การเพิ่มไลน์โน้ตบุ๊กเกมมิ่งในซีรีส์ 500 อย่าง Legion Y545 ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองสำหรับตลาดบ้านเรา เนื่องจากหน้าตาของมันนั้นโฉบเฉี่ยวและมีกลิ่นอายของความเป็นเกมมิ่งมากกว่ารุ่นใกล้ๆ กันอย่าง Legion Y540 นอกจากนั้นในแง่ของวัสดุตัวเครื่องที่เป็นแมกนีเซียมอัลลอยด์ก็น่าจะถูกใจใครหลายๆ คน ขณะที่ฮาร์ดแวร์ภายในเองก็คัดสรรรุ่นเด่นๆ ของวงการมาใช้ และหากมองไปที่ราคาของมันก็ถือว่า คุ้มค่ากว่าแบรนด์คู่แข่งที่ใช้ฮาร์ดแวร์ระดับเดียวกันด้วย
ก่อนที่จะไปดูรายละเอียดของมัน ความรู้สึกแรกที่เห็นโน้ตบุ๊กตัวนี้ชวนให้นึกถึง ซุปเปอร์คาร์อย่างลัมโบร์กินี่ ด้วยรูปทรงที่ลงตัว ดูบึกบึน ที่ประทับใจที่สุดก็คือ การจัดวางตำแหน่งช่องระบายความร้อน และพอร์ตเชื่อมต่อให้อยู่ทางด้านหลัง ไม่เกะกะวุ่นวายเหมือนกับโนตบุ๊กส่วนใหญ่ในตลาด ว่ากันง่ายๆ มันเป็นแพทเทิร์นการออกแบบในอุดมคติเลย และโน้ตบุ๊ก Legion Y545 ที่เราได้รับมาก็เป็นรุ่นท็อปสุดแล้ว ซึ่งมีส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้
Specifications
- Intel Core i7 9750H 2.60 GHz @6 Core /12 Thread
- NVIDIA GeForce RTX 2060, GDDR6-192bit@6GB
- NVME M.2 PCI-E 3.0 @512GB
- DDR4-2666 @16GB Dual Channel
- Display 15.6" FULL HD IPS ANTI-GLARE @144Hz
- GbLAN, Intel Wireless-AC 9560, Bluetooth
- Size 361 X266.7 X 26.6 mm. / Weight: 2.35 Kg.
มองอย่างเป็นกลาง ขุมพลังที่บรรจุเข้ามาในโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ยังไม่ใช่ที่สุดสำหรับการเล่นเกม เนื่องจากชิปกราฟิก RTX 2060 เป็นเพียงน้องเล็กในตระกูล Turing ไม่รวมตระกูล GTX ถึงอย่างนั้นเมื่อรวมกับส่วนอื่นๆ ซีพียู Core i7 9750H หน่วยความจำและสตอเรจ NVMe มันก็สามารถตอบโจทย์การเล่นเกมโหดๆ บนความละเอียดภาพ Full HD ที่มาพร้อมกับจอแสดงผลได้อย่างลงตัว ซึ่งในช่วงหลังเรามีผลทดสอบให้ดูกันว่าจะลื่นไหลในระดับใด
ดีไซน์ที่ออกแบบมาอย่างเฉียบคม
แม้ว่า Legion Y545 จะไม่ใช่โน้ตบุ๊กตัวแรกของเลอโนโวที่ดีไซน์ลักษณะนี้ แต่การตัดตามขอบมุม การเล่นระดับในหลายๆ จุดช่วยเพิ่มมิติให้กับตัวโน้ตบุ๊ก ประกอบกับวัสดุแมกนีเซียมอัลลอยด์ก็ทำให้มันมีความแข็งแรง ทนต่อการกดหรือการบิดงอได้ดี แป้นวางมือใช้สีดำและผิวสัมผัสแบบ Matte ให้ความรู้สึกพรีเมี่ยมเหมือนกับโน้ตบุ๊กตระกูล ThinkPad ขณะที่ตัวแกน Hinge มีระดับความหนืดกำลังดี เปิดปิดได้อย่างมั่นคง น่าเสียดายที่ไม่สามารถพับลงได้ 180 องศาเหมือนกับโน้ตบุ๊ก Legion Y740
