ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร การเลียอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือว่า Gadget ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะทำซักเท่าไหร่ .. ยกเว้นว่าคุณจะเป็นนักวิจัยจากมหาลัย Meiji University จากประเทศญี่ปุ่น ที่เพิ่งคิดค้นอุปกรณ์ Taste Display ซึ่งจะทำหน้าที่จำลองรสขาติของอะไรก็ได้ โดยหลักการก็คือกระตุ้นประสาทสัมผัสบนลิ้นของมนุษย์เรานั่นเอง
ก่อนหน้านี้ เราก็น่าจะเคยได้ยินว่าลิ้นของคนเรานั้นมีจุดรับรสชาติหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น หวาน เค็ม เปรี้ยว หรือขม โดยการรับรู้รสชาตินั้นขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของต่อมรับรส .. แต่ล่าสุดเราก็ได้รู้ข้อมูลใหม่มาว่า ต่อมรับรสนั้นมีการกระจายออกไปอย่างทั่วๆมากกว่า รวมไปถึงมีรสชาติใหม่ที่เรียกกันว่ารส "อูมามิ" เพิ่มเติมเข้ามาด้วย ซึ่งไอ้เจ้ารส อูมามิ เนี่ยมันจะเป็นเหมือนตัวกำหนดว่าเราจะรู้สึกดีกับอาหารที่เรากินมากน้อยแค่ไหน
การที่เรายิ่งเข้าใจหลักการทำงานของลิ้น ก็เป็นผลดีกับงานวิจัยของนาย Homei Miyashita กับ Taste Display ที่เขาตั้งชื่อว่า Norimaki Synthesizer .. โดยแรงบันดาลใจของมันก็คล้ายๆกับจอแสดงผลมาตรฐานนั่นแหละครับ คือหน้าที่ของจอแสดงผลทั่วๆไปก็คือ จำลองและแสดงภาพออกมา เพื่อหลอกให้ตาเราเห็นเป็นสิ่งของต่างๆ โดยการใช้ Microscopic Pixel ที่รวมขึ้นจากสีแดง เขียว และน้ำเงิน .. เครื่อง Taste Display นี้ก็ใช้หลักการหลอกร่างกายเราเหมือนกัน แต่จะเป็นการหลอกที่ลิ้นแทนเท่านั้น
จริงๆแล้วเครื่องจำลองรสชาตินี้ก็ไม่ใช่คอนเซ็ปต์อะไรที่ใหม่มากมาย ก่อนหน้านี้มีคนพยายามทำมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการจำลองรสชาติแต่ละประเภทมากกว่า อย่างเช่นเพิ่มรสชาติเค็มโดยไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มเกลือ เพียงแค่เครื่อง Norimaki Synthesizer นั้นจะมีการกระตุ้นต่อมรับรสทั้ง 5 พร้อมๆกัน
บริเวณที่สัมผัสกับลิ้นเราจะมี Gel ที่ผลิตมาจากสาหร่ายทะเล โดยจะใช้ Glycine เพื่อสร้างรสหวาน, Citric Acid เพื่อสร้างความเป็นกรด (เปรี้ยว), Sodium Choride เพื่อรสเค็ม, Magnesium Chloride เพื่อรสขม และ Glumatic Sodium เพื่อให้ความรู้สึกอูมามิ
เมื่อผู้ใช้งานวางอุปกรณ์นี้ลงบนลิ้น ก็จะรู้สึกถึงรสชาติทั้ง 5 ประเภทพร้อมๆกัน โดยการระบุรสชาติของอาหารที่จำลองขึ้นมานั้น ก็จะมีการปรับอย่างเช่น หวานนิด เค็มหน่อย ขมน้อย หรือมาก จนกระทั่งมันใกล้เคียงกับรสชาติของสิ่งทีต้องการจำลองนั่นเอง .. เปรียบเสมือนเวลาที่เรามองจอคอมพิวเตอร์ เม็ด Pixel RGB ก็จะมีการเร่งและหรี่แต่ละสี เพื่อให้รวมออกมาเป็นภาพบนหน้าจอนั่นแหละครับ / รอบๆตัวของ Norimaki Synthesizer ก็จะถูกพันด้วยฟอยล์ทองแดง และเมื่อเวลาผู้ใช้จับมัน และแตะอีกด้านนึงกับลิ้น ก็จะเป็นการครบรอบ Circuit ให้ไฟเดินได้ ตาม Process ที่เรียกว่า Electrophoresis
อย่างไรก็ตามโปรดักส์นี้ก็ยังถือว่าเป็น Prototype และยังไม่พร้อมให้นำไปใช้กันจริงๆ เนื่องด้วยขนาดที่ใหญ่ .. แต่ในอนาคตก็คาดว่าจะมีการทำให้เล็กลงได้ จนมีขนาดเท่าบุหรี่ไฟฟ้า ที่ผู้ใช้งานสามารถพกพาไปที่ไหนก็ได้ ทีนี้และครับ จะเป็นประโยชน์มากๆเพราะเราสามารถจำลองรสชาติของอาหารที่เราอยากกินได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพเลย อยากกินช๊อคโกแลตก็กินได้ไม่ต้องกลัวอ้วนเลยหล่ะ
ข้อมูล : Gizmodo