สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซน วันนี้ผมก็ต้องขอมากันแบบแหวกแนวกันกว่าทางด้านคอมพิวเตอร์กันไปเล็กน้อย แต่อันที่จริงมันก็เกี่ยวข้องกับการใช้งานคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ากันอย่างแน่นอนกับเต้ารับที่ผนัง ซึ่งมันเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญของการใช้งานคอมพิวเตอร์ ,เครื่องเสียง หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ในส่วนของเต้ารับผนังมันก็มีการเสื่อมคุณภาพตามอายุการใช้งานในส่วนของกรอบพลาสติก โครงสร้าง และ ขาโลหะหน้าสัมผัส แล้วยิ่งในกลุ่มการเล่นเครื่องเสียงนั้นที่เค้าว่ากันว่าเปลี่ยนเต้ารับผนังใหม่ ก็เปลี่ยนสไตล์เสียงกันได้อีกด้วย แน่นอนว่าการเล่นกับไฟฟ้ากระแสสลับ 220V มันเป็นเรื่องที่อันตราย แต่เต้ารับที่เสื่อมคุณภาพก็มีโอกาสสร้างอันตรายได้เช่นกัน บางทีจะไปจ้างช่างมาเปลี่ยนเต้ารับผนังตัวนึง เค้าก็ไม่ค่อยอยากจะมาทำให้เท่าไร เสียเวลาเดินทาง ค่าแรงก็ได้กันไม่กี่บาท เดี๋ยววันนี้ผมจะแนะนำแนวทางการเปลี่ยนเต้ารับผนังให้ได้ชมกันเป็นขั้นเป็นตอนไป เอาเป็นว่าที่ผมเปลี่ยนเต้ารับผนังเป็นความรู้จากจากวิชา สปช. สมัยประถมศึกษาเนี่ยแหละครับ
** คำเตือน
*** บทความนี้มีการเกี่ยวข้อกับไฟฟ้ากระแสสลับ 220-230V ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต
**** โปรดศึกษาหลักการเบี้องต้นของไฟฟ้ากระแสสลับ
***** ทาง Overclockzone.com ไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น
เรามาดูเป้าหมายที่ผมจะเป็นตัวอย่างแนวทางในการเปลี่ยนเต้ารับผนังด้วยตัวเองกัน ต้องบอกก่อนว่าบ้านนี้ เป็นบ้านอายุประมาณซักยี่สิบกว่าปี ระบบไฟเป็นแบบสองสาย L กับ N ยังไม่มี G แบบกฎการขอไฟบ้านสมัยนี้ ดูจากสภาพเต้ารับคงจะเห็นได้ชัดเจนว่ามันเก่ามากแล้ว ติดบ้านมาตั้งแต่แรกยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแต่อย่างใด เหตุที่เปลี่ยนเพราะหน้าสัมผัสข้างในไม่ค่อยดีแล้ว เสียบปลั๊กไม่แน่นใช้งานนานๆต่อเนื่องแล้วร้อน
หน้าตาของเต้าเสียบมเป็นมาตรฐานของประเทศไทยประเทศเดียว จะเป็นขากลมทั้งขา L ,N และ G ตามความเหมาะสมของไฟฟ้าระบบ 220V ซึ่งการเรียงนั้นจะเหมือนกับ US Plug หรือ ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน)
การเสียบปลั๊กแบบสามขาเข้าไปในเต้ารับแบบสองรู การมักง่ายที่สุดคือเอาคีมหักขา G ทิ้งไป หรือใช้ Adapter แปลงเอา ซึ่งตัวแปลงดีๆราคาก็สูงเปลี่ยนเต้ารับทีเดียวไปเลยน่าจะดีกว่า ส่วนพวกถูกๆหน้าสัมผัสก็ไม่ได้แน่นหนา แถมบางทีใช้เหล็กชุบ แทนที่ควรจะใช้เป็นทองเหลืองหรือทองแดง (ในภาพที่ผมหักขา G ออก คือแต่ก่อนใช้ Adapter แปลงเอา แต่แมวชอบวิ่งชนแล้วปลั๊กหลุดออกประจำ เลยหักขา G ทิ้ง)
อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในสมัยนี้ ที่มักจะมีขา G เป็นมาตรฐานกันมากขึ้น ซึ่งในภาพเป็น TP-LINK Power Line Ethernet พูดกันง่ายๆคือ LAN สายไฟภายในบ้าน ซึ่งการใช้ตัวแปลงที่ผมเคยลองๆมามันรับน้ำหนักมากไม่ค่อยได้ แต่ถ้าตัวแพงคุณภาพดีหน่อยก็พอใช้ได้ แต่เทียบค่าใช้จ่ายแล้ว เปลี่ยนเต้ารับไปเลยดีกว่า