ส่วนฝาหลังไม่ได้ใช้สีดำเหมือนกับด้านใน แต่เป็นสี Iron Gray มีการเพิ่มมิติให้กับส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ตำแหน่งตรงกลางวางโลโก้ Legion เมื่อเปิดใช้งานไฟจะส่องสว่างสีขาวออกมา ตรงจุดนี้งานผลิตทำออกมาได้ดีมาก เส้นไฟคมชัด สว่างแม้อยู่ในห้องทำงาน
การวางพอร์ตสำคัญๆ ไว้ด้านหลัง ประโยชน์ของมันก็คือ คุณสามารถจัดสายไฟให้เป็นระเบียบได้โดยง่าย พอร์ตที่ให้มามีทั้งพอร์ตกราฟิกอย่าง HDMi, Mini Display Port 1.4 และ USB Type-C ซึ่งให้คุณเชื่อมต่อจอพร้อมกันได้อีก 3 จอ นอกเหนือจาก GbLAN แล้ว พอร์ต USB ทั้งหมด ไม่ว่าจะด้านหลังหรือด้านข้างเครื่องอีก 2 จุดจะเป็นมาตรฐาน USB 3.1 ทั้งสิ้น พร้อมด้วยพอร์ตออดิโอคอมโบ 3.5 มม. แม้ว่ามันจะไม่ได้มาพร้อมกับพอร์ต Thunderbolt แต่มันก็เพียงพอสำหรับการใช้งานประจำวันหรือการต่อเข้ากับอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่อการเล่นเกม รวมถึงการอุปกรณ์พิเศษอย่างพวกอุปกรณ์ VR เช่น Oculus อย่างไรก็ตาม ช่องต่อพลังงานก็อยู่ด้านหลังเช่นกัน และตัวอะแดปเตอร์ที่มีค่าจ่ายพลังงานได้สูงถึง 230 วัตต์
มาถึงจุดนี้ต้องยอมรับว่า Lenovo ให้ความสำคัญกับโน้ตบุ๊ก Legion Y545 อย่างมาก ไม่ใช่แค่ดูสวย แต่คิดถึงเรื่อง Air Flow มาด้วย โดยฐานล่างใช้ Rubber Feet หนาเกือบ 5 มิลลิเมตร มีการเว้นฐานยางตำแหน่งกลางของพัดลมทั้งสองฝั่ง ขณะที่ตัวเครื่องด้านข้างแต่ละฝั่งยังทำแนวเอียงขึ้นเพื่อเปิดให้อากาศเข้าได้สะดวก ช่องอากาศเองก็มีขนาดใหญ่และติดตั้ง Dust Filter เอาไว้ อากาศจะถูกดึงจากด้านล่างและเป่าออกทางด้านหลัง ดังนั้นลมร้อนอุ่นๆ ค่อยเป่ามือของคุณจะไม่เกิดขึ้นบนโน้ตบุ๊กตัวนี้
ตำแหน่งลำโพงอยู่ทางสันเครื่องด้านหน้าตรงกับผู้ใช้งาน ใช้ลำโพง HARMAN กำลังขับ 2 วัตต์ สนับสนุนระบบเสียง Dolby Atmos ร่วมกับชิปเสียงของ Realtek ซึ่งสามารถเปิดใช้งานผ่านซอฟต์แวร์ Legion Edge แน่นอนว่า รองรับ Dolby for Headphones ด้วย ดังนั้นเกมที่ต้องใช้เสียงในการระบุตำแหน่งศัตรูก็ยังคงใช้งานได้ดีผ่านช่องต่อ 3.5 มม. ส่วนระดับความดังของลำโพงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ลองฟังเพลงก็ถือว่า ฟังได้สบายๆ เสียงออกหวานๆ ภาพรวมดีกว่าลำโพงติดโน้ตบุ๊กโดยส่วนใหญ่
จอสว่างให้สีดี คีย์บอร์ดก็เยี่ยม
เราชื่นชอบจอภาพของ Legion Y545 มาก ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องขอบจอบางหรือการปกป้องพาแนลของจอด้วยขอบยาง แต่ยังรวมถึงความคมชัดของภาพที่เกิดจากความหนาแน่นของพิกเซลบนจอขนาด 15.6 นิ้ว ซึ่งในส่วนของสีสันหรือมุมมองก็ทำได้ดีตามเอกลักษณ์ของพาแนล IPS เพียงแต่ในเชิงลึกแล้วเราไม่รู้ว่า มันสามารถแสดงขอบเขตสีได้กว้างเพียงไร หรือใช้กับงานออกแบบได้ดีแค่ไหน ถึงอย่างนั้น เมื่อประเมินร่วมกับค่ารีเฟรชเรท 144 Hz แล้ว ในมุมของการเล่นเกมผ่านจอตัวนี้ก็ไม่ได้ข้อบกพร่องอะไรที่สังเกตเห็นชัดเหมือนกับจอภาพชนิด TN Film
