นี่คือเราเตอร์ไร้สายมาตรฐาน AC ระดับกลางที่ TP-Link ตั้งเป้าลุยตลาดในปีนี้ โดยจะเน้นในเรื่องประสิทธิภาพการสื่อสารไร้สายขั้นสูงด้วยการเป็นเราเตอร์ไร้สายมาตรฐาน AC กระจายสัญญาณไร้สายแบบ Dual-Band Wi-Fi ผสมผสานกับเสาสัญญาณแบบ MU-MIMO พร้อมด้วยเทคโนโลยี Beamforming ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความต้องการพื้นฐานในยุคนี้สำหรับศูนย์กลางเครือข่ายไร้สายภายในบ้าน และด้วยราคาค่าตัวไม่เกิน 4,000 บาท คุณจะได้เราเตอร์ไร้สาย
- ส่งผ่านข้อมูลได้รวดเร็วทั้งย่าน 2.4GHZ และ 5GHz
- รองรับการสร้างเครือข่าย Guest Network
- มีฟีเจอร์ QoS และจำกัดการใช้งานอินเทอร์เน็ต (Parental Control)
- เข้าถึงหรือตั้งค่าเราเตอร์ได้ผ่านแอพพลิเคชันบนมือถือ
- สามารถใช้งาน Smart Connect ที่เราเตอร์จะสลับย่านความถี่ที่ดีที่สุดให้กับอุปกรณ์ปลายทางโดยอัตโนมัติ
- เปิด/ปิดสัญญาณเครือข่ายไร้สายด้วยสวิทช์ปุ่มเดียว
- รองรับการทำ Dynamic DNS , IPV6, DDNS ฯลฯ และป้องกันการโจมตีแบบ DoS
ฮาร์ดแวร์และการออกแบบภายนอก
กล่องของเราเตอร์ Archer A10 ยังคงดีไซน์ธีมสีฟ้า ซึ่งด้านหน้าของกล่องบ่งบอกชื่อรุ่นเอาไว้เล็กๆ แต่นำเสนอตัวอักษร AC2600 MU-MIMO Wi-Fi Router และ Affordable High-Performance ที่ดูโดดเด่นสะดุดตามากกว่า
ถ้าคนที่คุ้นเคยกับแบรนด์นี้จะรู้ทันทีว่า เราเตอร์ Archer A10 นั้นคล้ายกับเราเตอร์ Archer C2300 ทั้งตัวบอดี้ของเครื่อง ดีไซน์ของตัวเสาสัญญาณ หรือแม้กระทั่งปุ่มปิดไฟสถานะบนตัวเครื่อง
ด้านหลังของเราเตอร์ให้พอร์ต WAN (สีฟ้า) และพอร์ต GbLAN มาให้อีก 4 พอร์ต ทุกพอร์ตเป็นมาตรฐาน Gigabit ขณะที่ด้านข้างของเราเตอร์ติดตั้งปุ่ม Wi-Fi On/Off และ WPS เอาไว้ระหว่างกลางปุ่ม Reset
TP-Link Archer A10 Key Specs
Wi-Fi Spec AC2600
Antennas 3 external antennas non removable
1 internal antenna
Ports 1 WAN / 4 LAN Gigabit Speed
Processor/ memory/ storage Mediatek MT7621AT dual-core 880MHz/ 128MB/ 256MB
Wi-Fi chip MediaTek MT7615N
Peak Speed 2.4GHz at 800Mbps, 5GHz at 1733Mbps
Size 216 x 164 x 36.8 mm
ในด้านของขุมพลังในการประมวล เราเตอร์ Archer A10 จะใช้ซีพียูของ Mediatek แบบ Dual Core ความเร็ว 880MHz หากเทียบกับเราเตอร์ Archer C2300 ก็ด้อยกว่าพอสมควร ซึ่งเราเตอร์รุ่นพี่ใช้ซีพียู Broadcom Dual Core ความเร็ว 1.8GHz แต่หากพิจารณาในส่วนของความเร็วเครือข่ายไร้สาย เราเตอร์ Archer A10 จะทำได้ดีกว่าทั้งสองย่านความถี่และเสาสัญญาณได้รับการคอนฟิกมาแบบ 4x4 Quad Stream ขณะที่ Archer C2300 เป็นแบบ 3x3 Tri Stream ถึงอย่างนั้นก็เป็นเราเตอร์ 802.11ac Wave2 ทั้งคู่
