กราบสวัสดี พ่อแม่พี่น้องชาวโอเวอร์คล๊อกโซน ซึ่งอีกไม่กี่วันนั้นจะข้ามก้าวสู่ปี 2559 กันแล้ว หลายๆคนนั้นก็ชอบไปเที่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง แต่ก็มีใครอีกหลายๆคนนั้นมักจะชอบฉลองปีใหม่อยู่บ้านพร้อมกับการนั่งฟังเพลง ที่เราชอบ ก็ได้ความสุขไปอีกแบบเช่นกัน วันนี้ผมจะไม่ได้เน้นที่คุณภาพเสียง แต่จะเน้นกับฟอร์แมตหรือรูปแบบสื่อที่ใช้ฟังเพลง ถ้าเราพูดถึงการฟังเพลงที่ในยุคสมัยแรกนั้น Source ที่เราใช้ฟังนั้นคงจะมีทางเลือกเพียงแต่แบบอนาล๊อกเท่านั้น ถ้าพูดแต่ที่ผมทันได้ฟังคงจะเป็นพวกเทปคลาสเซ็ตและแผ่นเสียงไวนิล แต่หลังจากที่ Philips และ Sony ได้ผลักดันมาตรฐานใหม่ของสื่อบันทึกเสียงเพลงกับ Compact Disc Digital Audio หรือ CDDA ยุคปี 80 ก็คือจุดเริ่มต้นของยุคที่ใช้ไฟล์เพลงดิจิตอลในการฟังเพลงกันแล้ว เท่าที่ผมจำได้ในยุคแรกๆของซีดีนั้น จะอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีอันจะกินเพราะต้องลงทุนกับเครื่องเล่นแผ่นซีดีที่ ราคายังไม่เป็นมิตรในช่วงแรก พร้อมกับราคาของแผ่นซีดีที่สูงและไม่ได้หาง่ายในตลาดบ้านเราเท่าไรเมื่อ เทียบกับเทปคลาสเซ็ต ที่เดินไปซื้อตลาดแถวบ้านก็มีขาย เทปตลับนึงไม่กี่บาท สมัยก่อนตอนเด็กนี่หยอดกระปุกแอบที่บ้านไปซื้อเทปเพลงมาฟังอย่างน้อยสอง สัปดาห์หนึ่งม้วน ส่วนแผ่นซีดีนี่ช่วงโตขึ้นมาหน่อย จะเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ เช่น ได้เป็นของขวัญวันเกิดหรือฉีกซองแดง (กลางร้านขายซีดีจริงๆ) ในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ทำไมต้องเป็นไฟล์เพลงดิจิตอล ไฟล์ดิจิตอลมันมีดีอะไร ถ้าพูดกันสั้นๆง่ายๆเลย ไฟล์เพลงในระบบดิจิตอลนั้นให้เสียงที่ออกมาเที่ยงตรงกว่าระบบอนาล๊อก รวมไปถึงเสียงรบกวนต่างๆ ที่การฟังแผ่นซีดีที่จัดการได้ดีกว่าเทปคลาสเซ็ต เช่นเสียงฉี่....ในช่องว่างระหว่างเพลง หรือ เสียงกรอบแกบจากฝุ่นที่ไปหลบในร่องเสียงในแผ่นเสียงไวนิล เทียบกันง่ายๆให้เห็นภาพ แผ่นซีดีในใช้เลเซอร์ในการอ่านข้อมูล ตราบใดที่หัวอ่านไม่เสียและมอเตอร์หมุนแผ่นทำงานได้ปกติ มันก็จะให้ข้อมูลเหมือนเดิม เป็น 0 1 0 1 0 1 กันเหมือนเดิมไม่มีเพี้ยน (ในส่วนเรื่องคุณภาพเสียงนั้นผมยังไม่ได้พูดถึงอะไรนะครับ) ส่วนเทปคลาสเซ็ตนั้นใช้ไปสายพานก็จะค่อยๆยืดตามการใช้งาน หัวเทปเสือม นี่ยังไม่นับรวมกับคุณภาพของเทปแม่เหล็กในม้วนด้วยนะ ฟังบ่อยๆ กรอไปกรอมาบ่อยๆ และการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง ก็จะต้องเจอกันบ้างกับเทปแม่เหล็กที่เสียคุณสมบัติของมันไปจากมาตรฐาน เวลาเสียงเพลงที่ออกมานั้นมันก็จะไม่เที่ยงตรงจากต้นฉบับแล้วครับ ส่วนแผ่นเสียงไวนิลที่เปิดฟังบ่อยๆร่องบันทึกก็ค่อยๆสึก รวมไปถึงหัวเข็มที่มีอายุการใช้งานของมัน ที่ยังมีเงื่อนไขหลายๆอย่างที่ทำให้เสียงที่ออกมานั้นเพี้ยนและแตกต่างไปได้ ด้วยเช่นกัน ซึ่งแผ่นซีดีที่ทำให้ยุคของเพลงในระบบอนาล๊อกค่อยๆจางหายไป จนมาถึงในยุคที่สื่อบันทึกเพลงดิจิตอลนั้นได้กระแสตอบรับ ,ความนิยม และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นจากผู้ที่ฟังเพลง โดยในวงการผู้ผลิตเครื่องเสียง เลือกที่ค่อยๆถอดภาคปรีโฟโน สำหรับการเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงไวนิลออกไปจากแอมป์หรือปรีแอมป์ ส่วนเทปคลาสเซ็ตที่ค่อยๆตายไปหลังจากเครื่องเล่นแผ่นซีดีและซีดีเพลงราคาถูก ลง ผู้ที่ฟังเพลงนั้นสามารถเข้าถึงการฟังเพลงด้วยแผ่นซีดีได้ง่าย แต่ก็ยังมีนักฟังเพลงบางส่วนที่มีความรู้สึกไม่ยอมรับไฟล์เพลงดิจิตอล เดี๋ยววันนี้เราก็จะมาเจาะลึกกันกับไฟล์เพลงดิจิตอลในแต่ละกลุ่มและชนิดไฟล์ ยอดนิยม รวมไปถึงกระแสของไฟล์เพลงดิจิตอลมันมีความเปลี่ยนไปเช่นไรกันบ้างในยุค 2015