ส่วนเรื่องคีย์บอร์ด ดูเผินๆ ไม่ได้มีอะไรที่สะดุดตาเหมือนกับคีย์บอร์ด RGB ปุ่มคีย์บอร์ดมีหน้าสัมผัสที่ใหญ่กว่าปุ่มคีย์บอร์ดบนเครื่องพีซีเสียอีก ไฟ Backlid สีขาวก็ลอดผ่านขอบและตัวตัวอักษรเกือบจะ 100% เปิดปิดได้และปรับระดับความสว่างได้ 2 ระดับ นอกจากนั้นการทดสอบเรื่องจำนวนปุ่มที่กดพร้อมกันได้หรือ N-Key Rollover นั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร กดพร้อมกันได้ 10 ปุ่ม ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง อย่างไรก็ดี จะมีจุดแปลกๆ ก็ตรงเรื่องเลย์เอาต์ชุดตัวเลขที่ตำแหน่งปุ่ม Numlock ย้ายมาอยู่ข้างปุ่มเลข 0 อีกจุดหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่ชอบ ก็คือเรื่องตำแหน่งของปุ่ม Windows ที่เหมือนคีย์บอร์ดทั่วๆ ไป
ขยับมาดูทัชแพดกันบ้าง ดีไซน์แบบรวมเป็นผืนเดียวกัน สัมผัสลื่นไหล ตอบสนองได้แม่นยำและมีความสม่ำเสมอ การคลิกให้เสียงที่ดังชัดเจน การประกอบตรงนี้แน่นหนา ไม่มีเสียงการขยับของแผ่นทัชแพดขณะใช้งาน และก็ไม่มีไฟแบ็คไลต์ใดๆ เข้ามาช่วยตกแต่งเพิ่มความสวยงาม
อัพเกรดเพิ่มเติมได้ถ้าต้องการ
อย่างที่เห็น ชุดระบายความร้อนของโน้ตบุ๊ก Legion Y545 ใช้ท่อฮีตไปป์ทองแดงนำความร้อนทั้งหมด 3 ท่อ โดยท่อทางโซนด้านซ้ายจะนำความร้อนจากชิปกราฟิกและชิปหน่วยความจำ ขณะที่ฝั่งขวาจะนำความร้อนจากซีพียูและภาคจ่ายไฟ ทั้งสองฝั่งจะใช้ฮีตซิงก์แยกกันด้วย และบริเวณปลายสุดของท่อฮีตไปป์จะผสานเข้ากับฮีตซิงก์ฟินละเอียด ซึ่งจะถูกขับความร้อนออกทางด้านหลังด้วยพัดลมโบลวเวอร์ใบพัดละเอียด 70 ซี่ จากการออกแบบจะเห็นว่า ผู้ผลิตตั้งใจให้ความร้อนถูกขับออกนอกเครื่องไปอย่างรวดเร็วและไม่ให้ความร้อนแผ่เข้าหากันบนฮีตซิงก์ที่สัมผัสกับส่วนต่างๆ โดยตรง
การอัพเกรดจะทำได้หลายส่วน อาทิ สตอเรจมาตรฐาน SATA หรืออินเทอร์เฟส M.2 2280 ที่เป็น NVMe รวมถึงหน่วยความจำ DDR4 ที่ให้มา 2 สล็อต อัพได้สูงสุด 32GB ตลอดจน Mini PCI-E ในส่วนของชิป WLAN
ทดสอบประสิทธิภาพ
ในส่วนของขุมพลังหลักๆ อย่างซีพียูก็เป็นซีพียู 6 แกน 12 เทรด ซึ่งมีชุดคำสั่งใหม่ๆ อยู่อย่างครบครัน แม้ว่าจะมีความเร็ว Base Clock อยู่ที่ 2.6GHz แต่มันก็สามารถบูสต์ขึ้นไปได้ถึง 4.5 GHz ขณะที่หน่วยความจำ DDR4 ก็มีความเร็วระดับ 2666MHz และเป็นของซัมซุงทั้งคู่ ความจุรวมอยู่ที่ 16GB ตรงนี้ถ้าเฉพาะการเล่นเกมแล้ว เท่านี้ก็ถือว่าเหลือเฟือ
