สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซน สำหรับสถานการณ์ของ COVID-19 ในบ้านเรานั้นอย่างที่ทราบกันดีว่ามันทำให้มีความจำเป็นในการทำงานจากที่บ้าน และ การเรียนออนไลน์ ยังคงมีความจำเป็นในช่วงนี้ ซึ่งอินเตอร์เน็ตภายในบ้านนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าระบบเครือข่ายภายในบ้านไม่มีประสิทธิภาพที่ดี พร้อมกับประสบการณ์ในการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่ไม่สู้ดีนัก ซึ่งทางเลือกในการอัพเกรดระบบเครือข่ายภายในบ้านมาเป็น WiFi 6 นั้นเป็นทางออกที่ดีทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ความครอบคลุมของสัญญาณ ใช้งานพร้อมกันหลายลูกข่าย และ ประสบการณ์ใช้งานที่ดี จากการทดสอบที่เราเคยได้ทำมา ไม่จำเป็นต้องใช้ลูกข่ายที่เป็น WiFi 6 แต่เมื่ออัพเกรดมาใช้เราเตอร์ WiFi 6 ก็สามารถได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดีมากขึ้น ซึ่งแบรนด์ TP-Link ในการทำตลาดบ้านเราในยุค 2020-2021 ก็มีทางเลือกเราเตอร์ WiFi 6 อย่างมากมาย พร้อมทั้งทางเลือกของราคาเราเตอร์ที่สามารถจับต้องได้ง่ายมากขึ้น ที่วันนี้เราจะมาทำการทดสอบทั้งสองรุนคือ Archer AX72 แบบ Dual Band AX5400 และ Archer AX23 แบบ Dual Band AX1800 ซึ่งทั้งสองตัวที่ยังคงสามารถรองรับอินเตอร์เน็ตความเร็วระดับ Gigabit พร้อมกับฟีเจอร์การใช้งาน และ ความปลอดภัยที่ทาง TP-Link ได้ใส่มาให้อย่างครบถ้วน
Package & Bundled
แพ็คเกจที่มาในสไตล์ของด้วยกล่องสีเขียวตามสไตล์ของ TP-Link ในยุค 2020-2021 มีการบ่งบอกรายละเอียดเอาไว้อย่างชัดเจน ของในชุดมีคู่มือการใช้งานเบื้องต้น ,สายแลน และ พาวเวอร์ซัพพลายแบบ 2 ขาแบน ที่ชอบมากคือสติกเกอร์ฉลาก SSID และ Password ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเอาไปติดที่ไหน
Design & Detail
มาถึงภาพรวมของ TP-Link Archer AX72 จะมีการเปลี่ยนรูปแบบรูปโฉมภายนอก ทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย โดยวัสดุภายนอกเป็นพลาสติกสีดำทั้งหมด พร้อมกับช่องระบายอากาศที่เยอะมาก เรียกได้ว่าใช้งานหนักนั้นระบายความร้อนได้สบาย ส่วนตรงกลางมีลูกเล่นตัดวางทแยงด้วยพลาสติกสีดำผิวเงา ตัดมาทางด้าน TP-Link Archer AX23 บอดีวัสดุภายนอกพลาสติกสีดำ แต่กลางเครื่องจะทำเป็นลักษณ์ของ "X" สีดำเงาตัดกันอย่างสวยงาม ขอบด้านหน้าจะเป็นไฟ LED แสดงสถานะการทำงาน ที่ทาง TP-Link ได้ใส่ไฟแสดงสถานะเอาไว้ครบถ้วนทั้งสองรุ่น
