เชื่อว่าแทบทุกคนต้องเคยได้รับสายจาก "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" มากันบ้างแล้ว โดยวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพพวกนี้ก็มีอยู่หลายวิธีครับ ตั้งแต่การโทรมาแจ้งเรื่องตกใจว่าคุณอาจจะเกี่ยวข้องกับคดีผิดกฏหมาย ให้โอนเงินไปเพื่อตรวจสอบ มิเช่นนั้นจะโดนดำเนินคดี ซึ่งอันนี้คงเป็นวิธีที่เบสิคที่สุด เพราะเหยื่อที่โดนหลอกนั้นจะเป็นคนโอนเงินไปเอง ... หรือวิธีต่อมาอาจจะดูล้ำขึ้นมาหน่อย ก็คือแกล้งโทรมาชวนคุย บอกว่าเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์แอปนู้นนี้ มีของจะแจก ให้เพิ่มเพื่อนในไลน์ แล้วพอเพิ่มเพื่อนก็ให้กดลิงค์ หรือวิธีอื่นๆอะไรก็ได้ ที่ทำให้เหยื่อนั้นกดลิงค์เข้าไป .. หลังจากนั้นก็อาจจะมีการให้ติดตั้งแอปอะไรซักอย่าง เพื่อหลอกเข้ามาควบคุมเครื่อง หาวิธีโอนเงินออกจากบัญชี
แต่วิธีที่ผมได้ยินมาล่าสุดวันนี้มันน่ากลัว ถึงขั้นที่ว่าคนที่ทำงานกับเทคโนโลยีอย่างผมยังตกใจเลยครับ ว่ามันเป็นไปได้ยังไง ? คร่าวๆคือตอนนี้สำนักข่าวไทยหลายแห่งได้รับข้อมูลจาก นายเอ (นามสมมุติ) อายุ 23 ปี ผู้ที่เคยถูกหลอกให้ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่เมืองปอยเปต กัมพูชา แล้วหนีออกมาได้ โดยเขาได้ออกมาให้ข้อมูลกับทางการว่า วิธีที่เขาหลอกคนนั้นมันมียังไงบ้าง
หลักๆเนื้อความก็คือ เขามีหน้าที่ที่จะต้องโทรไปหาเหยื่อ ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือคนที่มีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมาก แล้วก็ชวนคุยกับเหยื่อให้เหยื่อยืนยันเลขบัตรประจำตัวประชาชนว่าใช่หรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้วทางมิจฉาชีพก็มีข้อมูลของเหยื่อที่ครบถ้วนอยู่แล้ว เพราะตอนที่เอาเบอร์มาโทรไปนั้น ฝั่งมิจฉาชีพก็ได้ซื้อข้อมูลส่วนตัวมาจากคนในของธนาคาร .. ทางมิจฉาชีพก็จะหลอกล่อให้เหยื่อพูดข้อมูลให้ตรงกับที่ได้มาเท่านั้นก็เป็นอันจบ
เวลาการคุยสนทนากับเหยื่อนั้นก็จะราวๆ 1-2 นาที โดยที่หลังจากสนทนาเสร็จ ทางมิจฉาชีพก็จะส่งโทรศัพท์ไปต่อกับเครื่องที่เขาเรียกว่า เครื่องดูดเงิน ซึ่งมีอยู่สี่เครื่อง ราคาเครื่องละสี่ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราวๆ 140 ล้านบาท สามารถดูดเงินได้มากถึง 70 บัญชีต่อวัน และคนจีนก็จะเป็นผู้ควบคุมเครื่องดังกล่าว
ฟังดูทั้งหมดนี้แล้ว ก็เป็นอะไรที่ดูน่าสงสัยมาก ว่าเครื่องดูดเงินที่ว่านี้มันคืออะไร ? มันจะดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารเราได้ยังไง ถ้าเราไม่ได้กดลิงค์ Scam หรือติดตั้งอะไรให้คนเข้ามาควบคุมเครื่องเราได้ เงินมันจะออกไปทางไหน ? ซึ่งตรงนี้แม้กระทั่งตำรวจไซเบอร์เองก็ยังตอบไม่ได้ พร้อมกับบอกว่าถ้าใครโดนแบบนี้ ให้รีบแจ้งความด่วนเลย เพราะตำรวจก็อยากรู้ อยากดู log เหมือนกัน ว่าเงินมันโอนออกไปได้ทางไหน
ส่วนตัวผมถ้าให้เดานะครับ เครื่องดูดเงินที่ว่านี้น่าจะเป็นเครื่องประมวลผลทางเสียงหรือเปล่า โดยหลักการทำงานของมันก็น่าจะเอาเสียงที่ผู้ใช้ยืนยันตัวตน พูดข้อมูลที่มี ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน บัญชีธนาคาร ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด ไปประมวลผลแล้วไปถอนเงินออกจากธนาคาร .. ซึ่งข้อมูลตรงนี้มิจฉาชีพก็มีอยู่แล้ว แค่ต้องการให้เหยื่อทวนออกมาเป็นเสียงของตัวเองเท่านั้น เพียงแค่นี้ทางมิจฉาชีพก็จะเอาเสียงของผู้ใช้เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนและถอนเงินจากธนาคารต่อไป
แต่ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ผมก็อยากรู้เหมือนกันครับ ว่าธนาคารมีมาตรการอะไรในการตรวจสอบบ้าง เพราะถ้าข้อมูลที่ธนาคารมีอยู่นั้น ถูกขายหรือรั่วไหลไปถึงมิจฉาชีพแล้ว เพียงแค่ฝั่งมิจฉาชีพมีข้อมูลและเสียงของเจ้าของบัญชีจริงๆ ก็สามารถถอนหรือโอนเงินออกได้แล้วเหรอ ? ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ถือว่าระบบของธนาคารนั้นหละหลวมมากเลยหล่ะครับ
นี่เป็นอีกหนึ่งความอันตรายของเทคโนโลยี ที่ยิ่งสะดวกสบายมาก ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย .. ในอนาคต ถ้าจะถอนเงินก้อนใหญ่จริงๆ สงสัยจะต้องเดินไปทำธุรกรรมที่สาขากันจริงๆแล้วหล่ะ .. แล้วต่อให้ถึงขั้นนั้น จะมีเทคโนโลยีอะไรที่จะปลอมแปลงตัวตนคนได้อีกหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันครับ
ข้อมูล : สำนักข่าวไทย