การติดตั้ง
คุณสามารถเลือกติดตั้งเราเตอร์ตัวนี้ได้ทั้งแบบผ่านเว็บอินเทอร์เฟซด้วยเครื่องพีซีหรือโน้ตบุ๊ก ทั้งการเสียบสาย LAN หรือเชื่อมต่อเข้ากับสัญญาณ Wi-Fi ของมัน หรือดำเนินการทั้งหมดผ่านแอพพลิเคชัน TP-Link Tether ซึ่งการตั้งค่าผ่านเว็บอินเทอร์เฟซหรือการรับชมริวิวในรูปแบบวิดีโอสามารถดูได้จากลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=9HRKn4nPlUw&t=565s
การตั้งค่าเราเตอร์ผ่านแอพพลิเคชัน TP-Link Tether ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก มีทุกอย่างเป็นขั้นตอนเช่น ตั้งค่ารหัสผ่านสำหรับแอคเคาน์ตใหม่ การกำหนดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของ ISP ตั้งค่า SSID และรหัสผ่านสำหรับคลื่น 2.4GHz และ 5GHz โดยก่อนหน้าทั้งหมดนั้นคุณจะต้องเชื่อมต่อกับเครือข่าย TP-Link_B1C4 และใช้รหัสผ่านที่อยู่ใต้เครื่อง
ในส่วนของเมนูหลักของแอพ ไม่ได้มีการแสดงผลอะไรมากมายนัก จากจุดนี้คุณสามารถเพิ่มอุปกรณ์เครือข่ายเข้าไปในระบบได้ เปิดใช้งาน Guest Network กำหนดหรือแก้ไขค่าพื้นฐานเครือข่ายไร้สาย ตรวจสอบไคลเอนท์ที่เข้าเชื่อมต่อ เลือกโหมดการทำงานของเราเตอร์ รวมถึงเข้าถึงเมนู Tool ที่สามารถแก้ไขหรือตั้งค่าอื่นๆ ให้กับเราเตอร์
การตั้งค่าผ่านแอพฯ มีเฉพาะการตั้งค่าพื้นฐาน ดังนั้นหากต้องการตั้งค่าที่ละเอียดกว่านี้เช่น กำหนด Channel Wi-Fi, VPN Server, QoS, NAT Forwarding, MAC Filtering, Wireless Schedule, Smart Connect ฯลฯ คุณจะต้องเข้าเชื่อมต่อเข้าไปที่เว็บอินเทอร์เฟซของเราเตอร์เอง โดยใส่หมายเลยไอพีเข้าไปในบราวเซอร์ โดยในภาพเราเตอร์ใช้หมายเลข 192.168.0.1
ในส่วนของ Parental Control นั้นคุณจะต้องกำหนดโปรไฟล์การใช้งานก่อนที่กำหนดการทำงานใดๆ ซึ่งการตั้งค่าในส่วนนี้จะสามารถตรวจสอบหรือเพิ่มอุปกรณ์ที่ต้องการกำหนด ตรวจสอบการใช้งานแบบ Insights ใส่เว็บไชต์ที่ต้องบล็อกไม่ให้เข้าถึงได้และกำหนด Time Control ในการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่การบล็อกเว็บไซต์นั้นจะทำได้เฉพาะการเข้าถึงผ่านบราวเซอร์ ไม่ได้ครอบคลุมการเข้าถึงโดยผ่านแอพพลิเคชัน
ประสิทธิภาพเครือข่ายไร้สาย