ชิปกราฟิก GeForce RTX 2060 บนโน้ตบุ๊กเป็นชิปสเปคเดียวกับบนการ์ดฝั่งพีซี ทั้งในเรื่องของจำนวนเชดเดอร์ ความเร็วของหน่วยความจำ GDDR6-192bit ขนาด 6GB แต่ความเร็วในการทำงานจะต่ำกว่าพอสมควรทั้งในส่วนของ Base Clock หรือ Boost Clock ถึงอย่างนั้นในช่วงการเล่นเกมเราเห็นว่ามันมีการเพิ่มความเร็วไปถึง 1935 MHz ขณะที่ความร้อนสูงสุดที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้น่าตกใจอะไร ราวๆ 74 องศาเซลเซียสเท่านั้น
เรื่องประสิทธิภาพของซีพียูก็ถือว่า มันดีพอสำหรับการประมวลผลทุกๆ รูปแบบ แม้ว่าจะไม่ได้ดีเยี่ยมเท่ากับซีพียูเดสก์ทอปรุ่นสูงๆ ในยุคปัจจุบัน ซึ่งหากเทียบกับซีพียูเดสก์ทอปอย่างคร่าวๆ ก็ใกล้เคียงหรือดีกว่าซีพียู i7-7700K ที่มีแกนประมวลผลน้อยกว่า การเล่นเกมไม่เกิดคอขวดแน่นอนบนความละเอียด Full HD หรือถ้าจะเป็นการตัดต่อวิดีโอ หรือการออกแบบกราฟิกก็ทำได้โดยไม่ยากลำบากอะไร
ในส่วนของสตอเรจที่ให้ NVMe ความจุ 512GB ก็เป็นของ WD รุ่น SN720 ซึ่งผลทดสอบร่วมกับซอฟต์แวร์ Diskmark มันก็ดึงเอาประสิทธิภาพในการอ่านเขียนออกมาได้เกือบเต็มที่ที่ไดรฟ์รุ่นนี้ทำได้ ภาพรวมแล้ว น่าประทับใจมาก
ผลการทดสอบบนซอฟต์แวร์ของค่าย Futuremark กันบ้าง ภาพรวมถือว่า ทำได้ดีในส่วนของเบนช์มาร์กแต่ละตัว เรียกได้ว่า ส่วนประกอบแต่ละส่วนทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา การทดสอบราบรื่นไม่เกิดข้อผิดพลาดใดๆ ผลคะแนนไม่มีส่วนใดที่ด้อยหรือมีตัวเลขผิดปกติจากค่ามาตรฐานที่เราเคยทดสอบมา
ในกรณีของการเล่นเกม หากไม่ใช่เกมที่ใช้ทรัพยากรสูง การแสดงผลระดับ High ที่เราตั้งไว้เป็นเกณฑ์ทั้งหมดก็สร้างเฟรมเรตออกมาทะลุ 100 fps ดังนั้นเกมที่กินสเปคกลางๆ ถึงเบา ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอนกับโน้ตบุ๊ก Legion Y545 รุ่นนี้ ขณะที่เกมใหม่ๆ อย่าง Shadow of the tomb raider ที่เป็นเกม DirectX 12 ถือว่าเล่นได้อย่างราบรื่นโดยเฉพาะการไม่เปิดฟีเจอร์อย่าง Ray Tracing ถึงแม้ว่าจะเปิดก็ยังคงให้เฟรมเรตของเกมในระดับที่ดี ส่วนเกมโหดๆ แห่งยุค อย่างเช่น Metro Exodus ค่าเฟรมเรตเฉลี่ยอาจจะไม่สวยหรู ถึงอย่างนั้นการเปิดหรือไม่เปิด Ray Tracing +DLSS ก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันนัก ความราบรื่นในการเล่นเกมอยู่เกณฑ์ที่น่าพอใจ หรือในกรณีของการเปิดคุณภาพภาพระดับ Ultra เฟรมเรตเฉลี่ยที่ได้ก็ยังเกิน 40 ภาพต่อวินาทีนิดหน่อย
