สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซนครับ ในช่วงของการประกอบหรือสร้าง USB DAC จากแผงวงจรสำเร็จรูป ซึ่งในตอนแรกเราได้พูดถึงส่วนประกอบหลักในภาพรวมของ USB DAC และ ตอนที่สองเราได้มาพูดถึงการประกอบ USB DAC ให้มันสามารถใช้งานได้แบบวางเปลือยๆกัน จริงๆแล้วถ้าพอใจกับการวางเปลือยมันก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรนัก แถมประหยัดงบประมาณไปได้อีกพอสมควร แต่ถ้าใครโดนคนที่บ้านบ่นถึงความเรียบร้อยและมีเด็กเล็กๆชอบซน ก็เลยต้องมาสู่ตอนที่สาม กับการประกอบ USB DAC ให้สมบูรณ์แบบและเรียบร้อยสวยงาม ซึ่งจากตอนที่สองนั้นเราได้วางเปลือยๆ มันยังไม่เจอ Bug หรือ ความจริงที่โหดร้ายเท่าไรนัก เดี๋ยวเรามาดูกันดีกว่าว่าเราจะมาประกอบลงเคสให้ดูเป็นแนวทาง พอประกอบเสร็จแล้วจะออกมาเป็นเช่นไร แต่แน่นอนว่าหลายๆคนนั้นอาจมีข้อสงสัยว่า USB DAC นั้นมันคือ ? ถ้าพูดกันให้เข้าใจง่ายที่สุดมันก็คือการ์ดเสียงสำหรับคอมพิวเตอร์นั้นเอง ซึ่งหน้าที่หลักของ DAC (digital-to-analog converter) นั้นจะแปลงสัญญาณเสียงดิจิตอลเป็นสู่เสียงอนาล็อกให้เราได้ยินนั้นเอง
** คำเตือน
*** บทความนี้มีการเกี่ยวข้อกับไฟฟ้ากระแสสลับ 220-230V ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต
**** โปรดศึกษาหลักการเบี้องต้นของไฟฟ้ากระแสสลับ
***** ทาง Overclockzone.com ไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น
จากคราวที่แล้วที่เราได้ประกอบชิ้นส่วนและแผงวงจรต่างๆที่ทำให้ออกมาได้ USB DAC เพื่อใช้งาน ในภาพก็คงจะเห็นได้ว่ามันวางสายไฟกันแบบไม่สวยงามเรียบร้อย
ดูจากภาพก่อนหน้านี้หรือในคราวที่แล้วอาจไม่เข้าใจกันเท่าไรนักว่า ส่วนประกอบของ USB DAC มันเชื่อมต่อเข้าหากันยังไง วันนี้เราก็มีแผนฝังให้ดูแล้วเข้าใจกันง่ายขึ้นในการเชื่อมต่อส่วนประกอบต่างๆ รวมไปถึงการเชื่อมต่อเพื่อใช้งาน โดยทางด้าน Source ในการเล่นไฟล์เพลงดิจิตอลไม่จำเป็นต้องเปิดจากเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ยังได้ ในกรณีที่พวก Smartphone หรือ Tablet นั้นรองรับ USB OTG และ Digital Audio Output ก็สามารถเชื่อมต่อกับ USB DAC ได้อีกด้วยครับ เดี๋ยวเราจะไปเริ่มกับการประกอบลงเคสเพื่อให้ USB DAC ของเราออกมาสวยงามดูดีและเรียบร้อย
ในการเลือกเคสอลูมิเนียมสำเร็จรูป ควรต้องดูให้รูทางของพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆนั้นมันพอดีกัน และที่สำคัญสำหรับ DAC Board แบบ Soft Control ที่มีหน้าจอและปุ่มสั่งการ ตรวจสอบพื้นที่ในการติดตั้งให้มันดีก่อนจะสั่งซื้อด้วย นี่แหละที่เป็นเหตุว่าทำไมผมประกอบ USB DAC คราวเดียวสองตัว เพราะซื้อเคสกับ DAC Board ไม่ตรงรุ่นกัน ถ้าไม่มีเครื่องมืออย่าง CNC หรือ Laser Cut บอกเลยว่าไม่สนุกที่จะมาแก้ แถมไม่สวยอีกด้วย แต่ถ้าใครจะประหยัดสั่งพับกล่องหรือซื้อกล่องโครงงานสำเร็จรูปมาเจาะก็ไม่ผิดครับ เมื่อได้เคสมาแล้วก็ลองประกอบกันให้เป็นโครงกันดูก่อน เพราะมันจะมาเป็นแผ่นอลูมิเนียมต้องมาประกอบเอง
