เชื่อว่าหลายๆ คนที่เดินเข้าไปในร้านค้าไอทีหรือร้านกล้องแล้วแวะไปดูการ์ดหน่วยความจำหรือ SD Card อาจจะรู้สึกว่า ทำไมมันมีหลายราคา มีแบรนด์มากมาย มีสัญลักษณ์อะไรไม่รู้เต็มไปหมด หลากหลายความจุ แถมยังมีการ์ดจิ๋วๆ อย่าง microSD อีก เรื่องเหล่านี้อาจทำให้คุณต้องปวดหัว แม้กระทั่งคนที่ติดตามข่าวสารหรือรู้เรื่องของการ์ดหน่วยความจำเป็นอย่างดีเมื่อคุณคิดจะซื้อมัน และแน่นอนว่า ในเวลานี้ผู้คนต่างก็มองหาการ์ด microSD เพื่อขยายความจุให้กับสมาร์ทโฟนมากกว่าการ์ด SD Card เสียอีก แถมยังรวมถึงคอนโซล์พกพาอย่าง Nintendo Switch หรือกล้องขนาดเล็กอื่นๆ ดังนั้นในบทความนี้จะช่วยอัพเดตและย้ำให้คุณทราบว่า การ์ดหน่วยความจำในตลาดนั้นมีข้อแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่า การ์ดที่คุณซื้อนั้นใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ได้อย่างไร้ปัญหาและมีประสิทธิภา
ชนิดและขนาดที่แตกต่างกันของการ์ดแต่ละประเภท
ตามที่ได้เขียนไว้ข้างต้น บทความนี้เราจะอธิบายถึงเรื่องของการ์ด microSD ที่กำลังเป็นที่นิยม แต่ด้วยความที่คุณสมบัติของการ์ดนั้นมีความทับซ้อนในเรื่องเทคโนโลยีภายใน ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้พิจารณากับการ์ดหน่วยความจำกลุ่ม SD Card รูปแบบอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน ที่นี้มาดูรูปแบบของ SD Card แต่ละชนิดกันว่า มีขนาดเท่าใดบ้าง

จากตางรางข้างต้นจะเห็นว่า สัญลักษณ์ต่างๆ อย่าง Speed Class ก็มีข้อแตกต่างกันที่ระบุไว้แตกต่างกัน ตรงนี้ทาง SD Association เป็นผู้จัดทำระบบการจำแนกเอาไว้ให้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถแยกแยะความแตกต่างว่า การ์ดแบบไหนเหมาะกับการใช้งานอะไรหรือวัตถุประสงค์อะไร โดยหมายเลข “Class” จะบ่งบอกถึงความเร็วของการ์ด เช่น “Class 2” คือความเร็วการเขียนข้อมูลต่อเนื่องขั้นต่ำสุด 2MB/s สำหรับการบันทึกวิดีโอระดับ SD และการอ่านข้อมูลเพื่อเล่นไฟล์ ขณะที่ “Class 10” หรือความเร็ว 10MB/s ก็จะเหมาะกับการใช้งานที่ทำการบันทึกหรือเล่นวิดีโอได้ถึงระดับ 4K
นอกจากนี้การ์ด SDHC และ SDXC บางรุ่นยังมีการระบุการจำแนกประเภทของ UHS หรือ Ultra High Speed เพิ่มเติมเข้าไปอีก ซึ่งหมายถึง SD Bus Mode หรือผู้ผลิตบางรายอาจเรียกว่าอินเทอร์เฟซ เพื่อแสดงถึงการรองรับข้อกำหนดของความเร็วการโอนถ่ายข้อมูลที่ดีขึ้น โดยเพิ่มเติมอีก 3 ระดับ เช่น UHS-I, UHS-II, UHS-III ยกตัวอย่างเช่น UHS-I Speed Class 1 มีความเร็วในการเขียนขั้นต่ำที่ 10MB/s ในขณะที่ UHS-I Speed Class 3 มีความเร็วในการเขียนขั้นต่ำที่ 30MB/s และเมื่อไม่นานมานี้ UHS-III v6.0 ก็ได้เปิดตัวออกมา ซึ่งบรรจุเอาคุณสมบัติในการส่งผ่านข้อมูลแบบ Full-Duplex เข้ามาเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของมาตรฐานด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นทางสมาคม SD Association ยังเพิ่มเติมความชัดเจนในการโอนถ่ายข้อมูลด้วย “Video Class” อย่างเช่น สัญลักษณ์ V10 จะการันตีว่า มีความเร็วการเขียนเรียงลำดับขั้นต่ำ 10MB/s และในตอนนี้ก็ขยับไปถึง V90 หรือ 90MB/s นั่นเอง ซึ่งรองรับการบันทึกวิดีโอระดับ 8K ที่ความเร็วภาพ 60fps หรือ 120fps
“A” บ่งบอกถึง Application Performance Class
