ปัจจุบันนี้ Bitcoin จัดว่าเป็นสินทรัพย์อย่างนึง ไม่ต่างจากเงินกระดาษหรือทองคำ เพราะมีมูลค่าในการซื้อขาย ผู้ใช้สามารถใช้มันเป็นสกุลเงิน หรือ จะเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ หรือ เทรดเพื่อทำกำไรก็ได้ทั้งนั้น แม้ว่าการยอมรับอาจจะยังไม่ได้กว้างขวางเหมือนกับทองคำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการนำมันมาใช้ประโยชน์มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก .. แต่ปัจจัยนึงที่เป็นข้อที่ให้ถกเถียงกันก็คือ Cryptocurrency ที่ใช้ Proof of Work อย่างเช่น Bitcoin นั้นต้องมีการใช้พลังงานมหาศาลในการขุด หรือทำ Transaction โอนให้กันและกัน
อย่างข้อมูลล่าสุดที่เราได้เห็นมาใน Research Paper ที่ถูกเผยแพร่บน Cell Reports Sustainability ในหัวข้อ "Bitcoin's Growing Water Footprint" ก็ได้ระบุว่าทุก Transaction ของ Bitcoin นั้นจะมีการใช้น้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 4,227 แกลลอน หรือ เปรียบเทียบได้ประมาณเท่ากับสระว่ายน้ำหนึ่งสระเลยทีเดียว และตัวเลขนี้เกิดขึ้นทุก Transaction ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือขาย และด้วยสาเหตุนี้อาจจะทำให้ประเทศหลายๆแห่งอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำจืดได้ ถ้า Bitcoin ได้รับการยอมรับและมีการใช้งานที่มากกว่านี้
วิจัยครั้งนี้ถูกทำโดย Data Scientist ที่ DNB และ Research ของ VU Amserdam, Alex De Vries ผู้ที่เขียนข้อมูลว่าการบริโภคน้ำนั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา และได้คำนวนไว้ด้วยว่าพลังการประมวลผลที่ใช้ใน Bitcoin Network นั้นใช้ปริมาณน้ำประมาณ 6.8 - 35.1 พันล้านลิตรต่อปีในสหรัฐอเมริกา หรือ ถ้าตีง่ายๆก็ประมาณสระน้ำหนึ่งสระต่อการโอนหนึ่งครั้ง
มาถึงตรงนี้หลายๆคนอาจจะงงว่าการขุด BTC มันไปเกี่ยวอะไรกับการบริโภคน้ำ ซึ่งตอนแรกผมเองก็งงเหมือนกันครับ .. จากการวิจัยก็จะมีการนับรวมทั้งแบบทางตรงและทางอ้อมด้วย แต่จะจำกัดอยู่ปริมาณของน้ำจืดเท่านั้น โดยน้ำที่ใช้จะเป็นการใช้งานของ Data Center สำหรับการระบายความร้อน และการคุมความชื้นที่เหมาะสมสำหรับ Server ส่วนอีกแหล่งก็จะเป็นปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้ Server เหล่านี้ทำงานได้ โดยการบริโภคพลังงานนั้นจะเสมอต้นเสมอปลาย รวมไปถึงการบริโภคน้ำด้วย
จากข้อมูลในเดือนมีนาคม 2023 มีการใช้น้ำอยู่ราวๆ 93.5 - 120 Gigalitre หรือใกล้เคียงกับจำนวนครัวเรือน 300,000 หลังในสหรัฐโดยเฉลี่ย โดยการขุด บิทคอยน์ ส่วนใหญ่นั้นจะทำที่รัฐ Texas ซึ่งจะมีการใช้น้ำจืดราวๆ 53.1 - 68.4 Gigalitre (หนึ่ง Gigalitre คือ 1 พันล้าน ลิตร) .. ต่อมาก็จะเป็นการใช้น้ำใน Kazakhstan ที่คาดว่าจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำจืดที่ 997.7 Gigalitre ภายในปี 2030 ซึ่งสาเหตุหลักๆก็เป็นเพราะว่าในจีนนั้นมีการแบนการขุด Bitcoin ทำให้เหมืองหลายๆที่ต้องย้ายไปที่นี่แทน จนตอนนี้ประเทศ คาซัคสถาน กลายเป็นแหล่งขุด Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดแล้ว
แล้วทีนี้การแก้ปัญหาต้องทำยังไง ? อย่างแรกเลยก็อาจจะต้องเป็นการหาวิธีระบายความร้อนแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการจุ่มลงใน Dielectric Fluid หรือของเหลวที่ไม่นำไฟฟ้า .. ส่วนเรื่องการบริโภคพลังงานนั้นก็อาจจะต้องหาโรงผลิตไฟฟ้าที่ไม่ใช้น้ำแทน ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม หรือ แสงอาทิตย์ และความร้อนจากแกนโลกแทน อย่างน้อยก็ในรัฐที่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจืดอาจจะเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน .. แต่นี่ก็เป็นแค่ปัจจัยอย่างนึงเท่านั้นนะครับ การขุด Bitcoin ยังมีผลกระทบอื่นๆอีกไม่ว่าจะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อมีการเปลี่ยนตัว Miner
ในขณะเดียวกัน Ethereum ที่ตอนแรกก็เป็น Proof of Work เหมือนกัน ได้มีการแก้ปัญหาตรงนี้ด้วยการเปลี่ยน Ecosystem และ Software ใหม่ ให้เป็น Proof of Stake แทน แต่สำหรับ Bitcoin แล้ว ตรงนี้ก็ยังมีกระแสต่อต้านอยู่พอสมควร เพราะไอเดียที่ว่า Proof of Work นั้นเป็นอะไรที่ดูยั่งยืนมากกว่า
สุดท้ายแล้ว ก่อนที่เหล่า Bitcoin Maximalist จะหัวร้อนกัน เพราะมีข้อมูลด้านลบออกมา ก็ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่าไม่มีอะไรที่ Perfect 100% หรอกครับ ในเมื่อเป็น Proof of Work ก็ต้องมีการใช้พลังงานเป็นธรรมดา ซึ่งใน Research นี้จะเป็นการรายงานเรื่องการใช้น้ำของการขุด Bitcoin เป็นหลัก ซึ่งไม่ได้มีการเปรียบเทียบว่าแบบอื่น หรือแม้กระทั่ง Fiat Currency หรือเงินกระดาษที่เราใช้กันนั้น มีการบริโภคน้ำจืดหรือพลังงานเท่าไหร่ จาก Server ของเหล่าธนาคารทั้งหลาย อันนี้เราก็ต้องไปหา Research อื่นๆมาเปรียบเทียบกันอีกที แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้มองกันอย่างเป็นกลางครับ ไม่ใช่ว่าเอาความเชื่อหรืออารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียว
ข้อมูล : Tom's Hardware