หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ “Windows Core OS” มากันบ้างแล้วระยะหนึ่งในฐานะที่เป็น อนาคตใหม่ของ Windows ซึ่งวันนี้เราจะมาสรุปข้อมูลเกี่ยวกับ Windows Core OS ให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายๆ
Windows Core OS คืออะไร?
Windows Core OS คือระบบปฏิบัติการที่จะเป็น “แกนหลัก” ของระบบปฏิบัติการจากไมโครซอฟท์ในอนาคตต่อจากนี้ หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเป็นแกนหลักที่จะถูกครอบด้วย CShell (Composable Shell) ที่ออกแบบมาเพื่อรันบนอุปกรณ์หลากหลายประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมา
อย่างกรณีของ Windows 10 ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า Windows 10 เองก็ถูกนำไปรันบนอุปกรณ์ที่หลากหลายแตกต่างกันโดยมีการแบ่งออกเป็นเวอร์ชั่นย่อยต่างๆ เช่น Windows 10 สำหรับเดสก์ท็อป, Windows 10 สำหรับ HoloLens, Windows 10 สำหรับอุปกรณ์ IoT, Windows 10 สำหรับ Surface Hub, Windows 10 สำหรับ Xbox และยังมี Windows 10 สำหรับสมาร์ทโฟนด้วย
แต่ปัญหาดันมีอยู่ว่า แม้จะเป็น Windows 10 ทั้งหมด แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเทคนิคบางประการภายในของตัวระบบปฏิบัติการ มันจึงทำงานบนอุปกรณ์ที่ไม่ได้ออกแบบมาโดยเฉพาะได้ไม่ดีนัก ที่เห็นได้ชัดๆ คือ Windows 10 ที่ทำงานได้ลื่นไหลมากบนเดสก์ทอปพีซี แต่พอไปอยู่ในสมาร์ทโฟนแล้ว ทุกอย่างกลับตาลปัตรแบบสิ้นเชิง (ใช้คำว่าห่วยแตกก็ไม่ผิด)
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า Windows 10 ทุกเวอร์ชั่นที่กล่าวมาต่างก็มีการแชร์ใช้องค์ประกอบบางอย่างร่วมกันเช่น OneCore และ OneCoreUAP ซึ่งเป็นเลเยอร์ของระบบปฏิบัติการที่คุณสามารถพบได้ใน Windows 10 ทุกเวอร์ชั่นที่ทำหน้าที่เปิดใช้งาน Universal Windows Platform แต่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือในระบบปฏิบัติการนั้นถูกเขียนขึ้นมาใหม่ให้เป็นเวอร์ชั่นเฉพาะสำหรับแต่ละอุปกรณ์ ปัญหาติดอยู่ที่ว่า การแลกเปลี่ยนหรือแชร์ข้อมูลเพื่อทำงานระหว่างกันนั้นไม่ไช่จะทำได้ทุกอย่าง บางคุณสมบัติ (ส่วนใหญ่) จะต้องถูกเขียนโค้ดขึ้นใหม่ทุกครั้งโดยทีมระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์แต่ละประเภทเพื่อให้ฟังก์ชั่นต่างๆ สามารถใช้งานได้ครบถ้วน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ Start Menu และ Action Center บน Windows 10 สำหรับเดสก์ท็อปและ Windows 10 Mobile ที่ไมโครซอฟท์พยายามอย่างหนักเพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งานเหมือนกัน แต่กว่าที่ฟีเจอร์ Live Folders ที่มีใน Windows 10 Mobile จะปรากฏบน Windows 10 เดสก์ทอป ผู้ใช้งานต้องรอนานเกินปี เหตุผลก็อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า แม้จะเป็นฟีเจอร์เดียวกัน แต่พออยู่ในแพลตฟอร์มที่ต่างกัน ทีมพัฒนาต้องเขียนโค้ดใหม่อีกครั้ง
ดังนั้นแทนที่ไมโครซอฟท์จะต้องสร้าง Windows 10 ใหม่ทุกครั้งเมื่อมีอุปกรณ์ใหม่เปิดตัวสู่ตลาด (งานซ้ำซ้อน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม) โครงการ Windows Core OS จึงเกิดขึ้นโดยมุ่งหวังให้เป็น Ecosystem สำหรับการพัฒนาระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ๆ สำหรับทุกอุปกรณ์บนพื้นฐาน Core OS ที่สามารถดึงคุณสมบัติและฟังก์ชั่นที่มีอยู่แล้วไปใช้งานได้ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ (แถมต้นทุนค่าใช้จ่ายก็ลดลงด้วย)
รู้จัก CShell: ยูสเซอร์อินเทอร์เฟซที่ก้าวไปอีกขั้น
แนวคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบที่ใช้ร่วมกันยังลามไปถึงเรื่องของ UI ที่ไมโครซอฟท์ได้เคยพัฒนามาก่อนหน้านี้และเรียกมันว่า “Composable Shell” หรือ “CShell” ซึ่งจะว่าไป CShell ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกครึ่งหนึ่งของ Windows Core OS ที่ช่วยให้ไมโครซอฟท์สามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่สามารถแชร์ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ หรือผนวกรวมเข้าด้วยกันได้อย่างไม่รู้สึกขัดขืนเหมือนที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น คุณลักษณะในการใช้งาน Action Center, Start Menu หรือทาสก์บาร์นั้นจะสามารถใช้งานได้เหมือนกันบนทุกอุปกรณ์ (ที่สนับสนุน CShell) โดยที่ไมโครซอฟท์ไม่ต้องเขียนโค้ดขึ้นใหม่ทุกครั้งอีกต่อไป
