เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นโพสต์น้อยเนื้อต่ำใจบนโลกออนไลน์ ว่าเพื่อนบ้านเขามีเน็ตความเร็วสูงใช้กันแล้ว บางประเภทใช้กันถึงขั้น 1GB ความเร็ว Unlimit ก็มี ในขณะที่บ้านเรายังใช้กันอยู่แค่หลักสิบหรือหลักร้อย Mbps เท่านั้น .. ซึ่งตอนนั้นมันก็จริงครับ เราอาจจะไม่ได้เห็นความเร็วของเน็ตบ้านเราน่าประทับใจซักเท่าไหร่
แต่ก็ต้องยอมรับว่าภายในระยะเวลาไม่นาน ประเทศไทยของเราจัดว่ามีการพัฒนาทางด้านโครงข่าย Broadband Internet กันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังจากที่หลายค่ายมีการเปลี่ยนมาใช้การเดินสายแบบ Fiber Optics ทำให้การส่งข้อมูลนั้นทำได้เร็วมากขึ้นและระยะก็ดีขึ้นเช่นกัน .. จนประมาณว่าตอนนี้ไม่ว่าจะในเขตป่าเขา ก็มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้กันแล้ว
และยิ่งไปกว่านั้นตลาดตรงนี้ไม่ใช้ระบบสัมปทาน ไม่มีการผูกขาด ผู้ให้บริการจึงสามารถพัฒนาโครงข่ายของตัวเองได้อย่างไม่มีขีดจำกัด บวกกับการแข่งขันในตลาดที่เรียกว่าสูงมาก ประมาณว่าจัดโปร ลด แลก แจก แถม กันอย่างไม่ลดละ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ในราคาที่ไม่แพงเลย .. นอกจากนั้นแต่ละค่ายยังพยายามแย่งชิงลูกค้าด้วยการจัดโปรย้ายค่ายต่างๆนาๆ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จนสุดท้ายเราได้เห็นมาตรฐานอินเตอร์เน็ต ความเร็วระดับ 1Gbps ในราคาที่จับต้องได้ไม่ยากกันแล้ว !
เหตุนี้จึงทำให้ประเทศไทยขึ้นแท่นอันดับที่หนึ่ง ประเทศที่มีอินเตอร์เน็ต Broadband ความเร็วสูงเฉลี่ยมากที่สุดในโลก .. โดยการจัดอันดับนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่อย่างใด แต่มันคือ Ookla ผู้ให้บริการ Speedtest ชื่อดังที่เป็นที่นิยมนั่นเอง โดยข้อมูลระบุว่าในปี 2020 นั้นประเทศไทยขึ้นมาสองตำแหน่ง มาเป็นอันดับหนึ่งของโลก แซงหน้า Singapore และ Hongkong โดยความเร็วอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยของไทยจะอยู่ที่ 308.35Mbps ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่เพียงพอสำหรับการใช้งานทุกรูปแบบแล้ว
เห็นแบบนี้ ใครที่ยังโทษว่าเน็ตบ้านตัวเองไม่แรงอยู่ น่าจะต้องหันไปมอง Router และอุปกรณ์ Network ภายในบ้านแล้วหล่ะครับ ว่ามันประสิทธิภาพสูงพอที่จะใช้คู่กับ Internet ความเร็วสูงขนาดนั้นหรือเปล่า เพราะบางคนสมัครเน็ตแล้วก็คิดว่าจะสามารถใช้ความเร็วเท่านั้นได้เลย แต่ความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปครับ เพราะว่าความเร็วดังกล่าว ผู้ให้บริการระบุอยู่แล้วว่าสามารถใช้งานได้ต่อเมื่อเสียบผ่านสาย LAN โดยตรงเท่านั้น .. ถ้าอยากจะใช้ Wi-Fi ให้เต็มแบบนั้นด้วย อาจจะต้องซื้อ Router ที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้งานควบคู่กัน ซึ่งเป็นการลงทุนที่ผู้ใช้อาจจะต้องเสียเงินอีกหลายพันบาท
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยก็คือความเร็วอินเตอร์เน็ตต่างประเทศ .. เพราะส่วนใหญ่ความเร็วที่ทางผู้ให้บริการเคลมมา จะเป็นความเร็วในการส่งข้อมูลระหว่างอินเตอร์เน็ตภายในประเทศ หรือแค่จุดที่จัดไว้ให้สำหรับ Speedtest บางจุดเท่านั้น พอออกไปใช้งานกับเซริฟเวอร์ต่างประเทศที่อยู่นอกเหนือปัจจัยของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแล้ว เราอาจจะได้เห็นความเร็วนั้นร่วงไม่เป็นท่าเลยก็ได้เช่นกัน
ข้อมูล : Speedtest by Ookla