สำหรับในวงการคอมพิวเตอร์ที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้ฟังเพลงนั้น ผมไม่ขอพูดถึงอะไรมากเท่าไรแต่คอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยมากขึ้นมา ไดร์ฟซีดีรอมราคาจับต้องได้ มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้กันแล้ว มันก็เริ่มเข้าสู่จุดแตกหักที่ผู้ผลิตเพลงนั้นต้องเริ่มที่จะกุมขมับมีการ แชร์หรือแจกไฟล์เพลง ที่ทำการ Rip จากแผ่นซีดีโอดิโอ แต่ยังดีที่คอมพิวเตอร์สมัยนั้นมันยังไม่มีการ์ดเสียงออนบอร์ด จวบจนยุคที่มีการ์ดเสียงออนบอร์ดก็ยังคงไม่สามารถให้คุณภาพเสียงเพลงที่ออก มาได้ดีเท่าไรนัก รวมไปถึงการ์ดเสียงแยกที่ให้คุณภาพเสียงทีดีก็มีแต่ต้องแลกมาด้วยค่าตัวที่ สูง (ถ้าเทียบกับค่าครองชีพในสมัยนั้น) โดยในยุคสมัยที่จุดแตกหักจริงๆจนค่ายเพลงต้องยกเท้ามากุมขมับอย่างเห็นได้ ชัด ค่ายเพลงต่างๆรายได้ลดลงมาก จนถึงขั้นรวบรวมกิจการ ที่แย่ไปกว่านั้นก็ต้องปิดตัวเองลงไปเลย จุดเริ่มต้นมันมาจากยุคของเครื่องเล่น VCD จากจีนด้วยราคาไม่ถึงพันบาทแถมอยากได้แบรนด์ไหนก็สั่งคนขายติดหน้าเครื่อง ได้เลย ฮ่าๆ ที่ทีเด็ดมันนั้นสามารถเล่นไฟล์ MP3 และ ไฟล์เสียงดิจิตอลอื่นๆ แล้วช่วงนั้น ไดร์ฟและแผ่น CDR ถูกลง เลยทำให้มีคนหัวใส Rip ไฟล์จากแผ่นซีดีออดิโอเป็นไฟล์เพลงดิจิตอลลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ในบ้านเรายุคนั้นคงเห็นที่การนำไฟล์เพลงดิจิตอลมาอัดลงแผ่น CDR หรือ ปั๊มแผ่นขายกันเป็นเรื่องเป็นราว ใครเกิดทันยุคเพลงประเทือง ของไท ธนาวุฒิ น่าจะจำได้ดี จนพี่เสกนั้นต้องมาแต่งเพลงไม่อยากไปพันทิพย์กันเลยทีเดียว ในยุคนั้นใครเสพเพลงไฟล์ MP3 คงคุ้นเคยกันดีกับ Winamp แน่นอนที่มันมักจะแถมมาให้ในแผ่นซะเลย เพราะยุคนั้นอินเตอร์เน็ตไม่ได้เป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน ส่วนผมพวกบริโภคแผ่นซีดีแท้น้ำตาซึมกันตามเคย กว่าจะเก็บเงินซื้อซีดีแผ่นนึงได้เลือดตาแทบกระเด็น แต่สมัยนั้นส่วนตัวมีความคิดจากที่ใช้หูฟังว่า แผ่นซีดีออดิโอนั้นให้คุณภาพเสียงดีกว่าไฟล์ดิจิตอลแบบเพลงละสองสลึงแน่นอน ไม่เสียใจที่ซื้อแต่แผ่นซีดีกองเต็มห้องนอน จนเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมก็เพิ่งเข้าเข้าใจจริงๆว่าไฟล์ดิจิตอลบนคอมพิวเตอร์อันที่จริง มันมีหลากหลายประเภทพร้อมกับคุณภาพเสียงที่ดี แต่มันติดที่ข้อจำกัดว่าฮาร์ดดิสก์ราคาสูง คนทั่วไปมักจะนิยมใช้ไฟล์แบบบีบอัดแบบสูญเสียเก็บไว้บนฮาร์ดดิสก์หรือเขียน ลงแผ่นซีดีมากกว่า โดยจุดเริ่มต้นของความนิยมไฟล์เพลงดิจิตอล ที่มีทางเลือกของไฟล์คุณภาพสูงมากขึ้น นั้นหนีไม่พ้นช่วงที่ Apple ได้ออก iPod ออกมา เริ่มทำให้ค่ายเพลงนั้นมีการขายเพลงดิจิตอลกันมากขึ้น จนต่อมาเรื่อยๆที่เครื่องเล่นเพลงพกพา หรือโทรศัพท์มือถือนั้นรองรับไฟล์คุณภาพสูงอย่างที่เห็นกันได้ในทุกๆวันนี้ แถมมาถึงในยุคอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นก็เห็นได้ว่ามีผู้บริการขายเพลง แบบสตรีมมิ่ง ที่ได้รับความนิยมมาก จนถึงขั้นมีเครื่องเล่นเพลงแบบสตรีมมิ่งในระดับ Hi-End ออกมาให้ได้เห็นกันด้วยในยุคสมัยนี้
มาถึงกันกับไฟล์เพลงดิจิตอลกันจริงๆแล้วครับ หลังจากที่พาออกนอกเรื่อง เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้กันมานาน ไฟล์เพลงดิจิตอล ที่เราสามารถแบ่งออกได้อย่างเป็นทางการจะมีอยู่สามประเภทได้แก่ Lossy compressed audio format ,Lossless compressed audio format และ Uncompressed audio format ที่ตามหลักการในการนำมาเทียบประเภทของไฟล์เสียงดิจิตอลนั้น จะยึด Compact Disc Digital Audio หรือ แผ่นซีดีออดิโอ พ่อของสถาบันไฟล์เพลงดิจิตอลเป็นหลัก ที่ Bit Rates 16 Bit และ Sampling Frequencies 44100 Hz
ประเภทแรก ที่เรารู้ๆจักกันดีอยู่แล้วถ้าใครฟังเพลงไฟล์ MP3 ต้องร้องอ๋อแน่นอนครับ กับในกลุ่มพวกไฟล์ Lossy compressed audio format เรียกกันง่ายๆว่าเป็นไฟล์ที่มีการบีบอัดแบบสุดฤิทธ์สุดเดชจนสูญเสีย ที่ไฟล์ในชนิดแบบบีบอัดนี้นั้น จะตัดความซับซ้อนของความถี่เสียงออกแบบไร้เยื่อใยในจุดที่มนุษย์ไม่สามารถ ได้ยิน ซึ่งแน่นอนว่าคุณภาพของเสียงรวมไปถึงรายละเอียดที่ต้องหายไปด้วยบ้าง แต่มันมีข้อดีตรงที่ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ ซึ่งแต่ละผู้พัฒนาการเข้ารหัส Codec นั้นก็พยายามพัฒนาให้ไฟล์ชนิดที่ตัวเองคิดค้นนั้น