TP-Link Archer AX72 จะมีพอร์ต USB 3.0 รองรับกับการเชื่อมต่อ Storage ใช้งานในรูปแบบแชร์ไฟล์ หรือ สำรองข้อมูลได้สะดวกมากขึ้น พร้อมกับเสาอากาศ 6 ต้น ที่ไม่สามารถถอดได้ แต่สามารถปรับมุมและองศาได้ ส่วน TP-Link Archer AX23 จะมาด้วยเสาอากาศ 4 ต้น ไม่สามารถถอดออกได้เช่นกัน
ด้านล่างจะมีช่องระบายความร้อน พร้อมกับฉลากบ่งบอกข้อมูลประจำตัว ที่ยังสามารถห้อยหรือแขวนได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม
การใช้งานด้านหลัง ปุ่ม WPS ,ปุ่มเปิด/ปิดการทำงาน Wi-Fi ,ปุ่มรีเซ็ต ,พอร์ต Gigabit WAN ,จุดเชื่อมต่อพาวเวอร์ซัพพลาย และ ปุ่มพาวเวอร์ ทางด้านพอร์ต Gigabit Lan 4 ช่อง ที่ TP-Link Archer AX72 จะรองรับการทำ Link Aggregation และ ปุ่มปิด/เปิดไฟแสดงสถานะจะมีใน TP-Link Archer AX72 เท่านั้น
Setup
การเข้ามาเซ็ตอัพการใช้งาน สามารถทำผ่าน URL tplinkwifi.net ที่สะดวกสำหรับมือใหม่ดีครับ โดยถ้าใครไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถทำผ่านแอปบนสมาร์ทโฟนได้เช่นกัน
การปรับตั้งค่า Time Zone ซึ่งการใช้งานในประเทศไทย ก็ +07.00
มาถึงหน้าของสถานะการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ถ้าใครจะเอาไปต่อเป็น Bridge Mode ก็ไปเซ็ตที่ Router ตัวเดิมรอไว้ แล้วเตรียม User / Password ของ Account PPPoE ให้เรียบร้อย
การจัดการ Wi-Fi ในเบื้องต้น ถ้าใครจะให้รวมทั้งสองความถี่บน SSID ด้วยกัน ก็ใช้ Smart Connect ได้ครับ
ใครที่ชอบอัพเดท Firmware ก็มีฟีเจอร์อัพแบบออโต้ให้ครับ
การใช้งาน TP-Link Cloud ที่มีมาให้ใช้งานได้
Setup
หน้าของสถานะของระบบเครือข่าย ที่สะดวกใช้งานง่ายๆ สามารถเปิดปิดการทำงานของเครือข่ายไร้สายได้ทันที
สำหรับซีพียูของทั้งสองรุ่น จะเป็นแบบ Dual Core หรือ แบบ 2 แกน ทั้งคู่ ซึ่งส่วนนี้จะสามารถใช้ตรวจสอบการเชื่อมต่อพอร์ตแลนได้
ฟีเจอร์ รักษาความปลอดภัย HomeShield ที่ทาง TP-Link นั้นออกแบบมาให้สามารถจัดการผ่านแอปได้สะดวก
การจัดการเครือระบบ Network ที่เห็นความพิเศษที่ DDNS ทาง TP-Link จะมีบริการของโดนแบรนด์เอง แน่นอนว่าการเซ็ตอัพจะง่ายมากว่าการใช้ NO-IP หรือ DynDNS
การจัดการระบบเครือข่ายไร้สาย ซึ่งจะมีให้เลือกใช้งานฟีเจอร์ OFDMA และ การปรับแต่งการทำงานเครือข่ายไร้สาย สามารถแยกปรับ หรือ ใช้แบบ Smart Connect รวมสองความถี่บน SSID เดียวกัน
การตั้งค่าแบนด์วิดท์ ที่ในรุ่น Archer AX72 สามารถตั้งได้สูงสุดที่ 160 Mhz ในย่าน 5Ghz ก็เป็นไปตามเสาอากาศ 4T4R ตัดมาในรุ่น Archer AX23 สามารถตั้งได้สูงสุดที่ 80 Mhz ในย่าน 5Ghz ก็เป็นอีกหนึ่งจุดความแตกต่างตามราคาค่าตัว ข้อสังเกตุที่ Archer AX23 จะไม่รองรับ MU-MIMO ถ้าใช้งานในบ้านทั่วไป ไม่มีลูกข่ายที่ใช้งานจำนวนมากพร้อมกัน ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตแต่อย่างใด