จัดการติดตั้งหน้าจอแสดงผลพร้อมกับ MCU และ ปุ่มควบคุมสั่งการให้เรียบร้อยกับส่วนด้านหน้าของเคส ก็ต้องมีการใช้น็อตรองทองเหลืองเพิ่มด้วย (ขนาดและความสูงเท่าไรก็แล้วแต่เคสครับ)
จัดการนำ Dac Board วางในเคสให้พอดีกับช่องสำหรับพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ เพื่อวัดหาจุดเจาะรูเพื่อยึดบอร์ดเข้ากับเคส แนะนำว่าอย่าวางทาบอย่างเดียว ลองยึดเข้ากับ Back Panel ให้เหมือนจริง จะได้รู้ตำแหน่งที่จะต้องเจาะยึดบอร์ดที่แท้จริง
สำหรับใครที่ขี้เกลียดเจาะรูยึด ลักไก่เอาเลยก็ไม่มีใครว่า เพราะทำใช้เองเนอะ ในภาพผมเล่นใช้ Epoxy ยึดน๊อตรองทองเหลือง เพราะเจาะตัวอื่นๆจนดอกสว่านมันทื่อเจาะไม่เข้า ถ้าใครมีสว่านแท่นจะช่วยทำให้การเจาะรูต่างๆนั้นเนียนขึ้น
จัดหาตำแหน่งในการยึดหม้อแปลงลดแรงดัน ในภาพผมใช้ R-Core 50VA ขนาดจะใหญ่กว่า 30VA และ 40VA ที่ผมเอามาให้ดูเป็นแนวทางในตอนที่ 1 และ 2 ถ้าจะวางให้ดูสวยงามอาจต้องมีการต่อสายเพิ่มบ้าง แต่ผมพวกไม่ชอบตัดต่อสายไฟ อาจวางดูไม่สวยงามเท่าไรนัก ก็ลองเชื่อมต่อสายเข้าบอร์ดลองดูให้เรียบร้อยว่ามันถึงหรือไม่ ข้อควรระวังควรลองประกอบ Front Panel ด้วย เพื่อตรวจสอบว่าชิ้นส่วนต่างๆนั้นไปติดขัดอะไรบ้าง ปัญหาที่ผมเจอคือในส่วนสวิทซ์เปิดปิดมันชนกับในส่วนหม้อแปลงลดแรงดัน ถ้ายังไม่เจาะก็เพียงแค่ขยับ แต่ถ้าเจาะไปแล้วก็ต้องเสียเวลาแก้รู
เมื่อเจาะรูยึดหม้อแปลงลดแรงดันเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการยึดให้แน่นหนา เพราะถ้าเกิดมีการเคลื่อนย้ายแล้วติดตั้งไม่แน่นหนา เดี๋ยวหม้อแปลงมันก็กระแทก DAC Board เสียหายได้ครับ
เคสตัวที่ผมเอามาให้ชมเป็นแนวทางนั้นในส่วนท้าย IEC เป็นแบบมีฟิวส์ด้วย ก็จัดฟิวส์มาใส่ให้เรียบร้อย โดยแบบในภาพเป็นของที่ผมมีอยู่แล้วในบ้าน เป็นฟิวส์ Audio Grade ขนาด 6 mm * 20 mm แบบ 250V T1A (Slow Burn) พวกอุปกรณ์เครื่องเสียงเช่นแอมป์ขยายเสียงต้องใช้พิวส์แบบ Slow Burn หรือ TxA นะครับ ถ้าใช้ Fast Burn แบบปกติ เวลาเบสหนักๆ ทำให้ฟิวส์ขาดได้ บางคนเปลี่ยนฟิวส์แล้วขาดประจำ ก็เล่นลักไก่ใช้ A สูงๆแทนเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ลองดูว่าที่เปลี่ยนเป็นแบบ Fast Burn หรือ Slow Burn
จัดการประกอบ Back Panel แล้วยึดพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆให้เรียบร้อย ในชั้นตอนการวัดรูยึดบอร์ดถ้าเราทำแบบเหมือนตอนสำเร็จแล้ว ในจุดนี้จะไม่มีปัญหาอะไร
จัดสายในส่วนไฟที่ลดแรงดันเพื่อเข้า DAC Board ให้เรียบร้อย ในส่วนสายไฟชุด Y-0 และ Y-0 คงจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าไรนัก เพราะสีมันคู่กันอยู่แล้ว ส่วนชุดไฟ X-0-X ก็ทำการรวบจากสองชุดให้เป็น 1 เส้น สำหรับ 0 และ ที่เหลือของแต่ละขดให้เป็น X