มีความกระทัดรัดมากที่สุด โดยยังคงคุณภาพเสียงไว้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการเข้ารหัส ได้แก่ MP3 ,OGG ,AAC ,M4A ,WMA (lossy) ถ้าเทียบกับ CD Audio เมื่อ Rip เป็นไฟล์ในกลุ่ม Lossy นั้นจะประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บลงได้ประมาณ 10 เท่า (MP3 128Kbps) ก็ขึ้นกับ Bit Rates ด้วยเช่นกัน โดยไฟล์เสียงดิจิตอลในกลุ่ม Lossy จะบันทึก Bit Rates ได้สูงสุดประมาณ 320Kbps นอกจากการใช้เป็นรูปแบบการจัดเก็บไฟล์เสียงแล้ว ไฟล์ในกลุ่มนี้ยังนิยมนำไปใช้ในการสตรีมมิ่งบนอินเตอร์เน็ต ,ไฟล์เสียงในเกม ,ไฟล์เพลงที่ซื้อทางออนไลน์ รวมไปถึงแทรกเสียงในระบบดิจิตอลทีวีอีกด้วยครับ (ไม่นับการเอาไปแชร์ปล่อยให้โหลดกันฟรีๆนะครับ)
- MP3 : MPEG-1 Audio Layer III นั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1993 ซึ่งในยุคปัจจุบันที่ MP3 ยังคงเป็นไฟล์ชนิดที่ได้รับความนิยมกันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการฟังจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ,เครื่องเล่นมีเดียไฟล์ ,เครื่องเล่นพกพา หรือ สมาร์ทโฟน ถ้าเทียบกับ CD Audio เมื่อ Rip เป็นไฟล์ MP3 แบบ Bit Rates 128 kbps นั้นจะประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บลง 10 เท่า เวลาในเพลง 1นาที จะใช้พื้นที่จัดเก็บโดยประมาณ 1MB เท่านั้น โดยไฟล์ MP3 นั้นรองรับความละเอียดสูงสุด 16 Bit ,Sampling Frequencies สูงสุด 48 kHz ,Bit Rates 320 kbps ในภายหลังที่จะมี LAME encoder ออกมารองรับ Bit Rates 640 kbit/s อย่างไม่เป็นทางการ หลังจากนั้นต่อมาได้มีการปรับปรุง Codec ให้รองรับการเข้ารหัสบิทเรทแบบแปรฝันได้ ที่ยังคงทำให้คุณภาพเสียงออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยขนาดไฟล์ที่จำกัด หลายๆคนอ่านแล้วอาจะร้องยี้กับไฟล์ MP3 จริงๆแล้วถ้า Rip จากซีดีแผ่นแท้ มาการปรับแต่ง Software ในการ Rip CD ดีๆ Bit Rates ระดับ 320 kbit/s บอกเลยว่าไม่ได้เลวร้ายอะไรมากขนาดนั้น ทุกวันนี้ในรถผมนั้นก็ยังฟังไฟล์ MP3 320 kbps กันอยู่เลย เพราะมันรองรับอยู่แค่นั้นจนบางทีอารมณ์เปลี่ยวๆก็หยิบแผ่นซีดีแท้ยัดเข้าไป ตามเคย
- Vorbis : ที่เราจะเห็นได้ส่วนมากจากไฟล์นามสกุล OGG โดยไฟล์ประเภทนี้อันที่จริงนั้นเริ่มพัฒนาขึ้นมาเมื่อปี 1993 โดยองค์กรไม่แสวงกำไรที่ชื่อว่า Xiph.Org Foundation ที่จะสร้างไฟล์ที่ใช้ในการสตรีมมิ่งบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งสมัยนั้นอินเตอร์เน็ตยังไมบูมแบบทุกวันนี้ซักเท่าไร โดยหลักการทำงานของ Codec Vorbis ตัวนี้นั้นจะมีการบีบอัดที่เหนือกว่าไฟล์ MP3 ซึ่ง OGG นั้นจะใช้พื้นที่น้อยกว่าเกือบครึ่งที่คุณภาพเสียงเท่ากัน แต่ไฟล์ประเภท Vorbis นั้นเริ่มจะมาพัฒนาจริงจังเมื่อช่วงประมาณปี 1998 ที่ทางผู้พัฒนา Codec MP3 จะเรียกเก็บค่าใช้งาน ในช่วงปี 2002 นั้นเริ่มมีการนำมาใช้งานกันแล้วบ้าง ซึ่งในช่วงแรกนั้นก็เกิดปัญหากับโปรแกรมที่ใช้เล่นที่ จะต้องมาพัฒนาเพิ่มเติมให้รองรับกับไฟล์ประเภทนี้ ในบ้านเรากลุ่มที่ปั๊มแผ่นเพลงบีบอัดใส่แผ่นซีดีขายก็เคยมีการใช้ไฟล์ OGG อยู่ช่วงนึงเช่นกัน ทำให้จากเพลงละสองสลึงกลายเป็นเพลงละสลึงกว่างๆ โดยสมัยนั้นโปรแกรมฟังเพลงยอดนิยมอย่าง Winamp ยังไม่รองรับไฟล์ประเภทนี้ต้องมีการลง Plug-In เสริมด้วย ไฟล์ OGG นอกจากข้อดีที่มีขนาดเล็กเหมาะกับการไปใช้สตรีมมิ่ง ใช้เป็นไฟล์เสียงในเกมหรือโปรแกรม เท่านั้นยังไม่พอ มันยังรองรับระบบเสียงได้ตั้งแต่ Mono จนถึง 5.1 ทิศทางกันไปเลย
- WMA : Windows Media Audio นั้นได้รับการพัฒนาโดยงบริษัทไมโครซอฟต์ โดยมีการ เคลมเอาไว้ว่าไฟล์ WMA ที่ความละเอียด 64 Kbps ให้คุณภาพเสียงใกล้เคียง CD-Audio ที่ออกแบบมาเพื่อการสตรีมมิ่งกับยุคสมัย Real Audio ยังโด่งดัง จนต่อมาก็กลายมาเป็นคู่แข่งการสตรีมมิ่งของไฟล์ MP3 ถ้าเทียบกันแล้วไฟล์ WMA นั้นจะมีความสามารถบีบอัดที่เหนือกว่า MP3 โดยในการออกแบบ Codec นี้นั้นจะรองรับเทคโนโลยีการเข้ารหัส DRM เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย โดยไฟล์ WMA นั้นได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมาเป็นแบบ Lossless และ Mulit-Channels ตามมาภายหลัง