ต้องยอมรับว่าชุดระบายความร้อน Coldfront ทำหน้าที่ได้น่าประทับใจมาก เนื่องจากขณะโหลดเบนช์มาร์ก Metro Exodus ต่อเนื่องนาน 15 นาที (วนลูป) สามารถคุมความร้อนของซีพียูและชิปกราฟิกให้อยู่ในช่วงเฉลี่ย 94.6 และ 75 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และใช้เวลาราวๆ 2 นาทีก็ระบายความร้อนเหล่านั้นออกไปจนอยู่ในระดับปกติ ขณะที่ความร้อนสะสมที่เกิดขึ้นบนแผงคีย์บอร์ดก็จัดการได้ดีเช่นกัน โดยมีความร้อนสะสมอยู่ในช่วง 38.2-45.9 องศาเซลเซียส (อุณภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส) จากภาพด้านบนจะเห็นว่า ความร้อนแผ่ออกมาที่แป้นวางมือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ในสภาวะ Idle ความร้อนสะสมสูงสุดบนแป้นคีย์บอร์ดจะเหลือเพียง 35 -37 องศาเซลเซียสเท่านั้น
การบริโภคพลังงาน
เราทำการวัดค่าการใช้พลังงานของโน้ตบุ๊กผ่านปลั๊กไฟ โดยขณะวัดค่าโน้ตบุ๊กมีค่าแบตเตอรี่อยู่ที่ 97% (ไม่มีการชาร์จ) และใช้โหมดการจัดการพลังงาน Power Saver ซึ่งในสภาวะ Idle โน้ตบุ๊กมีการใช้พลังงานราว 20 วัตต์ และเมื่อทำการเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายไร้สาย 5GHz ทำการเล่นวิดีโอผ่านยูทูปจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 23 วัตต์ ส่วนการใช้พลังงานขณะเล่นเกมอย่าง Metro Exodus ก็มีค่าประมาณ 140 วัตต์ เมื่อประเมินเข้ากับแบตเตอรี่ขนาด 3 เซลล์ของโน้ตบุ๊กที่มีค่าการจ่ายพลังงาน 57 Wh จะใช้งานทั่วไปต่อเนื่องได้นานประมาณ 2:28 ชั่วโมง ส่วนถ้าเป็นการเล่นเกมแล้วอาจจะเหลือไม่ถึง 1 ชั่วโมง
Conclusion
เรียกได้ว่าโน้ตบุ๊ก Lenovo Legion Y545 ตั้งใจส่งมอบคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่มาพร้อมกับประสิทธิภาพมากกว่าความหวือหวาจากแสงไฟ ซึ่งผู้ใช้หลายๆ คนก็ชื่นชอบการออกแบบในลักษณะนี้เพื่อให้มันตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันโดยไม่ตกเป็นเป้าสายตา ถึงอย่างนั้นในแง่ของการออกแบบก็ต้องชมเชยโดยเฉพาะจัดวางตำแหน่งพอร์ตต่างๆ รวมถึงการวางช่องลมร้อนเอาไว้ด้านหลัง รวมถึงความสามารถในการจัดการความร้อน
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมของการเล่นเกมก็ตอบสนองได้น่าพอใจ ทั้งเรื่องจอแสดงผล ความลื่นไหลในการเล่นเกม หรือการตอบสนองของปุ่มคีย์บอร์ด ในมุมของเราแล้ว โน้ตบุ๊กรุ่นนี้เป็นตัวเลือกสำหรับนักเล่นเกมที่เน้นความคุ้มค่าเป็นสำคัญ เนื่องจากมันถูกตัดเรื่องไฟ RGB หรือช่องต่อบางมาตรฐานออกไป ดังนั้นระดับราคาของมันจึงลดลงตามไปด้วยเมื่อเทียบโน้ตบุ๊กของแบรนด์อื่นๆ และนอกจากในแง่ของฮาร์ดแวร์แล้วทาง Lenovo ยังมอบซอฟต์แวร์ MS Office Home&Student 2019 แบบตลอดอายุการใช้งานนอกเหนือจาก Windows 10 Home Single Language มาให้ด้วย
ราคา: 45,900บาท
Special Thanks : Lenovo