จัดการนำจาดขดไฟที่ได้รับการลดแรงดันเชื่อมต่อเข้าสู่ DAC Board ขันชั้วเชื่อมต่อสายให้แน่นๆไปเลย เพราะในการจัดสายถ้าขันไม่แน่นอาจทำให้สายหลุดได้ครับ
จัดการประกอบ Front Panel เข้ากับตัวเคสให้เรียบร้อย แล้วจัดการเชื่อมต่อสายจากชุด MCU ลง DAC Board ให้เรียบร้อย
มาถึงส่วนของไฟ AC ขาเข้าที่เรามาจัดระเบียบกันก่อนเพื่อความไม่สับสน โดยในคราวนี้ส่วนของหม้อแปลงลดแรงดันที่จะต่างๆจากคราวก่อนๆ เพราะหม้อแปลงลดแรงดันที่ผมใช้เป็นแนวทางนั้นไฟ AC ขาเข้ารองรับทั้ง 115 และ 230V ในส่วนสายสีน้ำเงินของไฟ 115V จัดการรวบเก็บซ่อนให้เรียบร้อยก่อน ส่วนสายสีดำ 0V ต่อกับ N ของท้าย IEC และ สีเหลืองแถบเขียว SCN จัดการต่อกับ G ของท้าย IEC ถ้าใครจะจั๊มลงเคสด้วยก็แล้วแต่ครับ แต่ถ้าใครจะไม่ต่อสวิทซ์ก็สามารถจับสายสีแดง 230V เข้ากับ L ของท้าย IEC ได้เช่นกัน
เปิดด้านข้างของเคสออกก็ช่วยทำให้สะดวกในการทำงานมากขึ้น ในภาพจะเห็นได้ว่าสายไฟสีน้ำเงิน 115V ผมจัดการเอาท่อหดคลุมเอาไว้แล้ว เผื่อเกิดย้ายไปอยู่ประเทศอื่นที่ใช้ไฟ 115v ก็แค่สลับสายไฟก็ใช้งานได้
จัดการนำสายไฟมาเข้ากับหางปลาตัวเมีย ถ้าใช้ท้าย IEC แบบขันล๊อกก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหางปลา หรือ ใครสายดิบก็เชื่อมสายกับหางปลาตัวผู้เลยก็ไม่ผิดครับ
ถ้าใครจะไม่ใช้สวิตซ์ด้านหน้าก็สามารถนำสายสีแดง 230V จากหม้อแปลงลดแรงดันมาต่อกับท้าย IEC ในชั้ว L ได้เลย แต่ผมจะต่อกับสวิตซ์ให้ดูเป็นแนวทางด้วย ก็ต้องหาสายไฟอีก 1 เส้นมาต่อกับขั้ว L ของท้าย IEC โดยความยาวให้มันไปถึงสวิตซ์ด้านหน้าได้ เสร็จแล้วก็ประกอบด้านข้างของเคสกลับเข้าไปให้เรียบร้อยแล้วเตรียมถอด Front Panel ออกมาแล้วถอดสวิตซ์เปิดปิดออกมา เพื่อความสะดวกในการเชื่อมสายจากท้าย IEC ขั้ว L และ สาย 230V จากหม้อแปลงลดแรงดัน
จัดการเชื่อมสายจากท้าย IEC ขั้ว L และ สาย 230V จากหม้อแปลงลดแรงดัน เข้ากับสวิตซ์ให้เรียบร้อย
จัดการประกอบ Front Panel กลับเข้าไปให้เรียบร้อย จัดระเบียบสายไฟให้เป็นระเบียบเรียบร้อยกัน รวมไปถึงตรวจสอบความเรียบร้อยในชุดเชื่อมต่อต่างๆและความแน่นหนาในการยึดอุปกรณ์กับเคส แล้วปิดฝาด้านบนเพื่อให้เป็น USB DAC ที่อยู่ในเคสเรียบร้อยสวยงาม
เพียงเท่านี้เราจะได้ USB DAC ที่อยู่ในเคสเรียบร้อยแล้วสามารถใช้งานได้แล้ว
มาถึงตัวที่สองกับความจริงที่โหดร้ายกันบ้าง ในส่วนของ MCU ,Display และ Button Control ที่คนขายนั้นได้ใส่ปลั๊กเชื่อมต่อมาให้ แต่ความจริงที่โหดร้ายมากใส่มาให้กลับด้านไม่พอ แถมเวลาติดตั้งเคสลงไปจริงๆ PCB มันซ้อนกันอยู่ แก้ Bug กันง่ายๆ ก็จัดการตัดสายมาเชื่อมที่ Button Control กันตรงๆเลยครับ อาจเชื่อมไม่สวยเท่าไร เพราะบทความ Bulid DIY DAC ทุกตอนทำเวลากลางคืนหลังจากทำงานเสร็จครับ ภาพที่เอามาลงเลยเป็นแบบพื้นบ้านและมืดๆกันส่วนมาก