- AAC : Advanced Audio CODEC นั้นถูกพัฒนาขึ้นในยุคปี 1997 โดยมีพื้นฐานจาก MPEG-2 ที่เป็นไฟล์เสียงบีบอัดที่ได้ยอมรับกันมากในเวลานี้ โดยหลักๆแล้วนั้น AAC นั้นมีคุณภาพเสียงที่ดีกว่า MP3 ด้วยพื้นที่การจัดเก็บและความละเอียดที่ต่ำกว่า โดย AAC รองรับ Sampling Frequencies สูงสุด 96 kHz แน่นอนว่าเหนือกว่า MP3 แน่นอน รวงไปถึงการรองรับแบบ Mulit-Channels ที่ใครอาจะบอกว่าชีวิตไม่เคยฟังไฟล์เสียงจากประเภทนี้ ย้อนกลับไปถามตัวเองใหม่ ดู Youtube ไหม ดูดิจิตอลทีวีไหม นั้นแหละเทรคเสียงมันคือไฟล์ AAC ส่วนตัวมีอยู่ช่วงนึงนั้นใช้ได้ฟังเพลงจากไฟล์ AAC บน Nokia 5510 สมัยเรียนมหาลัยใหม่ๆด้วยพื้นที่เก็บไฟล์เพียงไม่กี่สิบเม็ก แต่เดินทางนานมาก ในตอนนั้นไม่ได้สนใจเรื่องระบบเสียงอะไรเท่าไรมีอะไรก็ฟังๆไป แต่ก็พอเทียบได้ว่า AAC บิทเรทที่ต่ำกว่าและประหยัดพื้นที่จัดเก็บไปครึ่งนึงเมื่อเทียบกับ MP3 แต่ได้คุณภาพเสียงเทียบเท่ากัน ผมเทียบจากการ Rip จากแผ่น CD ของแท้นะครับ ไม่ได้แปลงย้อนไปย้อนมา
- M4A : นั้นถูกพัฒนาโดย Apple ที่เป็นการนำ Codec AAC มาต่อยอดครับ โดยเพิ่มความสามารถในการเก็บ Tag เพิ่มเติมจากที่ AAC นั้นเอง โดยฟอร์เมตนี้นั้นใช้ใน iTune ซึ่งต่อมาในภายหลังได้มีการพัฒนาเป็น Apple Lossless
อันที่จริงไฟล์ประเภท Lossy นันยังมีอีกหลายชนิด แต่บางชนิดก็เสื่อมความนิยมกันไปแล้วก็มี เลิกใช้กันไปแล้วก็มี รวมไปถึงบางชนิดนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไฟล์เพลงดิจิตอลเท่าไรนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลานั้นผมจะขอข้ามไปประเภทต่อไปเลยก็แล้วกันครับ
ประเภทสอง กับไฟล์ประเภท LossLess โดยในยุคสมัยในกลุ่มคนฟังเพลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นอาจไม่ใช้งานเท่าไร นัก อย่าลืมว่าสมัยก่อนนั้นอินเตอร์เน็ตไม่ได้เร็วแบบทุกวันนี้ รวมไปถึงฮาร์ดดิสก์ที่จะเก็บข้อมูลบนเครื่องคอมที่ยังไม่จุใจมากพอแบบสมัย นี้ครับ เอาเป็นว่าตามหลักการของ LossLess นั้นจะบอกว่าไม่มีการสูญเสียข้อมูลแบบ Lossy ไฟล์ประเภท LossLess จะบอกว่ามันถูกบีบอัดไม่สูญเสียอาจสับสนเล็กน้อย พูดให้เข้าใจง่ายๆจะเป็นเหมือนกับว่าเอาไฟล์มา Zip หรือ Rar เพื่อลดพื้นที่ในการจัดเก็บ โดยตัว Codec จะมีหน้าที่ในการ Un Pack เพื่อออกมาเป็นไฟล์เสียงให้เราได้ฟัง ขนาดความจุของไฟล์แต่ละชนิดนั้นก็แตกต่างกันไปบาง แต่ขึ้นกับว่า Codec อะไร แล้วมีการปรับแต่งในการ Rip จาก CD ยังไง แต่ทุกวันนี้ LossLess น่าจะเป็นประเภทไฟล์เพลงที่ได้รับความนิยมมาก สำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องการฟังเพลงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องการคุณภาพของ เสียงเพลงที่ดี เราเราไปดูกันดีกว่าไฟล์ Lossless ที่นิยมใช้กันมีอะไรบ้าง
- FLAC : Free Lossless Audio Codec ถูกพัฒนาจากองค์กรไม่แสวงกำไรที่ชื่อว่า Xiph.Org Foundation โดย FLAC น่าจะเป็นไฟล์ Lossless ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ตั้งแต่เครื่องเล่นพกพาจนไปถึงเครื่องเสียงในรถก็รองรับไฟล์ชนิดนี้กันแล้ว ต้นกำเนิดไฟล์เกิดเมื่อปี 2001 ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการอัพเดท Codec ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วนั้นเองครับ โดยไฟล์ FLAC นั้นเมือเทียบกับไฟล์เสียงไม่บีบอัดอย่าง CD-Audio ตามหลักการนั้นจะลดการใช้พื้นที่ได้ประมาณ 50% โดยยังคงคุณภาพที่ดีอยู่ ถ้าปรับ Codec ให้เก็บรายละเอียดให้ดีที่สุด เทียบกับ CD-Audio อาจะเพียงแค่ลดลงไป 40-30% ผมก็เคยเจอ โดย Flac นั้นรองรับกันตั้งแต่ 1 - 8 Channels ที่ทางด้านความละเอียดตั้งแต่ 4 ไปถึง 32 bits ส่วน sampling rateตั้งแต่ 1 Hz จนถึง 655 kHz
