ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสข่าวเรื่อง SSD ราคาถูกได้กลายเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ว่ามันดีจริงหรือไม่ แล้วเทคโนโลยี QLC ที่มีอยู่ใน SSD ราคาประหยัดเหล่านั้นมันแตกต่างจาก MLC หรือ TLC ใน SSD ส่วนใหญ่ในปัจจุบันอย่างไร ไปหาคำตอบกันครับ
ความจริงแล้วราคาที่ลดต่ำลงของ SSD ส่วนหนึ่งคือกลไกตลาดตามอุปสงค์และอุปทาน เมื่อมีการผลิต SSD จำนวนมากเพื่อป้อนตลาดผู้ใช้งานทั่วไปที่ขยายตัวมากขึ้น ต้นทุนก็ต่ำลง ทำให้ราคาขายถูกลงได้ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวโน้มของราคา SSD ลดลงแบบก้าวกระโดนชัดเจนเมื่อเทียบกับความจุที่ได้รับมากขึ้น ก็คือการมาถึงของเทคโนโลยีที่เรียกว่า QLC (Quad-Level Cell) ที่เรากำลังจะพูดถึงในครั้งนี้นั่นเอง
สำหรับใครที่คิดว่ายังไม่รู้จักดีพอ ลองไปอ่านบทความนี้ “15 เรื่องของ SSD ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้” กันก่อนได้ครับ
ทำความรู้จักชนิดของ NAND-Flash ก่อนจะเป็น QLC
แม้ SSD จะมีข้อดีคือมีอัตราการอ่าน-เขียนข้อมูลที่รวดเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กหลายเท่า แต่ข้อจำกัดที่ทำให้หลายคนลังเลที่จะเปลี่ยนมาใช้คือ ”ความจุ” ที่โดยส่วนใหญ่มักจะมีให้เลือกระหว่าง 64-250GB โดยข้อแม้สำคัญคือพอจะจ่ายไหว เพราะ SSD ในยุคแรกๆ จะใช้เทคโนโลยีการเรียงเซลล์หน่วยความจำ NAND Flash แบบ SLC (Single-Level Cell) ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด คือมีอัตราการอ่าน-เขียนได้เร็วที่สุดเพราะแต่ละเซลจะเก็บข้อมูลได้เพียง 1 บิต และสามารถบันทึกซ้ำได้มากที่สุด (P/E ประมาณ 100,000 รอบ) ซึ่ง SSD ชนิดนี้จะมีราคาแพงมาก และสงวนไว้สำหรับผู้ใช้งานระดับมืออาชีพเท่านั้น
ต่อมามีการพัฒนาเทคโนโลยีการเรียงเซลล์หน่วยความจำ NAND แบบ MLC (Multi-Level Cell) ที่ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพ และราคาต่อความจุที่ถูกลง ราคาพอจับต้องได้ โดยแต่ะเซลจะสามารถเก็บข้อมูลได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 บิต แต่ความเร็วในการอ่านเขียนและความสามารถในการบันทึกซ้ำก็จะลดลงไปด้วย (P/E ประมาณ 3,000 -10,000 รอบ)
ถัดจาก MLC เทคโนโลยี NAND ยังถูกพัฒนาต่อเป็น TLC (Triple-Level Cell) หรือสามารถเก็บข้อมูลได้ 8 บิต/เซล โดย SSD ที่ใช้เทคโนโลยีนี้จะเน้นเรื่องความประหยัด เหมาะสำหรับใช้งานทั่วไป ในขณะที่รวามเร็วในการอ่านเขียนอยู่ในระดับพอใช้ (แต่ก็ยังเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์ปกติอยู่ดี) แต่ก็ต้องแลกกับความสามารถในการบันทึกข้อมูลซ้ำได้เพียง 500-1,000 รอบ
แล้ว QLC ดีไหม เหมาะกับการใช้งานประเภทใด
เทคโนโลยี Quad-Level Cell (QLC) เป็นการเรียงเซลล์หน่วยความจำ NAND แบบ 4 เลเยอร์ คือ 1 เซลเก็บข้อมูลได้ 4 บิต (0000 ถึง 1111) ดังนั้นความจุจึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าในราคาถูกกว่าเดิมมาก ความเร็วใกล้เคียงกับ TLC แถมยังกินพลังงานน้อยลงมาเมื่อเทียบกับฮาร์ดดิสก์ความจุเท่ากัน (อ่านข่าว -> SSD แบบ QLC ราคาถูกตัวใหม่ Samsung 860 QVO ราคาเบามาก 1TB แค่สี่พันกลางๆ)
