนที่ใช้แล้ว ก็ยังไม่สร้างปัญหาซิลิโคนทะลักลงไปสู่ตัวซีพียู ถ้าเลอะแค่ PCB เช็ดออก ถ้าแต่ลงไปถึง Socket ก็งานงอกครับ ก็จะล้างทำความสะอาดเพื่อให้เมนบอร์ดและซีพียูสะอาด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและสนุกเท่าไรนัก แต่ถ้าประหยัดมากเกินไป ก็จะเจอปัญหาที่ซิลิโคนไม่สามารถกระจายตัวได้ทั่วกระดองอีก ก็ต้องดูฐานหน้าสัมผัสของชุดระบายความร้อนที่ใช้ด้วยก็แล้วกัน ว่าจะใช้ซิลิโคนยังไงให้มันมีความเหมาะสมพอดีที่สุด เดี๋ยวก็ต้องมีคำถามว่าทำไม ผมไม่ใช้การปาดซิลิโคนให้ทั่วกระดอง เพราะคนบนโลกใบนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะใจเย็นใช้ไม้พายปาดซิลิโคนบนกระดองซีพียูทุกคน ขนาดเครื่องบางเครื่องที่ผมรื้อมา ประกอบจากร้านๆหนึง หยอดซิลิโคนมากันทะลัก เกือบลง Socket LGA อยู่เลย สำหรับวันนี้ก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