ROG Ally คือ Handheld Game Console หรือเครื่องเล่นเกมแบบพกพาที่เพิ่งเปิดตัวและวางจำหน่ายไปไม่นาน หลักๆเลยมันก็ทำหน้าที่เหมือนกันกับคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมนั่นแหละครับ เพียงแค่ถูกย่อส่วนลงมาให้สามารถพกพาได้ง่าย .. ในเมื่ออุปกรณ์นี้ได้รับความนิยม ก็ไม่แปลกที่เราจะได้เห็นเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง iFixit ได้ออกมาจัดการรื้อดูภายในพร้อมให้คะแนนว่ามันสามารถแกะและซ่อมได้ง่ายขนาดไหน
iFixit เองถ้าใครได้ติดตามอยู่ ก็น่าจะพอทราบว่าเขาเอาอุปกรณ์ไอทีแทบจะทุกอย่างทีได้รับความนิยม มาพยายามหาวิธีรื้อและทำเป็นคอนเทนต์ให้คนได้ดูหรือทำตาม อุปกรณ์ก็มีตั้งแต่หูฟัง True Wireless ไปจน Notebook ที่เราใช้งานกัน ประมาณว่าใครอยากรู้ว่าภายในเป็นยังไง และอยากเห็นวิธีแกะโดยละเอียด ก็สามารถเข้าไปดูทางช่องของเขาได้ และอีกอย่างนึงก็คือ ทาง iFixit ก็จะมีอุปกรณ์สำหรับแกะวางจำหน่ายด้วย
วีดีโอล่าสุดก็แสดงให้เห็นว่า ROG Ally นั้นสามารถแกะและซ่อมได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็น Battery, Thumbsticks, พัดลม, หรือแม้กระทั่งตัว SSD เอง แต่ก็มีบางส่วนที่แกะยากอย่างเช่นจอด้วยเช่นกัน .. การแกะก็ทำไม่ยากเลยครับ เริ่มด้วยไขควงสี่แฉกทั้งหมด 6 ตัว และก็เอาแผ่นอะไรบางๆดันตัวบอดี้ให้แยกออกจากกันก็เป็นอันจบ .. ภายในจะเห็น Battery ที่มีสติ๊กเกอร์บอกว่า "Do not tamper" หรือ "อย่างัดแงะ" อันนี้ก็เป็นคำเตือนที่เหมาะสม เพราะแบตเตอรี่ที่ใช้นั้นเป็น Li-Ion ซึ่งอาจเกิดระเบิดหรือทำอันตรายได้ หากผู้ใช้ไปทำให้มันเกิดความเสียหาย โดยทาง iFixit ได้บอกมาเองว่าแบตเตอรี่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าจะสามารถเปลี่ยนได้ในอนาคต .. ส่วนตัวผมก็เห็นด้วยครับ ด้วยความที่แบตเตอรี่ของ ROG Ally นั้นหมดค่อนข้างเร็ว และให้ที่ชาร์จกำลังสูงมา จึงอาจจะทำให้ตัว Cycle ของแบตนั้น ไปเร็วกว่าทั้ง Smartphone หรือ Gaming Notebook โดยเฉพาะกับคนที่ชาร์จวันละหลายๆครั้ง อาจจะได้มีโอกาสเปลี่ยนแบตเตอรี่หลังจากที่มันเริ่มเสื่อมเหมือนกัน
การถอดแบตเองก็ไม่ได้ยากครับ เทียบกับ Smartphone หลายๆรุ่นที่มีการติดกาวตัวแบตไว้กับโครงสร้างของเครื่อง แต่ตัว ROG Ally นั้นเป็นการไขน๊อตไว้ ทำให้ความเสี่ยงในการถอดนั้นลดลงไปเยอะ .. รวมไปถึง SSD แบบ M.2 2230 ที่ถูกขันน๊อตใส่ไว้ แกะไม่ยากเช่นกัน ประมาณว่าใครอยากจะอัปเกรด SSD ตัวนี้ก็สามารถถอดมาเปลี่ยนได้เลย โดยขนาดที่รองรับสูงสุด ณ เวลานี้คือ 2TB
และเมื่อเจาะลงไปลึกกว่านั้น เราก็จะเห็นว่าการออกแบบของมันก็เน้นให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในที่อาจจะสึกหรอได้โดยง่ายอีก อย่างเช่นตัว Thumbstick ที่อยู่บน Modular Board อันนี้ก็ถูกไขน๊อตใส่ไว้ และเชื่อมต่อโดย Data Cable ที่ถอดได้ ไม่ได้บัดกรีถาวรไว้แต่อย่างใด และผู้ใช้ก็สามารถถอดตัว Thumbstick ออกมาได้เลยหลังจากถอดน๊อตเพิ่มอีกสองตัว .. อันนี้ก็ดีครับ เพราะว่า Thumbstick จะเป็นส่วนที่เราสัมผัสมากที่สุด ถ้าวันไหนมันเกิดสึกหรอหรือเสื่อมขึ้นมา ก็สามารถเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องใช้ฝีมือมากนัก .. รวมไปถึง Heatsink และพัดลม ก็สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายเช่นเดียวกัน
อุปกรณ์อื่นๆเช่น Mainboard, Modular Speaker, ปุ่ม Power, Fingerprint Sensor, LED Ring และอื่นๆ ก็ถอดไม่ยาก แต่สิ่งที่ถอดยากที่สุดก็คือจอนั่นแหละครับ .. มันถูกติดกาวอย่างดีไว้เลย คือไม่ได้ออกแบบให้คุณสามารถแกะมันออกมาได้ด้วยตัวเองแน่ๆ อันนี้ก็เหมือนกับอุปกรณ์ Smart Device อื่นๆ ทาง iFixit จำเป็นต้องงัดๆแงะๆด้วยอุปกรณ์เฉพาะอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้จอนั้นเสียหาย และถ้าจะให้ง่ายก็อาจจะต้องใช้ปืนลมร้อนด้วยเพื่อเป็นการละลายกาว
สิ่งสุดท้ายที่ทาง iFixit ได้ติไว้ก็คือ เรื่องอะไหล่ที่ต่อให้ถอดไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้มี Spare Parts ออกมาขายแยกจาก ROG แต่อย่างใด ทำให้ต่อให้แกะได้ ถ้ามีอะไรเสีย ก็อาจจะไม่สามารถหาอะไหล่แท้มาเปลี่ยนได้อยู่ดี .. แต่อันนี้ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินไปครับ เพราะว่าอุปกรณ์นั้นเพิ่งเปิดตัว ยังวางขายไม่ครบทุกประเทศทั่วโลกด้วยซ้ำ (รวมถึงประเทศไทย) การจะออกมาขายอะไหล่ก็อาจจะเป็นอะไรที่เร็วไปซักหน่อย ในอนาคตถ้ามีคนเรียกร้องมากๆทาง ASUS ก็อาจจะมีการขายอะไหล่แยกก็เป็นได้ หรือถ้าไม่มี ก็อาจจะมีอะไหล่เทียบให้มาใช้กันนี่แหละครับ
ข้อมูล :