ในการทดสอบนี้ เราทำการวางเราเตอร์ Archer A10 เอาไว้บนชั้น 3 หรือห้อง Studio Room โดยกำหนด Channel Bandwidth ของทั้ง 2 คลื่นความถี่ดังนี้ คลื่น 2.4GHz ใช้ค่า 40MHz ขณะที่คลื่น 5GHz จะใช้ค่า 80MHz จากนั้นวัดค่าความแรงสัญญาณด้วยโทรศัพท์ Samsung Galaxy Note 9 ส่วนการประเมินค่าแบนด์วิดธ์เครือข่าย Wi-Fi จะใช้ iperf3 ซึ่งทำการส่งไฟล์ขนาดรวม 1GB กำหนดให้ใช้แบนด์วิดธ์สูงสุด 1Gbps และแยกไฟล์ไซส์ส่งสูงสุดต่อแพ็กเกจเท่ากับ 100MB
ค่าสัญญาณ 2.4GHz ถือว่าค่อนข้างแรงทีเดียวบนชั้น 3 โดยตำแหน่ง Studio Room ตัวไคลเอนท์จะห่างจากเราเตอร์ 3 เมตร ขณะที่ในส่วนของ Balcony จะมีระยะห่างวัดได้ 5 เมตร และมีกระจกกั้น 1 ชั้น ส่วนในชั้น 1 สัญญาณถือว่าไม่ดีนักเมื่อเทียบกับเราเตอร์ AX11000
ขยับมาที่คลื่น 5GHz ความแรงสัญญาณ ในชั้น 1 ถือว่าค่อนข้างแย่ ส่วนชั้น 2 ถือว่าการทะลุทะลวงได้ดี อยู่ที่ระดับสัญญาณ -36dBm ตรงนี้น่าจะเป็นเพราะการออกแบบแพทเทิร์นของเสาสัญญาณที่ทำออกมาได้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเรามากกว่าเราเตอร์ AX11000
การทดสอบด้วย iPerf3 เราใช้โน้ตบุ๊ก MSI GS75 Stealth 8SF ซึ่งมาพร้อมกับการ์ดไวเลส Intel Dual Band Wireless-AC 9560NGW ทำหน้าที่เป็นไคลเอนท์ ส่วนฝั่งเซิร์ฟเวอร์จะเชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊กอีกหนึ่งตัวผ่านช่องต่อ GbLAN ความเร็วบนคลื่น 2.4GHz ที่ทำได้ถือว่าน่าประทับใจ เนื่องจากมีค่าเกิน 100Mbit/s ขณะที่ลงไปชั้น 1 ค่าแบนด์วิดธ์ที่ออกมาก็อยู่ในระดับที่ใช้งานได้ดีเลย
สำหรับประสิทธิภาพในย่านความถี่ 5GHz ถือว่า ผิดคาดไปมากสำหรับทีมงาน เนื่องจากผลที่ออกมานั้นทำได้ดีกว่าเราเตอร์เปรียบเทียบในทุกๆ พื้นที่ การเชื่อมต่อในย่าน 5GHz ในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดของ MSI GS75 Stealth 8SF กับเราเตอร์มีความเร็วถึง 866Mbps ส่วนชั้น 2 จะลดลงมาเหลือ 585Mbps ดังนั้นตัวเลข Bandwidth ที่ออกมาในกราฟจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง แต่ต้องเข้าใจกันก่อนว่า การทดสอบนี้เชื่อมต่อด้วยไคลเอนท์ฝั่ง WLAN เพียงแค่ตัวเดียว หรือพูดง่ายๆ ว่ามันเป็นตัวเลข “Top Speed” ไม่ใช่ตัวเลขที่สะท้อนในการใช้งานจริงที่มีไคลเอนท์หลายๆ ตัวและหลายๆ ประเภทอุปกรณ์เข้ามาเชื่อมต่อ
บทสรุปและความคิดเห็น