สมมติว่าในอนาคตไมโครซอฟท์ตัดสินใจสร้าง Surface Phone ที่ใช้ Windows Core OS ขึ้นมาจำหน่าย สิ่งที่เราจะได้สัมผัสคือ ทันทีที่วาง Surface Phone ลงบน Dock ที่เชื่อมต่อเข้ากับจอมอนิเตอร์ เดสก์ทอปที่สร้างด้วย CShell จะปรากฏขึ้นให้คุณสัมผัสประสบการณ์การใช้งานเหมือนเดสก์ทอปบนพีซี ไม่ใช่เดสก์ทอปปลอมอย่างเราเคยเห็นใน Windows 10 Mobile (คลิกดูวิดีโอสาธิต CShell บนสองแพลตฟอร์ม) หรือลองจินตนาการดูว่า เมื่อเสียบจอยคอนโทรลเลอร์ของ Xbox เข้ากับพีซี Windows จะเปลี่ยนเข้าสู่ “Game Mode” ที่มีอินเทอร์เฟซเหมือนในเครื่องคอนโซล Xbox และเกมบนพีซีทั้งหมดของคุณจะถูกแสดงเป็น Tile พร้อมให้เลือกเล่นได้ทันที ... ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ด้วย CShell และ Windows Core OS
สรุปความน่าสนใจของ WINDOWS CORE OS
แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเบื้องลึกของ Windows Core OS มากนัก แต่สำนักข่าวในต่างประเทศก็ได้ทำการวิเคราะห์คาดเดาฟีเจอร์ไฮไลท์ที่น่าสนใจของระบบปฏิบัติการแห่งอนาคตตัวนี้ไว้ 7 อย่างดังต่อไปนี้
1. จะทำให้การใช้ Windows 10 บนแต่ละอุปกรณ์ให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกัน ใช้งานได้ลื่นไหลกว่าเดิม
2. ระบบ Windows Update ปรับปรุงใหม่ ใช้เวลาน้อยกว่า 60 วินาทีและไม่ขัดจังหวะการทำงานของผู้ใช้
3. ปลอดภัยจากการโจมตี เพราะแยกส่วนของระบบปฏิบัติการและแอพพลิเคชันแยกจากกัน
4. ใช้งานกับอุปกรณ์ได้หลากหลายประเภท พร้อมใช้งานทันทีที่เปิดใช้ ประหยัดแบตเตอรี่ สามารถใช้งานอุปกรณ์พกพาได้นานขึ้น
5. เชื่อมโยงพลังประมวลผลจากคลาวด์ ช่วยให้การทำงานโดยรวมเร็วขึ้น
6. เพิ่มความสามารถด้าน AI คาดเดาล่วงหน้าว่าผู้ใช้ต้องการทำอะไร และพร้อมให้คำแนะนำ
7. รองรับอินพุตหลากหลาย ปากกา เสียง สัมผัส ม่านตา คีย์บอร์ด เมาส์
Windows Core OS จะมาแทน Windows 10?
หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าแล้วมันจะมาแทน Windows 10 ในปัจจุบันหรือเปล่า? จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน สามารถตอบได้เพียงว่า Windows 10 จะยังคงมีอยู่ต่อไปและจะเป็นตัวเลือกหลักสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการระบบปฏิบัติการที่มาพร้อมฟีเจอร์การใช้งานแบบครบๆ ในขณะที่ Windows Core OS ไมโครซอฟท์ตั้งใจจะใช้ Windows Core OS สำหรับอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกฟังก์ชันที่มีในวินโดวส์ (จะมีฟังก์ชันที่เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์นั้นๆ เท่านั้น) และแน่นอนว่ามันจะมี UI ที่เรียบง่ายและใช้งานได้สะดวกสบายสุดๆ
ส่วนคำถามที่ว่าจะสามารถติดตั้ง Windows Core OS ลงในเครื่องพีซีที่ใช้งานอยู่ปัจจุบันได้หรือไม่? ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากไมโครซอฟท์ในขณะนี้เช่นกัน แต่หากวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเทคนิคอาจตอบได้เบื้องต้นว่า “อาจจะไม่ได้” เพราะ Windows Core OS มุ่งไปที่ประสบการณ์ในการใช้งานบนอุปกรณ์โมบายล์เป็นหลัก
สรุปแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณเป็น Power-Users, เกมเมอร์ หรือผู้ใช้งานระดับองค์กร Windows 10 จะยังคงเป็นตัวเลือกหลักที่ตอบโจทย์การทำงานได้สมบูรณ์แบบ ในขณะที่ Windows Core OS นั้นจะคล้ายกับระบบปฏิบัติการ iOS ของแอปเปิ้ล ที่เหมาะสำหรับอุปกรณ์พกพาและใช้งานแบบพื้นฐานทั่วไป
Windows Core OS จะมาเมื่อไหร่?
จนถึงวันที่กำลังเขียนบทความนี้ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการจากไมโครซอฟท์เกี่ยวกับ Windows Core OS แต่ถ้าตามจากข่าวการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง HoloLens 2 ที่ถูกนำมาจัดแสดงในงาน Computex 2019 ที่ผ่านมา Windows Lite วินโดวส์เวอร์ชั่นสำหรับอุปกรณ์พกพาแบบพับได้ (Dual-Screen Devices) รวมไปถึง Surface เจนเนอเรชั่นที่ 7 ที่กำลังจะเปิดตัวในเดือนหน้านี้ก็น่าจะเป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้เห็น Windows Core OS อย่างเร็วที่สุดก็ภายในปี 2020
ข้อมูล: microsoft.com, windowscentral.com, techadvisor.co.uk, howtogeek.com, xbox.com