Archer AX72 ที่มาพร้อมกับพอร์ต USB 3.0 รองรับการใช้งานสำรองข้อมูล หรือ ใช้แชร์ไฟล์ในเครือข่ายได้
ความปลอดภัยทางด้านเครือข่าย ด้วยระบบ Firewall ที่ควรจะเปิดไว้ครับ เพราะเดี๋ยวนี้การใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้นมีความเสี่ยงมากขึ้น ถ้าไม่ได้เปิด Firewall ก็เหมือนไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยออกไปในที่ชุมชน
การใช้งาน VPN ที่มีความจำเป็นมากกับการใช้งานยุคสมัยนี้
อีกหนึ่งจุดเด่นของ TP-Link ที่จะมีฟีเจอร์ OneMesh เพื่อการใช้ Range Extender จาก TP-Link ในรุ่นที่รองรับ มาเชื่อมต่อเพื่อขยายเพิ่มพื้นที่การใช้งานเครือข่ายไร้สาย ซึ่ง Archer AX72 และ Archer AX23 รองรับฟีเจอร์นี้ทั้งคู่
ฟีเจอร์ onemesh ใช้งานเครือข่ายไร้สายบน SSID ชื่อเดียวภายในบ้าน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเราเตอร์ และ Range Extender จากแบรนด์ TP-Link ที่รองรับฟีเจอร์นี้
ส่วนใครนั้นที่ต้องการซื้อ Archer AX72 และ Archer AX23 ไปใช้งานเป็น Access Point ไปเชื่อมต่อกับเครือข่ายเดิมที่ใช้อยู่ ก็สามารถทำได้ทั้งสองรุ่น
ประสิทธิภาพการใช้งาน
สำหรับลูกข่ายที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเราเตอร์ โดยผมใช้อินเตอร์เน็ตแพ็คเกจ 1000/300 Mbps แต่ลูกข่ายอื่นในบ้าน ยังมีการใช้งานกันอยู่ตามปกติ
1 : Notebook - ROG GL552V ที่อัพเกรดเป็น WiFi 6E : 160 Mhz (Intel AX210)
2 : Android Smartphone : Realme GT Neo Flash Edition ที่เป็น WiFi 6 : 80 Mhz (Mediatek Dimensity 1200)
3 : iOS Smartphone : Apple iPhone SE 2020 ที่เป็น WiFi 6 : 80 Mhz (A13 Bionic)
เราเตอร์ ชั้น 1 : ลูกข่าย ชั้น 1
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในการใช้งานแรก โดยจะทำการทดสอบบริเวณชั้นเดียวกันของบ้าน ประสิทธิภาพที่ทำออกมาได้นั้นถือว่าทำออกมาได้ใกล้เคียงกับระดับอินเตอร์เน็ตระดับความเร็ว Gigabit ทั้งสองรุ่น ด้วยค่า Ping ที่ถือว่าไม่สูงมาก ใช้งานได้ไหลลื่น ถ้าเปรียบเทียบกัน Archer AX72 สามารถทำประสิทธิภาพได้สูงกว่า Archer AX23 จากทั้งสามลูกข่ายที่ใช้ในการทดสอบ
เราเตอร์ ชั้น 1 : ลูกข่าย ชั้น 2
