วันนี้คุณมีโอกาสได้เป็นเจ้าของการ์ด PCE-AX58BT ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายไร้สายมาตรฐานใหม่ที่ดีที่สุดในขณะนี้ ส่วนใครที่ยังไม่ได้อัพเกรดเราเตอร์ให้เป็นมาตรฐาน AX ก็ไม่ต้องกังวล เพราะการ์ดตัวนี้สามารถทำงานร่วมกับเราเตอร์มาตรฐานเก่าอย่าง 802.11ac ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน เอาไว้ค่อยเปลี่ยนเราเตอร์ตัวใหม่ในอนาคตก็ไม่สาย เนื่องจากทางผู้ผลิตรับประกันให้นานถึง 3 ปี
พื้นฐานของการ์ด Asus PCE-AX58BT ยังคงใช้อินเทอร์เฟซ PCI-E x1 ที่เมนบอร์ดส่วนใหญ่ให้มีอยู่แล้ว รองรับการสื่อสารแบบ 2x2 MU-MIMO และเมื่อใช้งานบนแถบความถี่ที่กว้าง 160MHz ร่วมกับคลื่น 5GHz ก็จะไดรฟ์ความเร็วขึ้นไปถึง 2402Mbps นอกจากนั้นก็ยังรองรับการมอตดูเลตคลื่นแบบ OFDMA ตามยุค Wi-Fi 6 ส่วนรายละเอียดทางเทคนิคก็ตามนี้เลย
Specification
- IEEE 802.11a/b/g/n/ac/ax
- 2x2 MIMO , Dual Band Antennas
- Chipset: Intel AX200NGW
- Bluetooth 5.0
- PCI-Express X1 (Only Compatible With PCI-E x1 Slot)
- Data rate :11ax 5GHz - 2402 Mbps, 2.4GHz - 574Mbps
- Data rate : 11ac Up to 1733Mbps , 11n Up to 300Mbps
- Support WPA3 Network Security
คุมโทนด้วยสีดำเข้มๆ
ขนาดของการ์ดนั้นไม่ได้ใหญ่โตอะไรเหมือนกับการ์ด PCI-E x1 ทั่วๆ ไป มีการวางฮีตซิงก์ช่วยระบายความร้อนให้กับชิปไวร์เลสและป้องกันแผงวงจรด้วยส่วนหนึ่ง ส่วนท้ายของการ์ดจะมีช่องต่อพลังงานและดาต้าจากพิน USB บนเมนบอร์ดสำหรับบลูทูธ ดังนั้นถ้าเมนบอร์ดของคุณมีเพียงแค่ชุดเดียวก็ลำบากหน่อย ต้องถอดชุดพอร์ต Front Panel ออกไปเหมือนกับเครื่องพีซีของเรา (เชื่อว่าส่วนน้อยที่จะโชคร้าย) นอกจากนั้นคุณอาจต้องไปปรับการใช้งานบัส PCI-E ด้วยหรือปิดการทำงานของชิปคอนโทรลเลอร์บางตัว เพื่อเปิดให้ใช้งานสล็อต PCI-E x1 ตรงนี้แล้วแต่การออกแบบเมนบอร์ดแต่ละรุ่น ส่วนคนที่ใช้งานมินิพีซีก็ไม่ต้องกังวล ทาง Asus ให้ Bracket ขนาดเล็กมาด้วย แค่ขันน็อตเล็กๆ น้อยแล้วเปลี่ยนซะ
หัวใจสำคัญของการ์ดตัวนี้อยู่ใต้ฮีงชิงก์ หรือก็คือ การ์ด M.2 Key A+E ของอินเทลรุ่น AX200NGW เชื่อมต่อสายสัญญาณ 2 จุดเหมือนกับที่เห็นกันบ่อยๆ ในโน้ตบุ๊ก นอกจากนั้นยังมีเทอร์มอลแพดหนาๆ แปะให้มากับฮีตซิงต์ด้วย
เสาสัญญาณสามารถถอดออกได้ ขยับองศาไปยังตำแหน่งของเราเตอร์ได้สะดวก ตั้งบนพื้นโต๊ะหรือติดกับเคสคอมพิวเตอร์ทั้งบนด้านหรือด้านข้างได้อย่างแน่นหนาด้วยแผ่นแม่เหล็กด้านใต้ ขณะที่สายสัญญาณเองก็มีความยาวประมาณ 90 เซนติเมตรและใช้สายที่มีอัตราการสูญเสียต่ำ ไม่ได้ใช้งานเส้นเล็กๆ เหมือนที่เคยเห็นในยุคของมาตรฐาน AC อีกแล้ว