ส่วนตัวแล้ว มองว่าเราเตอร์ Archer A10 สามารถสร้างผลการทดสอบออกมาได้ดีสมกับที่การเป็นเราเตอร์ประสิทธิภาพสูงที่มาพร้อมราคาสมเหตุสมผล แต่หากพิจารณาในแง่ของฟีเจอร์ด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประสิทธิภาพด้านเครือข่ายไร้สายแล้วก็ยังให้ความรู้สึกว่าค่าตัวดูจะสูงเกินไปสักหน่อย ถึงอย่างนั้นแล้ว ในมุมของผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการฟีเจอร์อะไรพิเศษนอกจากการเครือข่ายไร้สายที่รวดเร็วและเข้าถึงทุกพื้นที่ของบ้าน มันก็ถือเป็นเราเตอร์ควรค่าแก่การลงทุนด้วยค่าแบนด์วิดธ์บนเครือข่ายไร้สายอันน่าประทับใจทั้ง 2 ย่านความถี่ โดยเฉพาะย่าน 2.4GHz ที่มีเราเตอร์ไม่กี่รุ่นในตลาดที่ดันความเร็วไปเกิน 100Mbps ขณะที่ความถี่ 5GHz ในพื้นที่ไกลจากเราเตอร์อย่างชั้น 1 ก็ให้ผลออกมาน่าพอใจ แม้ตัวเลขที่ได้จะลดลงจากความเร็วสูงสุดไปมากก็ตาม ดังนั้นหากบ้านของคุณไม่ได้ใหญ่โตเกินไปนักและเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่หรือรองรับคลื่น 5GHz มาตรฐาน AC การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายภายในบ้านทั่วทุกพื้นที่ด้วยความเร็วเกินกว่า 30Mbps จะกลายเป็นเรื่องปกติไปในทันที
นอกจากนี้ หากสังเกตดีๆ จะพบว่า การประเมินค่าความแรงสัญญาณในบางพื้นที่ของออฟฟิศอาจจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีนัก แต่เมื่อทำมีการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกัน เราเตอร์ที่มีเทคโนโลยี Beamforming ก็จะทำให้ผลของค่าแบนด์วิดธ์มีตัวเลขที่สูงขึ้น เนื่องจากมันจะทำการโฟกัสสัญญาณเข้ามาที่อุปกรณ์ไคลเอนท์นั้นๆ สังเกตง่ายๆ ในช่วงกลางของการทดสอบแบนด์วิดธ์ด้วย iPerf3 ตัวเลขจะมีแนวโน้มสูงขึ้นหรือมีความนิ่งมากกว่าเดิม ซึ่งตรงนี้คุณสามารถเข้าไปดูได้จากคลิปวิดีโอรีวิวของเรา ตัวเลขที่เราระบุลงไปในกราฟก็คือ ค่ากลางของแบนด์วิดธ์ที่วัดออกมาได้หลังจากทำการตัดเอาค่าสูงสุดและต่ำสุดออกไป
อย่างไรก็ดี ผลการทดสอบทั้งหมดเกิดขึ้นร่วมกับอุปกรณ์ไวร์เลสอย่าง Intel Dual Band Wireless-AC 9560NGW ดังนั้นหากเป็นอุปกรณ์ไคลเอนท์อื่นๆ ที่มีคุณสมบัติด้อยกว่า ค่าแบนด์วิดธ์ต่างๆ ก็จะต่างออกไป หรือหากเป็นการสื่อสารระหว่างไคลเอนท์ผ่านเครือข่าย WLAN ทั้งสองฝั่ง ความเร็วก็จะลดลงไปด้วย แน่นอนว่า รวมถึงกรณีที่มีการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไคลเอนท์หลายๆ ตัวพร้อมกัน
Thanks: TP-Link Technologies Co., Ltd.
Price: 3,990 บาท