เตรียมอุปกรณ์
เต้ารับที่จะเปลี่ยนใหม่ ถ้าใครเล่นเครื่องเสียงกันเห็นในภาพคงรู้แหละว่ายี่ห้ออะไรกันบ้าง ในกลุ่มของคนเล่นเครื่องเสียงที่มักนิยมใช้เต้ารับแบบ US Plug เพราะเต้าเสียบมาตรฐานประเทศไทยในรูปแบบ Audio Grade ยังไม่มีแบรนด์ไหนทำกัน รวมไปถึงมีทางเลือกของอุปกรณ์มากมายมีแต่ตั้งของเก่าจนของผลิตใหม่ล่าสุด แต่ที่ผมใช้เต้ารับ US Plug ส่วนนึงก็เครื่องเสียง อีกส่วนนึงก็มีเด็กเล็กในบ้านเสียบที่ปิดที่ยังแกะมาได้ ใช้เต้ารับแบบมีม่านชัตเตอร์ก็เสียบยาก ใช้เต้ารับ US Plug นิ้วแหย่ไม่ได้
เครื่องมือที่ใช้ก็มีไขควงแบบสี่แฉก และ ไขควงวัดไฟแบบปากแบน มีสองอย่างนี้ก็ใช้ได้แล้ว
ต่ำแห่นงของขาและจุดเชื่อมต่อสายไฟของ L N และ G ของเต้ารับ US Plug ที่ใช้น็อตหนีบแผ่นล็อกหน้าสัมผัสสายไฟ (L = Hot Wire ,N = Neutral Wire และ G = Ground ที่รู้จักกันว่าสายดิน)
ต่ำแหน่งของขาและจุดเชื่อมต่อสายไฟของ L N และ G ของเต้ารับแบบไทยๆรองรับได้ทั้งขากลมและแบน แบรนด์พานาโซนิคหรืออดีตเนชั่นเนล ตามร้านขายทั่วไปมักเรียกพานาตูดเขียว ขาสัมผัสเป็นทองแดง ใช้ระบบหนีบ (L = Hot Wire ,N = Neutral Wire และ G = Ground ที่รู้จักกันว่าสายดิน)
เตรียมพร้อม
เรามาใช้ไขควงวัดไฟ หาก่อนว่าขาไหนเป็น L (มีไฟ) และ N (ไม่มีไฟ) ก็จำตำแหน่งเอาไว้ด้วยว่าขาไหนที่มีไฟ
ต่อมาหาแผงไฟในบ้าน ซึ่งบ้านสมัยใหม่ที่มีการเดินระบบกันแยกปลั๊กและไฟส่องสว่างๆ ก็สามารถตัดไฟของเต้ารับชั้นที่จะทำการเปลี่ยน แต่แบบว่าไม่แน่ใจตัดไฟ Main กันไปเลย หลังจากตัด Main แล้ว ตรวจสอบกันง่ายๆไฟต้องดับทั้งบ้าน เพราะฉะนั้นควรทำในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงสว่างมองเห็นได้
เพื่อความแน่นอนอีกครั้งว่าไฟถูกตัดแล้ว ให้ลองเอาไขควงวัดไฟจิ้มดูอีกครั้งว่ามีไฟหรีอไม่ ไม่มีไฟแล้วจัดการกันต่อ (ถ้าคิดว่าต้องการความปลอดภัยอีกขั้นให้ใส่รองเท้าขณะทำ แต่ถ้าจะปลอดภัยไปอีกขั้นหาผู้ช่วยอีกคนถือไม้ท่อนใหญ่ๆท่อนนึงไว้)
จากสภาพแล้วสามารถถอดฝาครอบเต้ารับออกกันได้ง่ายๆแน่นอน ถ้าปกติฝาครอบสภาพยังดีต้องใช้ไขควงปากแบนงัดสลักฝาครอบครับ
********** คำเตือน อันตรายถึงชีวิต **********
ก่อนที่จะเริ่มถอดเต้ารับของเดิมออกมา ตรวจสอบให้แน่นอนก่อนว่าตัดไฟในส่วนของเต้ารับหรือในบ้านเรียบร้อยแล้วหรือยัง ทางโอเวอร์คล๊อกโซนไม่ขอรับผิดชอบในใดๆทั้งสิ้น
ถอดน็อตยึดแผงเต้ารับออกมา แล้วทำการคลายน็อตที่ยึดสายไฟแล้วถอดเต้ารับออกมา จากที่เราใช้ไขควงวัดไฟกันก็จำตำแหน่งสายไฟด้วย อย่างในภาพสายสีเทาจะเป็น L สายสีดำจะเป็น N
เปลี่ยนเต้ารับแบบสายไฟ 2 เส้น (L-N)
มาถึงสายไฟที่ได้ถอดเต้ารับออกมาเรียบร้อย แล้วจะเห็นได้ว่ามีความสกปรกอยู่พอสมควร ก็ลองใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดกันหน่อย ถ้าไม่ออกก็หากระดาษทรายเบอร์ละเอียด มาขัดผิวให้สะอาดพอครับ
ทำการสอดสายไฟเข้าไปในช่องของเต้ารับ แล้วทำการไขน็อตล็อกสายให้แน่น อันนี้เป็นทริกเล็กน้อยหลังจากที่อัดน็อตไปแน่นแล้วในแต่ละจุดให้ทิ้งช่วงไว้อีกแป๊ปนึง แล้วลองมาขันอัดเข้าไปจะได้อีกเล็กน้อยสำหรับใครที่ชอบแน่นๆ ส่วนใครเปลี่ยนเต้ารับที่ระบบล็อกสายแบบหนีบ ก็ใช้ไขควงปากแบนยัดไปในสลักแล้วสอดสายไฟเข้าช่องหลังจากนั้น ก็ดึงไขควงออกมา