การทดสอบประสิทธิในชั้นที่แตกต่างกัน โดยการทดสอบครั้งนี้ทำการทดสอบบริเวณชั้นสองบ้านของบ้าน ความแรงที่ Archer AX72 ออกมาได้เนียนอยู่ การทดสอบร่วมกับโน้ตบุ๊คยังคงแรงดีไม่มีตกถ้าเทียบการทดสอบที่ชั้นเดียวกัน ส่วน Archer AX23 ที่เราจะเริ่มเห็นความแตกต่างกับ Archer AX72 ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากภาคขยายสัญญาณภายในเราเตอร์ ส่วนสมาร์ทโฟนมีการลดลงของความแรงลงไปบ้าง แต่โดยภาพรวมที่ยังถือว่าทำออกมาได้ดี โดยค่า Ping ที่ยังออกมาดูสวยงาม ใช้งานยังคงสามารถทำออกมาได้ไหลลื่น
Conclusion
TP-Link Archer AX72 และ Archer AX23 จากการทดสอบที่ทำออกมาได้นั้น ถ้ามองกันที่ความเร็วสูงสุดที่ยังคงสามารถทำออกมาได้ใกล้เคียงกับระดับ Gigabit ซึ่งถ้ามองกันที่ประสิทธิภาพสูงสุด Archer AX72 ด้วยความที่รองรับ HE160 จึงทำให้ประสิทธิภาพความแรงออกมาได้สูงกว่า ถ้ามองกันที่ความครอบคลุมความทะลุทะลวงของสัญญาณ Archer AX72 ด้วยการที่มีภาคขยายสัญญาณข้างใน ประสิทธิภาพในการทดสอบจึงออกมาได้ดีกว่า แต่ถ้ามองกลับกันสำหรับใครที่งบประมาณจำกัด อยากจะอัพเกรดเครือข่ายในบ้านให้เป็นมาตรฐาน WiFi 6 ซึ่ง Archer AX23 ก็ยังคงสามารถตอบโจทย์การใช้งานตามยุคสมัย 2021 ได้เป็นอย่างดี ถ้าเป็นการใช้งานในคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ และ บ้าน 2 ชั้น หรือ 3 ชั้น (ควรวางที่ชั้น 2 ของบ้าน) ถ้าไม่เน้นที่ความเร็วไร้สายชน Gigabit นับว่าคุ้มค่ากับการเลือก TP-Link Archer AX23 แต่ถ้าการใช้งานภายในพื้นที่ครอบคลุม มีสิ่งกีดขวางเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตไร้สายด้วยความเร็วชน Gigabit จ่ายแพงเพิ่มอีกนิดหน่อย TP-Link Archer AX72 นั้นจะเป็นอีกความลงตัว พร้อมด้วยการใช้งานที่ทาง TP-Link ใส่เข้ามามากขึ้น โดยภาพรวมประสิทธิภาพที่มันสามารถตอบโจทย์การใช้งานคอนเทนต์ระดับ 8K ได้อย่างไหลลื่น มี Homeshield ช่วงป้องกันความปลอดภัยภายในบ้านรวมถึงอุปกรณ์ IoT อีกทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อลูกข่ายจำนวนมาก ใช้งานพร้อมกันได้หลายลูกข่ายในเวลาเดียวกัน TP-Link Archer AX72 และ Archer AX23 เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกับการอัพเกรดระบบเครือข่ายภายในบ้านให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่า Wi-Fi Router จาก ISP ไม่ได้จำเป็นว่าต้องใช้ลูกข่าย Wi-Fi 6 ถึงเป็นการใช้งานร่วมกับลูกข่ายที่เป็น Wireless AC หรือ N การอัพเกรดระบบเครือข่ายมาเป็น WiFi 6 ใช้งานที่สามารถได้รับประสิทธิภาพในการใช้งานที่เหนือขึ้นอย่างแน่นอน เลือกตัดสินใจได้ตามงบประมาณ สำหรับวันนี้ก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ
Price : TP-LINK Archer AX72 3,390 บาท
: TP-LINK Archer AX23 1,990 บาท
Special Thanks : TP-Link Enterprise(Thailand) Co.,Ltd.