Bug ที่สองกับ DAC Board ตัวนี้ที่คนขายนั้นใจดี ได้เชื่อมต่อกับ USB I2S Card มาให้เรียบร้อยแล้ว แต่ระยะความสูงมันไม่ตรงกับเคส ส่วนตัวผมไม่ค่อยมีผีมือในการถอนตะกั่วเท่าไรนัก เลยเลือกวิธีเจียร์ช่อง USB ให้มันลงต่ำมาพอกับกับพอร์ต USB Type B เมื่อติดตั้งเข้าไป โดยความแตกต่างกับตัวแรกก็คือ ไม่มีฟิวส์ ไม่ต่อกับสวิตซ์ เพื่อเป็นอีกแนวทาง นอกนั้นก็คล้ายๆกันครับ
เสร็จเรียบร้อยแล้วจัดการปิดฝากันไปเพื่อความเรียบร้อยที่อยู่ภายในเคส
หน้าจอแสดงผลแบบ OLED ก็ดูสวยงามไปอีกแบบ
ขั้นตอนที่ผมทำเป็นแนวทางให้ได้ชม นั้นอาจดูวุ่นวาย ถอดเข้าถอดออกอยู่นั้นแหละ แต่เพื่อความแน่นอนในการวางจุดยึดต่างๆจะได้ไม่ติดขัดกับอุปกรณ์อื่นๆ ถ้าใครโปรๆมองแม่นๆจะทำหลายๆขั้นตอนรวบไปขั้นตอนเดียวก็ไม่ผิดครับ
ประกอบเสร็จแล้วไม่จำเป็นว่าจบไปต่อไม่ได้ ถ้ามีเงินหรือมีงบประมาณก็ยังสามารถอัพเกรด หม้อแปลงลดแรงดัน ,OP-AMP ,USB to i2s Module หรือ จุดการเชื่อมต่อสายต่างๆ ในภาพก็คงจะเห็นได้ว่าผมจะเปลี่ยน IEC Intel เป็นของ FURUTECH อีกแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ในส่วน IEC Inlet แบรนด์นี้ก็ได้รับความนิยมใช้ในการอัพเกรดเช่นกัน
หลังจากอัพเกรด IEC Inlet นั้นเสียงดีขึ้นยังไงผมก็ฟังไม่ออก เห็นชัดเจนว่าเท่ห์ขึ้นมาก
เรื่องของเสียงนั้นผมขอไม่พูดถึงละกัน ถึงเป็น DAC Chip เดียวกัน เสียงก็ไม่จำเป็นเหมือนกัน บางที DAC Board หน้าตาคล้ายกันเสียงก็ไม่ได้จำเป็นว่าเหมือนกัน มันมีปัจจัยหลายอย่างในการเลือกใช้อุปกรณ์มากมายอีกด้วยครับ
Conclusion
ในวันนี้ก็คงเห็นภาพบทสรุปของแนวทางการประกอบ DIY USB DAC ไว้ฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้ามองในแง่ของตัวเงินที่จ่ายๆไปกับ USB DAC หนึ่งตัว ก็ต้องบอกว่าไม่ถูกเท่าไรนัก ส่วนนึงก็มาจากเคสอลูมิเนียมนี่แหละครับ แต่มันได้ความสนุกและสามารถปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆได้ตามใจชอบ อย่างเช่น OPAMP ,USB to I2S Module และ หม้อแปลงลดแรงดัน แถมค่อยๆเก็บเงินซื้อกันทีละชิ้นก็ไม่ผิด บอกก่อนว่าถ้ามีงบประมาณมากพอ ไปเลือกลองฟังที่ร้านนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ DIY USB DAC สั่งๆซื้อมาเป็นชิ้นๆมันไม่มีให้ลองฟัง แถมต้องมาลุ้นกันอีกว่าจะเจอปัญหาอะไรบ้างในตอนประกอบ อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนละกัน ว่าจะชอบแบบเจ็บแล้วจบ หรือ เจ็บทีละนิด ถ้าวางแผนดีก็จบ แต่ถ้าวางแผนไม่ดีก็เจ็บปวกรวดร้าวแบบผมที่ตั้งใจประกอบตัวเดียวกลายมาได้ประกอบสองตัว วันนี้ก็คงเป็นตอนสุดท้ายของ Bulid DIY USB DAC ซึ่งการประกอบอย่างอื่นจากชิ้นส่วนและวงจรสำเร็จรูปนั้น ถ้ามีโอกาสคราวหน้าจะหามานำเสนอให้ชาวโอเวอร์คล็อกโซนได้ชมกัน สำหรับวันนี้ผมก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