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของ QLC ที่ต้องรู้ไว้เลยก็คือประสิทธิภาพในการอ่าน-เขียนจะลดต่ำลงมาก หมายความว่าความสามารถในการเขียนข้อมูลซ้ำในเซลเดิมจะทำได้น้อยลงหลายเท่าเมื่อเทียบกับ TLC โดยการคาดเดาของผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศระบุว่า SSD แบบ QLC อาจเขียนข้อมูลซ้ำ (P/E) ในแต่ละเซลได้เพียง 150 รอบเ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะทางผู้ผลิตทั้งหลายได้สรรหาเทคนิคและวิธีการที่จะทำให้แต่ละเซลถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่างเช่นไดรฟ์ SSD แบบ QLC รุ่น 860QVO ของ Samsung ที่ระบุว่ามีค่า Endurance โดยรวมได้ถึง 1,440TB ซึ่งถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว
ทั้งหมดทั้งปวง ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีดังที่กล่าวมา ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ SSD แบบ QLC จึงควรพิจารณาวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้งาน เพราะโดยหลักการแล้วมันถูกออกแบบมาเพื่องานประเภทที่เขียนข้อมูลน้อย แต่อ่านข้อมูลมาก (Write Once, Ready Many) เช่น บริษัทหรืออุตสหกรรมใหญ่ๆ ที่ต้องจัดการกับ Big Data และเคยใช้ฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนประสิทธิภาพสูงสำหรับจัดเก็บข้อมูลแบ็กอัพ QLC จะเข้ามาตอบโจทย์ด้านราคาและความจุได้เป็นอย่างดี และแบบ 15K และ 10K จะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป?
หากต้องการนำ QLC SSD มาใช้เป็นไดรฟ์หลักสำหรับติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ อาจต้องพิจารณารูปแบบการใช้งานเป็นอันดับแรก หากใช้งานพื้นฐานทั่วไป ใช้งานวันละไม่กี่ชั่วโมง ไม่ลบและติดตั้งโปรแกรมใหม่บ่อยๆ QLC ก็อาจสามารถตอบโจทย์ในเรื่องประสิทธิภาพและราคาได้ และจะยิ่งเหมาะมากถ้านำไปใช้เป็นไดรฟ์เก็บข้อมูลรูปภาพ เพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ แต่ถ้าคุณเป็นผู้ใช้งานตัวยง ชอบทดลองโปรแกรมใหม่ๆ ชอบเล่นเกม ใช้โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ ตกแต่งรูปภาพ เป็นกิจวัตร QLC ก็ไม่น่าจะใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม
หาซื้อ SSD QLC ได้ที่ไหน?
ปัจจุบันมีผู้ผลิตชิปหน่วยความจำที่ประกาศว่าจะพัฒนา SSD แบบ QLC ออกสู่ตลาดหลายราย โดย Toshiba และ WD ได้ทำการเปิดตัว QLC บนพื้นฐานของ 3D-NAND 64 เลเยอร์โดยการใช้เทคโนโลยี BiCS (Bit Cost Scaling) ทำให้ Die พื้นฐานขนาด 96GB สามารถใช้งานได้ถึง 1.5TB ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะสามารถลดขนาดการผลิตลงจนสามารถเพิ่มเลเยอร์ได้ถึง 96 เลเยอร์โดยที่ความจุนั้นสามารถสูงได้ถึง 42TB เลยทีเดียว
ในขณะที่ Samsung ที่เพิ่งเปิดเผย SSD ขนาด 4TB ราคาประหยัดจะใช้ V-NAND ขนาด 1TB เป็นพื้นฐาน และเสริมด้วยเทคโนโลยี TurboWrite ที่ทำให้อัตราการอ่าน-เขียนข้อมูลรวดเร็วไม่ด้อยไปกว่า SSD แบบ TLC มากนัก และเริ่มมีการวางจำหน่ายในต่างประเทศหลายประเทศแล้ว ราคาความจุ 1TB อยู่ที่ประมาณ 4,400 บาท และขนาดสูงสุด 4TB 16,900 บาท ส่วนประเทศไทยหากมีข้อมูลอย่างเป็นทางการเรื่องวันเวลาและราคาจำหน่ายทีมงานจะรีบนำมาฝากอย่างแน่นอน