ถ้าคุณใช้ SSD แบบ External ของ SanDisk หรือ Western Digital อยู่ คุณควรจะอ่านบทความนี้ เพราะมันมีเรื่องสำคัญด้านข้อมูลที่คุณจะต้องรู้ไว้ คุณอาจจะใช้อุปกรณ์ที่มีการนับถอยหลังรอวันข้อมูลหายอยู่ !
แต่ก่อนจะไปว่ากันเรื่องนั้น ถ้าใครสงสัยว่าทำไมถึงเป็นทั้ง SanDisk และ Western Digital ก็ต้องบอกให้ทราบกันไว้ก่อนเลยว่าทั้งสองยี่ห้อนี้ก็เปรียบเสมือนยี่ห้อเดียวกัน เพราะทาง Western Digital นั้นได้มีการ Take Over หรือซื้อแบรนด์ SanDisk มาแล้วตั้งแต่ปี 2015 เพราะเช่นนั้นสินค้าทั้งสองแบรนด์นี้ถือว่าเป็นสินค้าในมาตรฐานเดียวกัน ออกมาจากบริษัทในเครือเดียวกันครับ
โอเค เข้าเรื่องกันครับ .. ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้นหล่ะ ? ย้อนไปในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ใช้ Reddit คนนึงมาเขียนเกี่ยวกับ SanDisk Extreme SSD ที่พังแล้วพังเล่า เอาไปเคลมได้ตัวใหม่มาก็พังอีก จนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว
หลังจากนั้น Western Digital ก็ได้มีการปล่อย Firmware ออกมาแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ไม่ได้มีการให้ข้อมูลว่าสำหรับผู้ใช้ที่เจอปัญหาไปแล้วเกิดข้อมูลศูนย์หายจะต้องทำยังไงบ้าง และก็ไม่ได้มีการยืนยันด้วยว่าอัปเดทดังกล่าวนั้นจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้จริงๆ .. เรื่องนี้ก็ลามใหญ่โตไปจนถึงขั้นที่ Western Digital กำลังจะถูกดำเนินคดีทางกฏหมายเลยทีเดียวครับ ทางด้านผู้บริโภคก็ได้มีการฟ้องร้องบริษัทว่า "มีการขาย SSD ที่มีปัญหา ทั้งๆที่รู้อยู่แล้ว" .. ข้อนี้ก็น่าจะเป็นเพราะว่า ทางบริโภคนั้นเห็นว่าแบรนด์ SanDisk ยังมีการขายสินค้ารุ่นดังกล่าวอยู่ทั้งๆที่มีปัญหามาแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมไปถึงหลังจากปล่อย Firmware ออกมาอัปเดทก็ยังมีปัญหาดังกล่าวอยู่ นอกจากนั้นยังมีการพบว่า Western Digital ได้มีการขาย SSD รุ่นดังกล่าวด้วยโปรโมชั่นลดราคาเพื่อที่จะกำจัดมันออกไปจากสต๊อกให้หมด
จากรายการอัปเดท Firmware ของ Western Digital นั้น เราก็ได้เห็นรุ่นที่มีปัญหาว่ามีอยู่หลายรุ่นเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น SanDisk Extreme Portable 4TB, Extreme Pro Portable 4TB, Extreme Pro 2TB และ 1TB และของฝั่งแบรนด์ Western Digital เองก็มีรุ่น My Passport 4TB เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งผู้ใช้สามารถดู Serial Number ของตัวเองได้ว่าสินค้าตัวที่ใช้อยู่นั้นเข้าข่ายหรือไม่ .. แต่รายงานคร่าวๆก็บอกว่า รุ่นที่มีปัญหานั้นจะเป็นรุ่นที่ผลิตหลังเดือนพฤศจิกายน 2022 เป็นต้นไป (อันนี้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ)
รายงานหลายแหล่งระบุว่า ปัญหานั้นจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อตัว Drive ได้มีการเก็บข้อมูลเกินระดับครึ่งนึงเป็นต้นไป และหลังจากนั้นก็จะมีการ Error ในการอ่านและเขียนโผล่ขึ้นมาให้เห็น จนกระทั่งตัว Drive แสดงเป็นสถานะ Unformatted และแม้กระทั่งการ Reformat ใหม่ก็ไม่อาจแก้ปัญหาที่ว่าได้ .. ส่วนเรื่องข้อมูลก็แน่นอนครับ ว่ามันจะหายไปอย่างถาวรโดยที่ผู้ใช้จะไม่สามารถกู้มันกลับมาได้เลย
และถ้าคุณใช้ SSD รุ่นที่เข้าข่ายอยู่หล่ะจะต้องทำยังไงบ้าง ? คำตอบก็คือ หยุดใช้มันเดี๋ยวนี้ และถ่ายโอนข้อมูลหรือ Backup ไปยังอุปกรณ์อื่นๆโดยเร่งด่วน
ส่วน SSD รุ่นอื่นๆของ SanDisk และ Western Digital หล่ะ ผู้ใช้สามารถสบายใจได้มั้ย ? ตอนนี้ก็ต้องบอกว่าสบายใจได้อยู่ครับ เพราะยังไม่เห็นว่ารุ่นอื่นนั้นมีรายงานปัญหามาแต่อย่างใดครับ แต่เราก็ยังไม่สามารถสบายใจได้ 100% เพราะว่าข้อมูลทั้งหมดนี้ยังไม่ได้มีการรายงานอะไรออกมาแบบจริงจังจาก Western Digital เลย ..
สุดท้ายแล้ว ข่าวนี้ก็อาจจะทำให้แบรนด์ SanDisk และ Western Digital เสื่อมเสียชื่อเสียงไปพอสมควร เพราะหน้าที่หลักๆของอุปกรณ์ Storage Device ก็คือการเก็บข้อมูล และการเรียกใช้ข้อมูล ถ้ามันไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างสมบูรณ์ก็ถือว่ามันไม่ใช่อุปกรณ์ Storage ที่ดี และด้วยความที่แบรนด์เป็นแบรนด์ใหญ่อันดับต้นๆของวงการ Storage ด้วย แต่ยังไม่ได้มีการชี้แจงอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันออกมา จึงทำให้ความเชื่อมั่นของบริโภคนั่นสั่นคลอนไปได้เหมือนกันครับ .. แต่ยังไงก็ตาม สำหรับผู้บริโภคเอง การ Backup ข้อมูลไว้หลายแหล่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่แล้วสำหรับคนที่เห็นว่าข้อมูลของตัวเองนั้นมีสำคัญมากๆ ไม่สามารถหายได้จริงๆ .. ถ้าไม่อยากซื้ออุปกรณ์ Backup หลายต่อ ก็อาจจะไปใช้บริการ Cloud Service เช่าพื้นที่บริการออนไลน์เอาครับ เพราะบริษัทผู้ให้บริการพวกนี้มักจะมีการ Backup ข้อมูลอยู่แล้ว เพราะเช่นนั้นก็อาจจะป้องกันเรื่องข้อมูลหายได้ระดับนึง แต่อาจจะต้องไปกังวลเรื่องข้อมูลรั่วไหลแทน ซึ่งโอกาสเกิดมันก็ไม่ได้มากเท่าไหร่ครับ
ข้อมูล : Zdnet