- APE : Monkey's Audio มีต้นกำเนิดเมื่อปี 2000 โดยมีการอัพเดทล่าสุดของ Codec เมื่อต้นปี 2015 นี่เอง ลักษณ์ของการ Pack ไฟล์ที่สามารถประหยัดพื้นที่กว่า FLAC พอสมควรที่คุณภาพเท่ากัน แต่ไฟล์ชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก แต่จะมีพวกเครื่องเล่นเพลงพกพาคุณภาพสูงที่มีการรองรับไฟล์นี้บ้าง โดยหลักๆที่เคยลอง Rip CD มาเป็น APE พบว่าขนาดไฟล์ที่ยัดในเครื่องเล่นพกพานั้น APE จะใหญ่กว่า MP3 คุณภาพสูงไม่มากนัก แต่จะเล็กกว่า FLAC ที่ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการแบกไฟล์ในเครื่องเล่นพกพาไปได้เยอะ
- M4A : Apple Lossless Audio Codec (ALAC) หรือ Apple Lossless Encoder (ALE) ตามชื่อคงจะพอทราบได้ว่ามันถูกพัฒนาจาก Apple แน่นอนครับ กำเนิดขึ้นเมื่อปี 2004 มีการอัพเดท Codec ล่าสุดเมื่อปี 2011 เริ่มแรกนั้นถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับ iDevice ยังไม่รองรับกับ Mac OS ในช่วงแรก แต่พวก iDevice นั้นก็ต้องใช้ iTune จัดการอยู่ดี โดยรูปแบบของไฟล์ที่ยังคงใช้โครงสร้างของ MP4 กันตั้งแต่ 1 - 8 Channels ที่ทางด้านความละเอียดตั้งแต่ ตั้งแต่ 16 จนไปถึง 32 bits ส่วน sampling rate สูงสุด 384 kHz โดยพื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์ชนิดนี้เมื่อเทียบกับ CD-Audio นั้นจะลดการใช้พื้นที่ลงได้ 40-60% กันเลยทีเดียว
สำหรับไฟล์เพลงประเภทกลุ่ม LossLess โดยหลักการหลักๆนั้นจะเป็นไฟล์บีบอัดที่ไม่สูญเสีย โดยยังมีไฟล์อีกบางประเภทที่ผมไม่พูดถึงไปบ้างอย่างเช่น WMA Lossless หรือ WavPack ให้เขียนไปดูแล้วไม่ได้ต่างจากเดิม เพราะหลักการมันไม่ต่างๆกันขึ้นกับว่า Codec ใครจะออกแบบมายังไง รวมไปถึงอุปกรณ์ฟังเพลงพกพาที่จะใส่ Hardware ถอดรหัสไฟล์ชนิดไหนได้บ้างเท่านั้นครับ โดยการแปลงไฟล์ในกลุ่ม Lossless มาเป็น Lossless นั้นสามารถที่ทำได้ตามการความต้องการนำไปใช้งาน แต่การแปลงจาก Lossy มาเป็น Lossless นั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเท่าไรนัก คุณภาพเสียงที่โดนตัดไปแล้วมันก็ไม่สามารถกลับขึ้นมาได้ แถมยังเปลืองพื้นที่จัดเก็บเสียอีก ถ้าเทียบกับการทำภาพก็เหมือนเอาไฟล์ภาพจาก BMP 24 Bit แปลงเป็น Jpg 50% แล้วจะคิดแปลงกลับไปเป็น BMP 24 Bit อีกรอบ ซึ่งในกรณีการแปลงไฟล์ในกลุ่ม Lossy เป็น Lossy ด้วยกันนี่อาจเกิดลักษณ์เสียงเพลงออกมาฟังแล้วมั่วซั่วไปหมดก็เคยเจอจากที่ ผมได้ลองมานานแล้ว กับการแปลง MP3 128 Kbps ไปเป็น OGG 64 Kbps อย่างเช่นการแปลงกลับไปกลับมาของภาพในกลุ่ม PNG 64-256 ,Jpg ,BMP บางทีแปลงไปนี่ภาพดูไม่รู้เรื่องเลยก็มีครับ
ประเภทสุดท้าย กับไฟล์ประเภท Uncompressed audio format ตามชื่อเลยครับกับไฟล์ประเภทที่ไม่มีการบีบอัดไม่มีการสูญเสียใดๆทั้งสิ้น โดยไฟล์ประเภทนี้แน่นอนว่าจะมีขนาดใหญ่โตแน่นอนไม่ต้องสงสัย หลายๆคนอาจะสงสัยว่าการฟังเพลงนั้นมีการเกี่ยวข้องกับไฟล์ที่ไม่มีการสูญ เสียด้วยหรือ แน่นอนครับเกี่ยวข้อแน่นอน จากที่ทราบกันไปแล้วว่าไฟล์เพลงแต่ละชนิดทั้งแบบ Lossless และ Lossy นั้นจะมีการอ้างอิงจาก CD-Audio แต่จริงๆ CD-Audio มันคือไฟล์เสียงแบบ PCM นั้นเอง ซึ่งเริ่มต้นไปทำความรู้จักกับไฟล์ประเภทไม่สูญเสีย ไม่บีบอัด เราต้องไปทำความรู้จักกับ PCM กันก่อนครับ เพราะว่าไฟล์แต่ละชนิดมันก็คือรูปแบบการจัดเก็บ ส่วนรูปแบบการบันทึกเสียงจากอนาล๊อกมาสู่ดิจิตอลที่ใช้เป็นมาตรฐานยังคงเป็น PCM อยู่ครับ
Uncompressed audio format : Part 1
- PCM : Pulse-code modulation นั้นถ้าว่ากันง่ายๆเป็นรูปแบบการบันทึกเสียงอนาล๊อกมาเข้ารหัสสู่ไฟล์ ดิจิตอล ที่มีการเริ่มต้นคิดค้นมาตั้งแต่สมัยปี 1853 จะใช้ในการส่งสัญญาณเสียงผ่านสายก็มีการใช้งานต่างๆนาๆกันไป แต่จุดเริ่มต้นของวงการเพลงที่ใช้การเข้ารหัสแบบ LPCM ซึ่งนั้นก็คือ CD-Audio ในปี 1982 จนจวบมาถึงในยุคของ DVD ในปี 1995 และ Blu-Ray ในปี 2006 ซึ่งในการ bitstream ข้อมูลเสียง Dolby E ,Dolby AC3 ,DTS ,MPEG Audio มันจะทำการส่งไปทำการถอดรหัสเหมือนกับว่าเป็น PCM ก็คงไม่ต้องสงสัยอะไรมากทำไมพวกชิพ DAC ,D/A หรือ Digital Analog Converter มักจะใช้สเปคที่อ้างอิงความสามารถแปลงเสียงดิจิตอลเป็นอนาล๊อก ที่ PCM ความละเอียดและความถี่เท่าไร ส่วนความสามารถในการบันทึกสูงสุดของ PCM ในยุคนี้ที่ความละเอียด 32Bit และ sampling rate 384 Hz