ให้แบนด์วิดธ์ได้สูงเกินคาด
ในการทดสอบค่าแบนด์วิดธ์เราจับคู่กับเราเตอร์ Asus RT-AX3000 และหาค่าด้วย iPerf3 ในแบบ Single Client ความเร็วการเชื่อมต่อบนมาตรฐาน AX ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดอย่างในห้องเดียวกันไร้สิ่งกีดขวางมีค่าสูงสุดตามสเปคของมัน ขณะที่การเชื่อมต่อบนมาตรฐาน AC ก็ยังมีค่าการเชื่อมต่อที่ดีมาก อาจจะมีบางคลื่นบางแถบความถี่ที่ต่ำกว่าค่าอ้างอิงข้างกล่องอยู่เล็กน้อย
จริงๆ เรามองว่า แบนด์วิดธ์ของมาตรฐาน AX ในสภาพที่ดีที่สุดน่าจะเกินกว่าค่าเฉลี่ย 878 Mbps นั่นเป็นเพราะว่า การเชื่อมต่อของเซิร์ฟเวอร์ iPerf3 มีความเร็วแค่ 1 Gbps ถ้าเป็นความเร็วอย่าง 2.5G เราอาจจะได้เห็นความเร็วที่สูงกว่านี้
สำหรับค่าแบนด์วิดธ์ที่การ์ด Asus PCE-AX58BT ทำได้บนคลื่น AX ผ่านกำแพงคอนกรีตขวางกั้นในระยะ 10 เมตรถือว่า น่าพอใจมาก ตรงนี้ถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AX ค่าแบนด์วิดธ์หรือความเร็วการเชื่อมต่อจะทำได้ต่ำกว่านี้ ณ จุดนี้ต้องยกให้เป็นข้อดีของเสาสัญญาณภายนอก ถึงอย่างนั้นค่าแบนด์วิดธ์บนคลื่น AC เองก็ทำได้น่าพอใจเช่นเดียวกัน และค่าแบนด์วิดธ์เฉลี่ยที่ได้ก็ด้อยกว่ามาตรฐาน AX เพียงเล็กน้อย ส่วนผลการทดสอบบนมาตรฐาน 11ac -5GHz-HT160MHz ตัวเราเตอร์ RT-AX3000 ตามสเปคของชิป BCM43684 ให้ความเร็วได้สูงสุดแค่ 867Mbps แต่เมื่อเปิดใช้ AX Frame การ์ดก็เชื่อมต่อด้วยความเร็วที่สูงขึ้นเป็น 1.2Gbps ตรงนี้เราสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการปรับเฟิร์มแวร์ของ RT-AX3000 ของทางผู้ผลิต ซึ่งเดิมทีตัวการ์ดไวร์เลสควรจะเชื่อมต่อไปได้ถึง 1.73Gbps ถ้าเป็นเราเตอร์มาตรฐาน AC
Conclusion
การ์ด Asus PCE-AX58BT เป็นแบบติดตั้งภายในและต้องการคอนเน็กเตอร์ต่างๆ ตามระบุไว้ ซึ่งผู้ใช้ควรต้องเช็คเมนบอร์ดเสียก่อนว่าสามารถรองรับได้อย่างไม่มีปัญหาหรือไม่ ส่วนประสิทธิภาพในการทำงาน ผลทดสอบก็บ่งชี้ให้เห็นว่า มันเหนือกว่าการ์ดไวร์เลสมาตรฐานต่างๆ ในอดีตอย่างชัดเจน นอกจากนั้นเสาสัญญาณภายนอกเองก็สามารถติดตั้งได้อย่างยืดหยุ่นและมีสายสัญญาณที่ยาวมากพอจะช่วยให้ย้ายตัวมันไปอยู่ในจุดที่รับสัญญาณได้ดี ถ้าคุณเปลี่ยนเราเตอร์มาเป็นมาตรฐาน AX เราขอแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้การ์ดไวร์เลสตัวนี้ด้วย
Price : N/A บาท
Special Thanks : ASUSTek Computer (Thailand) Co.,Ltd.