ทำการยึดเต้ารับเข้ากับช่องที่ผนังให้เรียบแล้ว ส่วนเต้ารับอย่างเช่นพานาโซนิคที่จะใช้การยึดเต้ารับกับแผงยึด
ปิดฝาครอบให้ดูเรียบร้อยสวยงาม แล้วก็ไปสับแผงไฟกลับมาเหมือนเดิมที่ปิดเอาไว้
ลองเอาไขควงวัดไฟจิ้มที่เต้ารับดูกันหน่อยว่าไฟเข้าแล้วหรือยัง
เสียบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อใช้งานกันตามปกติได้เลย
เปลี่ยนเต้ารับแบบสายไฟ 3 เส้น (L-N-G)
สำหรับบ้านสมัยใหม่หรือที่มีการเดินไฟใหม่ จะเป็นสายสามเส้น แบบ L = Hot Wire ,N = Neutral Wire และ G = Ground (ที่รู้จักกันว่าสายดิน) โอกาสเจอหมกหรือมั่ว คือการต่อ L กับ N สลับกัน ยังไงก็ลองใช้ไขควงวัดไฟจิ้มดูก่อนว่าสายเส้นไหนเป็น L ที่ผมเจอมา เดิน L กับ N สลับกันนี่บ้านหลังราคาเกือบสิบล้านนะนั้น ส่วนอีกบ้านที่ผมเคยแบบเดินไปชุ่ยมากเล่นเดิน L N G สายไฟสีเดียวกัน ยังดีช่างใจดีเดิน G มาใช้สายไฟเส้นเล็กกว่าให้จับจุดได้
ก่อนถอดเต้ารับเดิมอย่าลืมตัดไฟก่อนนะครับ แล้วค่อยมาทำการถอดเต้ารับเดิมออกแล้วใส่เต้ารับใหม่ที่จะทำการเปลี่ยนเข้าไป ขันน็อตให้แน่นแล้วลองดึงดูว่าสายไฟหลุดออกจากเต้ารับได้หรือไม่
ทำการยึดเต้ารับเข้าในช่องและปิดฝาให้ดูเรียบร้อยสวยงามก็พร้อมใช้งานกันแล้ว
Conclusion !
อันที่จริงขั้นตอนในการเปลี่ยนเต้ารับผนัง นั้นมันไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนกัน แต่ที่ผมอาจเขียนให้ดูซับซ้อน เพื่อให้สามารถตรวจสอบกันด้วยว่ามีการต่อสาย L และ N สลับกันหรือไม่ และ มีการเช็คเป็นขั้นตอนที่ไม่เกิดอันตรายจากไฟดูด ซึ่งจุดประสงค์ในการเปลี่ยนเต้ารับผนังนั้นก็มีหลากหลายกันไป ทั้งในแง่มุมของคนเล่นเครื่องเสียงที่ต้องการเปลี่ยนเต้ารับในระดับ Audio Grade ,Spec Grade และ Hospital Grade ตามความต้องการของภาพหรือเสียง ส่วนในแง่มุมของการใช้งานกับคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่ ที่มากจะเป็นปลั๊กแบบสามขา L N G ติดตัวมา ครั้นจะไปใช้หัวแปลงเป็นแบบ 2 ขา คุณภาพที่ดีก็ต้องแลกมาด้วยค่าตัวที่ไม่ถูกเท่าไร รวมไปถึงการเปลี่ยนเต้ารับใหม่จากอายุการใช้งานของเต้ารับเดิมที่เก่ามากและอยู่ในห้องที่เจอแดดทั้งวันทำให้วัสดุมันเสื่อมสภาพไวมาก ทำให้เสียบปลั๊กไม่แน่นและขาสัมผัสไฟไม่แนบสนิท ที่จะมาพร้อมกับความร้อน อย่างดีก็แค่เต้ารับละลายแล้วไฟตัด ถ้าโชคไม่ดีก็ไฟฟ้าลัดวงจรอาจจะเกิดเรื่องที่ไม่อยากจะให้เกิดกัน ถ้าคิดว่าไม่แน่ใจจริงๆเรียกช่างมาเปลี่ยนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ถ้าเข้าใจแนวทางที่เราได้แนะนำไว้แล้วมีอุปกรณ์เครื่องมือพร้อม มันก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรมาก ก็แค่เปลี่ยนเต้ารับผนังตัวนึง ผมคงไม่ได้พูดอะไรมากเกี่ยวกับไฟฟ้ากระแสสลับ หรือ AC ที่ความต่างศักย์ไฟฟ้า 220 V. เดี๋ยวพูดไปพูดมาจะเดินระบบไฟกันทั้งบ้าน สำหรับวันนี้ก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