- CD Audio : Compact Disc Digital Audio (CDDA หรือ CD-DA) พัฒนาโดย Philips และ Sony โดยมาตรฐานนี้ได้ถูกเขียนลงในหนังสือ Red Book จากชุดหนังสือ Rainbow Books (มาจากแสงทะท้อนของแผ่นซีดี) ในปี 1980 จนเป็นรูปเป็นร่างกำหนดเป็นมาตรฐานกันจริงๆในปี 1987 ด้วยสัญญาณเสียงแบบสองทิศทางหรือสเตริโอ ที่ความละเอียด 16Bits พร้อม sampling rate 44,100 Hz หรือ 44.1 kHz โดยตามหลักการแล้วแผ่น CD Audio นั้นไม่สามารถเล่นกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ เมื่อเอามาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วจะพบเจอกับไฟล์นามสกุล CDA ที่เมื่อคัดลอกมาเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์โดยตรงจะทำอะไรไม่ได้ ต้องทำการแปลงไฟล์เสียง WAVE กันก่อน ถ้าพูดให้เข้าใจกับสมัยนี้ต้อง Rip CD ลงคอมพิวเตอร์กันก่อน โดยขนาดความจุของ CD-Audio หนึ่งแผ่นจะอยู่ที่ประมาณ 80 นาที บนความจุแผ่น 700MB ที่ภายหลังมีการพัฒนาความจุแผ่นซีดีและรูปแบบการเขียนแผ่นที่ทำให้ได้เวลา เพิ่มขึ้นต่อหนึ่งแผ่น
- HDCD : High Definition Compatible Digital มาตรฐานถูกกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1995 โดยบริษัท Pacific Microsonics แต่แล้วก็ถูกไมโครซอร์ฟซื้อไปในปี 2000 โดยหลักการง่ายๆเลยครับแผ่นซีดีเพลงมาตรฐานนี้จากเดิมที่มีความละเอียด 16 Bit นั้นจะถูกอัพตัวเองให้ไปอยู่ที่ความละเอียด 20 Bit แต่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้งานร่วมกับเครื่องเล่น CD หรือ DVD ที่ภาค DAC ต้องรองรับกับ HDCD อีกด้วยครับ บนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นสามารถใช้ Windows Media Player ในการเปิดเล่นแผ่น HDCD ได้ครับ เท่าที่ผมจำไม่ผิดมันจะมีโลโก้ HDCD แสดงขึ้นมาด้วย แต่มาตรฐานนี้อายุสั้นมาก ทาง Microsoft ได้ปิดเว็บ HDCD ลงไปเมื่อปี 2005
- XRCD : eXtended Resolution Compact Disc มาตรฐานนนี้ถูกสร้างโดยบริษัท JVC ไม่ได้เป็นการบันทึกเสียงใหม่ แต่เป็นการนำ Master Tape มาทำการรีมาสเตอร์ใหม่ให้มีความละเอียด 24 Bit สำหรับแผ่น XRCD24 หรือ 20 Bit สำหรับแผ่น XRCD2 ปั๊มลงแผ่นแผ่นซีดี โดยมีข้อจำกัดต้องใช้กับเครื่องเล่น DVD ที่มีเทคโนโลยี K2 laser ถ้าเอา XRCD ไปใช้กับเครื่องเล่นที่ไม่รองรับ ก็จะโดนลดลงมาเหลือ 16 Bit เท่านั้นเอง ความคิดเห็นส่วนตัว XRCD นั้นถูกสร้างมาเพื่อเอาใจคนญี่ปุ่นที่ต้องการของคุณภาพสุดๆที่เหนือกว่า มาตรฐานทั่วไป แผ่นเพลงนั้นไม่ได้มีแผ่นเพลงให้เลือกมากมาย ส่วนมากจะเป็นนักร้องดังยอดนิยมเท่านั้น
- DVD-Audio : เป็นฟอร์แมตที่ออกมาเพื่อต่อกรอย่างทันควันกับ SACD ในปี 2000 ที่ DVD-Audio นั้นจะเป็นใช้เสียงมาตรฐาน PCM โดย DVD-Audio นั้นในรูปแบบสเตริโอนั้นรองรับได้ความละเอียดสูงสุด 24 Bit ที่ sampling rate 192 kHz ส่วน DVD-Audio ในรูปแบบ 5.1 ทิศทางจะลงมาเหลือที่ sampling rate 96 kHz แต่อย่างไรก็ตาม DVD-Audio นั้นได้หายไปจากตลาดตั้งแต่ปี 2007
- Blu-ray Audio : High Fidelity Pure Audio (BD-A) เริ่มทำการตลาดโดย Universal Music Group เพื่อสืบทอดจาก DVD-Audio ให้มาต่อกรกับ SACD โดยรองรับได้ความละเอียดสูงสุด 24 Bit ที่ sampling rate 192 kHz
- WAV : Waveform Audio File Format ถูกพัฒนาขึ้นโดย Microsoft และ IBM กำเนิดขึ้นเมื่อปี 1991 ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นไฟล์เสียงสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ PC ที่มีข้อดีอย่างหาที่สุดไม่ได้ด้วยการรองรับการบันทึกไฟล์ได้ครอบคลุมความ ละเอียดและความถี่ทั้งหมด ตามหลักการนั้นรองรับ sampling rate ได้ตั้งแต่ 1 Hz ถึง 4.3 Ghz เรียกได้ว่าบันทึกในจุดที่คนเราไม่สามารถได้ยินได้ โดยอย่างไรก็ตาม WAV ในยุคแรกนั้นมีข้อจำกัดที่มีขนาดไฟล์ได้สูงสุด 4GB ในยุคแรก แต่เพียงแค่นี้ก็สามารถบันทึกไฟล์เสียงคุณภาพเท่ากับ CD Audio ได้สูงถึง 6.8 ชั่วโมงแล้ว โดยภายหลังที่ Windows ปัญหาข้อจำกัดความจุก็หมดไป โดยภายหลักนั้นยังมีการอัพเดทให้ WAV รองรับการเก็บไฟล์เสียงหลายทิศทางเพิ่มเติมได้ด้วย โดยมีการอัพเดท Codec ล่าสุดปี 2007
