สมัยก่อนที่ SSD เปิดตัวใหม่ ใครที่ได้ใช้ก็ต่างต้องตกใจกับประสิทธิภาพของมัน ที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนคอมเครื่องนั้นแรงขึ้นได้ทันตาเห็น ตั้งแต่การเปิดเครื่องและ Boot เข้าระบบปฏิบัติการที่เรียกว่าเร็วขึ้นกว่าตอนเป็น HDD จานหมุนเป็นอย่างมาก .. แต่ถึงแม้ว่าเรื่องประสิทธิภาพของ SSD นั้นจะดีเพียงใด ปัจจัยที่ HDD จานหมุนมาตรฐานนั้นดีกว่า SSD ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของความทนทาน ที่ SSD รุ่นแรกๆนั้นขึ้นชื่อว่า "พังง่าย" และแถมการกู้ข้อมูลนั้นก็จัดว่าเป็นเรื่องยากมากๆ ทำให้ใครหลายๆคนที่มีข้อมูลสำคัญถึงกับหันหน้าหนีเลยทีเดียว
ปัจจุบันนี้เวลาก็ผ่านมานาน ความเชื่อและประโยคที่ว่า SSD พังง่าย อยู่ดีๆก็ตายนั้นก็เหมือนจะค่อยๆหายไปเรื่อยๆ สังเกตง่ายๆเลยก็คือใครที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในวงการไอที หรือศึกษาข้อมูลพวกนี้ อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆแล้ว SSD เคยมีปัญหาดังกล่าว
วันนี้ผมก็ไปเจอข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศมาหนึ่งบทความครับ ที่จริงผมก็ลืมไปแล้วเหมือนกันนะว่า SSD มันเคยมีปัญหาเรื่องความทนทาน จนกระทั่งบทความนี้แหละทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าเมื่อก่อนก็เจอ SSD ตายในหน้าที่ไปหลายตัวเหมือนกัน
ข้อมูลที่ว่านี้มาจากบริษัท Backblaze ที่เป็นผู้ให้บริการ Cloud Storage และการ Backup ข้อมูล โดยเขาได้ออกมาให้ข้อมูลว่า SSD ปัจจุบันนั้นมีความทนทานกว่า HDD จานหมุนถึง 21 เท่า !
โดย Backblaze เองก็ขึ้นชื่อเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับความทนทานของหน่วยเก็บข้อมูลในกลุ่ม Enterprise อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาอัตราการเสียโดยเฉลี่ย (Average Failure Rate) ของ SSD และ HDD ยี่ห้อต่างๆ .. จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 (วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม) Backblaze ก็ได้ค้นพบว่าอัตราการเสียโดยเฉลี่ยของ HDD ทุกแบรนด์นั้นตกแล้วอยู่ราวๆ 10.56% .. ในขณะเดียวกัน SSD นั้นมีอัตราการเสียโดยเฉลี่ยแค่ 0.58% เท่านั้นเอง !
คำนวนง่ายๆจากตัวเลขเหล่านี้ก็คือหาก HDD ถ้าเอามาใช้ 10 ตัวแล้ว จะมีซักตัวนึงที่เสียหาย .. ส่วนสำหรับ SSD นั้นอัตราการเสียจะอยู่แค่ 1 ใน 200 เท่านั้น !
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ Backblaze นี้ก็อาจจะมองได้สองแง่ นั่นก็เป็นเพราะว่าอายุโดยเฉลี่ยของ SSD ที่ Backblaze ใช้ก็จะอยู่ราวๆ 12.7 เดือน ในขณะที่ HDD จานหมุนนั้นอยู่ประมาณ 49.6 เดือน หรือว่าใช้มานานกว่า 4 เท่า .. บวกกับที่ SSD ที่ทาง Backblaze ใช้นั้นก็เป็นแค่ Boot Drive ของตัว Server เท่านั้น จึงอาจจะทำให้ Workload ไปตกอยู่กับ HDD จานหมุนมากกว่า เพราะว่าข้อมูลของลูกค้าที่บริษัท Backup นั้นจะอยู่ใน HDD เป็นส่วนใหญ่
สุดท้ายแล้วข้อมูลนี้ก็เป็นข้อมูลที่ออกมาจากบริษัทเดียวเท่านั้น นั่นหมายความว่าสภาวะการใช้งานก่อนที่ Storage นั้นจะเกิดปัญหา เป็นสภาวะในการใช้งานประเภทเดียว (Backup ข้อมูล) สำหรับผู้ใช้ตามบ้าน ผลอาจจะออกมาไม่เหมือนตามนี้ก็ได้
ข้อมูล : Tom's Hardware