อย่างที่รู้ๆกันครับ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแต่ข่าวที่ไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม แม้กระทั่งตลาดคอมพิวเตอร์ที่เป็นสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีซึ่งปกติควรจะอยู่ในขาขึ้นตลอด แต่หลังจากที่ COVID-19 จบลง ความต้องการของตลาดก็น้อยลงไป โดยเฉพาะในปี 2022 เป็นต้นมานี้ เราได้เห็นตัวเลขการส่งมอบที่ลดลงกว่าปีก่อนหน้าไป 15% และคาดว่าในปี 2023 นี้ก็จะจบแบบติดลบอีกเช่นเดียวกัน
แตแม้ว่าตลาด PC โดยรวมจะอยู่ในขาลง แต่ทาง Counterpoint Research ออกมาให้ข้อมูลว่า คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ้กประเภทที่ใช้หน่วยประมวลผลพื้นฐาน ARM นั้นกลับมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง และมีความต้องการของตลาดที่สวนทางกับตลาดคอมพิวเตอร์โดยรวม
สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจว่า ARM นั้นหมายความว่ายังไง ก็ต้องอธิบายกันง่ายๆก่อนครับ คือ Processor เนี่ยมันมีพื้นฐานอยู่หลายประเภท อย่างที่เรารู้จักกันและใช้งานกันอยู่ในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือโน๊ตบุ้กหลักๆก็จะเป็น x86 ในพวก CPU จากทาง Intel และ AMD ส่วนอีกพื้นฐานนึงก็จะเป็น ARM ที่เราใช้กันในพวกมือถือและ Gadget อย่างเช่น Smartphone, Tablet, และอุปกรณ์ Smart อื่นๆ ความแตกต่างหลักๆก็คือ ARM นั้นเป็นหน่วยประมวลผลประเภท RISC หรือ Reduced Instruction Set Computing แต่ x86 จะเป็น CISC (Complex Instruction Set Computing) ซึ่งมีการทำงานและข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทในการใช้งาน .. ซึ่งตรงนี้ถ้าเป็นสมัยก่อน เราก็ตีรวมง่ายๆไปเลยว่า คอม จะต้องเป็น x86 ส่วน ARM นั้นจะมากับพวกมือถือ แทปเล็ต หรืออะไรก็ตามที่มันไม่ได้ต้องการประมวลผลซับซ้อนอะไรมากมาย
แต่ปัจจุบันนี้มันไม่เหมือนกับแต่ก่อนแล้วครับ เพราะว่าคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ x86 กันเมื่อก่อน ก็มีตัวเลือกที่เป็น RISC เข้ามาด้วยแล้ว และหลายๆเจ้าก็สามารถทำหน่วยประมวลผลที่เป็นพื้นฐาน ARM ออกมาได้น่าประทับใจ จากพื้นฐานของระบบที่สามารถต่อยอดเข้ากับ Ecosystem ของตัวเองได้ อย่างเช่น Apple ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าประสิทธิภาพของ Processor ARM นั้นใกล้ หรือดีกว่า x86 ได้ และยังมี Ecosystem ที่ทำให้การใช้งานนั้นสะดวกมากขึ้นไปอีก ทำให้ความต้องการของตลาดในฝั่ง Mac นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก
หลังจากที่ Apple ได้เปิดตัว M1 Chip ซึ่งเป็นหน่วยประมวลผลแบบ In-House ผลิตเองในปี 2020 เป็นต้นมา การใช้งานใน Ecosystem ของ Apple ระหว่าง iPhone, iPad และ MacOS นั้นก็ง่ายดายและมีประสิทธิภาพสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากนั้นแล้วพลังการประมวลผลต่อการบริโภคพลังงานก็จัดว่าเป็นอะไรที่ปฏิวัติวงการเลยก็ว่าได้ครับ .. ตรงนี้แหละ ที่ทำให้ MacBook เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เนื่องจากประสิทธิภาพของมันที่มีแอปเฉพาะแล้วสามารถทำงานได้รวดเร็วไม่แพ้กับคอมพิวเตอร์ฝั่ง Windows ประสิทธิภาพสูง แต่ยังประหยัดพลังงานมากกว่า ... ตรงนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับตลาดของคอมพิวเตอร์ที่เราได้เริ่มเห็นการเติบโตของ ARM ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
ภายในปี 2022 ส่วนแบ่งทางการตลาดของ ARM ในฝั่งคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ้กก็เพิ่มขึ้นมาจาก 2% ไปเป็น 12% .. แต่จากตัวเลขทั้งหมดนี้ แค่ Apple แบรนด์เดียวก็ถือส่วนแบ่งไปแล้วกว่า 90% จาก 12% ที่ว่าไป
สำหรับแบรนด์อื่นๆที่ทำหน่วยประมวลผล ARM อย่างเช่น Qualcomm และ MediaTek ก็คาดว่าจะตามมาเร็วๆนี้ .. จากที่ทั้งคู่มีพื้นฐานในการพัฒนา SoC บน Smartphone อยู่แล้ว เพราะเช่นนั้นถ้าทั้งคู่จะทำหน่วยประมวลผลสำหรับคอมพิวเตอร์ขึ้นมาด้วยก็คงไม่ใช่อะไรที่เกินความสามารถแต่อย่างใดครับ ซึ่งรายงานก็ระบุไว้ว่าทั้งสองค่ายนี้น่าจะเปิดตัว Processor สำหรับ Laptop ภายในไม่เกินปี 2024 นี้
ด้วยอัตราการเติบโตของ ARM แบบนี้แล้ว ทางบริษัทวิจัย Counterpoint Research ก็คาดว่าภายในปี 2027 ส่วนแบ่งของ Notebook ที่เป็น ARM จะครองตลาดสูงถึง 25% จาก Notebook ทั้งหมด โดยผู้ที่เจ็บหนักที่สุดก็จะเป็น Intel เพราะปัจจุบันนี้ Intel ก็ครองตลาดส่วนใหญ่ และภายใน 2027 ทาง Intel ก็จะเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับ ARM อีก 10% แต่ก็จะยังคงถือส่วนแบ่งตลาดโดยรวม 60% อยู่ดีครับ
งานนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าทิศทางของตลาดจะเป็นยังไง ดูซิว่าหน่วยประมวลผล ARM จะสามารถเข้าไปทำตลาดในกลุ่ม Vendor หรือแบรนด์คอมที่ปัจจุบันใช้ x86 ได้มากมายขนาดไหน อันนี้เราได้เห็นไปแล้วรอบนึงในช่วง Chromebook boom ประมาณปี 2020 ที่คอมพิวเตอร์แบรนด์หลักหลายๆแบรนด์ได้มีการผลิตเครื่องที่ออกแบบมาใช้งานกับ ChromeOS และใช้ Processor พื้นฐาน .. ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับ Ecosystem นั้นๆด้วย ถ้ามันถูกจำกัดมากแบบ Chromebook ที่ใช้ ChromeOS ก็อาจจะไม่ได้เกิด แต่ถ้า Windows เวอร์ชั่น ARM มีฟีเจอร์ที่เหมาะสมและเสถียรภาพที่เทียบเท่ากับเวอร์ชั่น x86 แล้วหล่ะก็ มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะได้เห็นหน่วยประมวลผลพื้นฐาน ARM เติบโตได้เร็วมากกว่านี้อีกครับ
ข้อมูล : TechPowerUp