สำหรับสัญลักษณ์ “A” ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับ SD Card ซึ่งเป็นการแสดงถึงประสิทธิภาพในการทำงานขั้นต่ำของค่า IOPS หรือ Input-output Operation per Second และแบ่งเป็นระดับชั้นเช่น A1, A2 โดยค่าการทำงานของ A1 นั้นจะมีค่าการอ่านแบบสุ่มที่ 1500 IOPS และเขียนแบบสุ่ม 500 IOPS ส่วนอีกระดับที่สูงกว่าจะมีค่า 4000 IOPS และ 2000 IOPS ตามลำดับ นอกจากนั้น หากคุณมองเห็นสัญลักษณ์ A1 หรือ A2 บนการ์ด คุณมั่นใจได้เลยว่า การ์ดตัวนั้นจะมีความเร็วในการอ่านเขียนแบบเรียงลำดับต่อเนื่องอย่างน้อย 10MB/s
Final Word
หากสมาร์ทโฟนของคุณเป็นรุ่นใหม่สำหรับปีนี้และเป็นรุ่นระดับกลางขึ้นไป การเลือกซื้อ microSD Card เพื่อขยายความจุคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะคุณสามารถเลือกใช้การ์ดที่มีสัญลักษณ์ U หรือการ์ด UHS-I หรือ UHS-II ได้ เพราะแม้ว่าสมาร์ทโฟนของคุณจะไม่สนับสนุน UHS-II แต่มันก็จะสนับสนุนการทำงานร่วมกับโฮสต์หรือสล็อต UHS-I ได้ในลักษณะของ Backward Compatible แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า มันอาจจะทำงานได้แย่กว่าการ์ด UHS-I ที่ตรงกับสล็อตของอุปกรณ์
ในกรณีที่คุณไม่ทราบข้อมูลว่าอุปกรณ์นั้นๆ รองรับการ์ด UHS แบบไหน ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน เครื่องเล่นเกมคอนโซล กล้องแอคชั่น หรือแม้แต่โดรน คุณสามารถมองหา Speed Class บนตัวสินค้า แพกเกจ หรือในคู่มือได้ เพียงเท่านี้คุณก็รู้ว่าการ์ด microSD แบบไหนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสัญลักษณ์ Speed Class ทั้งหมด แน่นอนว่า คุณสามารถเลือกการ์ดที่มีสัญลักษณ์เดียวกับที่อุปกรณ์ระบุหรือสูงกว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์รองรับ Speed Class 4 จะซื้อการ์ด Speed Class 6 หรือ 10 มาใช้งานได้ หรือหากรองรับการ์ด UHS-I เพียงแค่ Class 1 ก็ใช้งาน UHS-I ที่เป็น Class 3 ได้ รวมถึงการ์ดที่มีสัญลักษณ์ Video Speed Class สูงๆ ก็เช่นกัน เพียงแต่ว่า ความเร็วในการเขียนจะไม่ได้เป็นไปตามความเร็วที่การ์ดทำได้ในกรณีที่โฮสต์มีความเร็วเท่ากับ Speed Class นั้นๆ
คำแนะนำของเราก็คือ ซื้อการ์ด microSD ความเร็วสูงและความจุสูงไว้จะดีกว่าถ้าคุณมีงบประมาณมากพอ เพราะการ์ดเหล่านี้มีอายุการใช้งานยาวนาน บางครั้งมันอาจจะได้ทำงานอย่างเต็มที่เมื่อคุณเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่ในอนาคต หรืออย่างน้อยในการโอนถ่ายข้อมูลลงเครื่องพีซีก็ช่วยให้คุณประหยัดเวลามากกว่าการ์ดรุ่นความเร็วต่ำ อย่างไรก็ตาม ความเร็วของ MicroSD Card ของผู้ผลิตหลายๆ รายในตลาดต่างก็มีความเร็วเหนือกว่าสัญลักษณ์ที่ระบุไว้ แถมบางแบรนด์ใส่ตัวเลขอย่าง 633x เข้ามา ซึ่งเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในการอ่านข้อมูลของไดรฟ์ CD-ROM แน่นอน ยิ่งตัวเลขมากก็ยิ่งดี หรือกรณีของ Sony ก็ถือว่าเข้าใจง่ายที่สุดสำหรับผู้ใช้งานทุกคน เพราะเขาระบุความเร็วอ่านเขียนมาให้เลยตามภาพ และถ้าหากคุณไม่ซีเรียสมากนักกับ microSD Card ก็พิจารณาเฉพาะสัญลักษณ์ที่ระบุไว้บนการ์ดก็พอ แต่ถ้าอยากได้การ์ดที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ก็สามารถหาอ่านรีวิวแบบเปรียบเทียบเป็นข้อมูลประกอบก็ได้