- AIFF : Audio Interchange File Format เป็นมาตรฐานที่พัฒนาโดย Apple ในปี 1988 มีการอัพเดทล่าสุดก็ตอนปี 1991 เท่านั้นเองครับ โดย AIFF นั้นถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานบน Apple Macintosh บนพื้นฐานของ Interchange File Format (IFF) โดย Electronic Arts ที่กำเนิดขึ่นในปี 1985 จะว่าไปแล้ว AIFF กับ WAV นั้นก็ไม่ได้มีพื้นฐานอะไรแตกต่างกัน เพราะทั้งสองชนิดได้มีพื้นฐานในการพัฒนาจาก Interchange File Format (IFF) เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงปีที่กำเนิดและการใช้งานบน OS ที่แตกต่างกันเท่านั้น
Uncompressed audio format : Part 2
- DSD : Direct Stream Digital เครื่องหมายการค้าของ Sony and Philips ในปี 2005 เพื่อก่อกำเนิดฟอร์แมตใหม่อย่าง SACD โดยสำหรับเทคนิคการบันทึกเสียงแบบ DSD ได้เริ่มต้นมีการคิดค้นหลักการมาตั้งแต่ปี 1954 สำหรับ DSD จะใช้เทคนิคการบันทึกเสียงแล้วเข้ารหัสในรูปแบบ PDM หรือ Pulse-density modulation ที่สามารถทำให้บันทึกเสียงออกมาให้ได้รายละเอียดใกล้เคียงกับระบบอนาล๊อกมาก ที่สุด พร้อมกับไม่มีข้อจำกัดของความถี่มาขวางกั้นเอาไว้ โดย DSD แบบพื้นฐานเริ่มต้นด้วย 1Bit ที่ sampling rate 2.8224 MHz จะมีค่า sampling rate เป็น 64 เท่าของ CD-Audio โดยล่าสุดมีการพัฒนาไปถึง Octuple-rate DSD x8 ,DSD 22.5792 MHz หรือ DSD512 (512 เท่าของ CD Audio) ซึ่งบนเครื่องคอมพิวเตอร์และซอร์ฟแวร์นั้นรองรับการเล่นไฟล์ DSD512 กันแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดของ Hardware อยู่บ้างที่ยังไม่ได้รองรับ Native DSD512 กันทั้งหมด ที่เราจะเห็นได้ส่วนมากจะเป็น DSD 2.8 Mhz ( DSD x1 ,DSD64) และ DSD 5.6 Mhz (DSD x2 ,DSD128) ในตลาดที่เราจะเห็นกับ USB DAC ที่ใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์
- SACD : Super Audio CD พัฒนาโดย Philips และ Sony (อีกแล้ว) ในปี 1999 เพื่อพลักดันมาตรฐานใหม่ของสื่อบันทึกเพลงคุณภาพสูง โดย SACD ได้ลืมตาดูโลกครั้งแรกเมื่อปี 2007 โดยพื้นฐานของแผ่น SACD นั้นก็คือแผ่น DVD ที่จะมีสามรูปแบบคือ Hybrid ที่จะเป็นแผ่นสองชั้น DVD กับ CD ให้รองรับกับเครื่องเล่น CD-Audio ได้ด้วย ,Single-layer ความจุแบบมาตรฐานที่ 4.7 GB ,Dual-layer ก็คือ DVD9 นั้นแหละที่ความจุ 8.5 GB เมื่อนำ CD และ SACD มาเทียบกับก็จะเห็นความแตกต่างได้ดังนี้
ความจุแผ่น : CD 700MB / SACD 4.7GB (Single-Layer)
การเข้ารหัส : CD 16 Bit PCM / SACD 1 Bit DSD
Sampling .: CD 44.1 kHz / SACD 2.8224 MHz
Channels .: CD 2 (Stereo) / SACD สูงสุด 6 (5.1 surround)
Playback ..: CD 80 นาที / SACD 256 นาที 2 Channels (Stereo)
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า SACD นั้นได้บันทึกไฟล์เสียงที่ได้รับการบันทึกจากการเข้ารหัส DSD x1 2.8224 MHz แต่เดี๋ยวก่อน SACD นั้นถ้าลองย้อนดูดีๆส่วนมากมันไม่ใช่เพลงสมัยใหม่อะไรนัก ซึ่งมันก็เป็นการนำมาสเตอร์เทปคุณภาพสูงมาบันทึกใหม่เป็น DSD ส่วนบางอันที่มาสเตอร์เทปคุณภาพบันทึกไม่ดีหรืออะไรก็ตาม เป็นไปได้กับการนำมาสเตอร์ PCM อาจจะมีการรีมาสเตอร์มาเป็น DXD (PCM 24-32 Bit ,Sampling 352.8 kHz) กันก่อน แล้วค่อยมาบันทึกใหม่เป็น DSD ซึ่งในเพลงสมัยใหม่อาจมีการใช้มาสเตอร์จาก DSD แท้ๆกันบ้างแล้ว แต่ในอนาคตไม่ต้องห่วงถ้าเกิดระบบห้องอัดเสียงนั้นเปลี่ยนมาใช้ DSD กันหมด SACD คงเป็นสื่อที่ให้คุณภาพเสียงได้ดีที่สุดแล้ว แต่เดี๋ยวก่อนนะครับ ไม่ใช่พออ่านแล้วเข้าใจว่า SACD ใช้แผ่น DVD เป็นสื่อบันทึก เห็นที่บ้านมีเครื่อง DVD อยู่แล้วก็เลยไปซื้อแผ่น SACD มาฟัง แผ่น SACD นั้นรองรับแต่การใช้งานร่วมกับเครื่องเล่น SACD เท่านั้นเป็นหลัก แต่ก็มีเครื่อง Blu-Ray บางรุ่นที่ใจดีรองรับ SACD ก็มี แต่คุณภาพเสียงนั้นอาจไม่สุดเท่ากับเครื่องเล่น SACD แท้ๆ แต่ถ้าใครคิดว่าอยากจะมีแผ่น SACD ไว้เท่ห์ๆในห้องฟังเพลงแต่ไม่มีเครื่องเล่น SACD ก็ซื้อแผ่น Hybrid มาเล่นกับเครื่องเล่น CD DVD หรือ BD ที่ไม่รองรับก็ยังได้ แต่คุณภาพเสียงมันก็คือ CD-Audio ครับ
ที่มารูปภาพ : http://www.merging.com/products/pyramix/dsd-dxd
PCM VS. DSD
การนำไฟล์ดิจิตอลที่ได้รับการบันทึกเข้ารหัสรูปแบบ PCM และ DSD นั้นมีการเถียงมาตลอด รวมไปถึงการเปรียบเทียบว่าระหว่าง PCM และ DSD ใครให้คุณภาพเสียงและเก็บรายละเอียดได้ดีกว่ากัน ซึ่งถ้าจะถามว่า DSD นั้นมีความละเอียดกี่บิตนั้นคงบอกยาก เพราะว่า DSD มีการเข้ารหัสเสียง PDM หรือ Pulse-density modulation รูปแบบ sigma-delta modulation ที่ส่งผลให้สามารถเข้ารหัสสัญญาณเสียงจากอนาล๊อกมาสู่ดิจิตอลได้ความถี่ ระดับอัลตราโซนิก ที่ PCM นั้นไม่สามารถบันทึกและเข้ารหัสมาสู่ไฟล์ดิจิตอลได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันสามารถบันทึกรายละเอียดเสียงได้ออกมาเทียบเท่ากับอนาล๊อก ได้อย่างแน่นอน ถ้าถามความแตกต่างระหว่างของ DSD และ PCM นั้นเอากันง่ายๆดูจากภาพด้านบนแล้วลองมองดูดีๆละกันว่า DSD และ PCM 48 kHz ,96 kHz ,192 kHz เมื่อเอาไปเทียบกับอนาล๊อกแล้วอะไรนั้นทำได้ใกล้เคียงกับอนาล๊อกมากที่สุด ตัดสินใจได้ไม่ยากครับ
พื้นที่การจัดเก็บไฟล์ดิจิตอลนั้น เป็นอีกเรื่องที่ผู้ที่ฟังเพลงไฟล์ดิจิตอลเป็นความละเอียดสูงนั้นมีความ กังวลพอสมควรครับ ใครที่เล่นไฟล์ RIP ISO จาก SACD นั้นคงจะพอทราบกันดีกว่าจาก CD Audio เมื่อถอดลงคอมพิวเตอร์เป็นไฟล์ ISO ให้ตายยังไงก็ไม่เกิน 700MB แต่ถ้าเทียบกับ SACD ที่ถอดลงคอมพิวเตอร์มาเป็น ISO ต่อให้เป็นเพลงชุดเดียวกัน ขนาดไฟล์นั้นใหญ่ระดับ 2-4.7 GB กันเลยทีเดียว แต่ถ้าเรามองเทียบดีๆละกัน สมมุติว่ามีไฟล์เสียงเข้ารหัส PCM แบบความละเอียด 16 Bit แซมปริ้ง 192 kHz บนพื้นที่ความจุ 1GB สามารถบันทึกได้เพียง 21 นาที แต่ถ้าเอามาเทียบกับไฟล์เสียงเข้ารหัส DSD 2.8 Mhz บนพื้นที่ความจุ 1GB เท่ากันมันยังสามารถบันทึกได้ 22 นาที ซึ่ง DSD 2.8 Mhz นั้นสามารถบันทึกแซมปริ้งได้สูงกว่า CD-Audio (16Bit 44.1 kHz) 64 เท่า แล้ว ซึ่งถ้าเกิดเป็น PCM 352.8 kHz ในระดับ DXD แน่นอนว่าไฟล์ใหญ่โตกว่า DSD แน่นอน โดยตรางเปรียบเทียบนั้นผมได้ยกมาจาก TASCAM DA-3000 Stereo Master Recorder ที่รองรับการบันทึกไฟล์เสียงแบบเข้ารหัส PCM และ DSD ครับ
Conclusion !
บทสรุปแบบไม่มีบทสรุป สำหรับวันนี้คงจะได้รู้กับไฟล์เพลงดิจิตอลไม่มากก็ไม่น้อยเท่าไร ซึ่งทุกวันนี้การเล่นไฟล์เพลงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องมาเสียเวลายกอาร์มของเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ คอยเปลี่ยนแผ่นซีดี การเล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์ที่ผู้ฟังสามารถจัดรายการเพลงได้ตามความชอบ แล้วก็ยังสามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือเทปเล็ตสั่งการได้สะดวกจริงๆ เรียกว่าตื่นมากดเปิดคอม เปิดโปรแกรมฟังเพลงปิดจอคอมแล้วกระโดดขึ้นเตียง ก็มีความสุขในการฟังเพลงได้แบบนอนขี้เกลียดทั้งวันในวันหยุดได้เลย ที่สำคัญการฟังเพลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยนี้ ที่ยังมีอุปกรณ์ทางด้านระบบเสียง ที่ช่วยทำให้การเล่นไฟล์ดิจิตอลแปลงกลับมาเป็นเสียงอนาล๊อกที่เราได้ยิน ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นพร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้การฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์มีคุณภาพแบบสุดๆ เรียกว่ามีเงินเท่าไรก็ไม่พอ ถ้าไม่มีความพอดีครับ ในวันนี้ผมอาจไม่ได้เขียนตามหลักการวิศวกรรมทางด้านเสียงซักเท่าไร อะไรที่มันเข้าใจยากก็พยายามจะเขียนให้มันเข้าใจได้ง่ายที่สุดกับคนทั่วไป สำหรับวันนี้ผมก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ _/|_