หลายๆคนที่ใช้การ์ดจอรุ่นใหม่อาจจะพบปัญหาว่า ใช้งานแรกๆก็ดีอยู่ ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและความร้อน แต่ทำไมใช้ไปซักพักแล้วความแรงมันดันตก ความร้อนกลับพุ่งขึ้นเรื่อยๆ . จริงอยู่ครับ สมัยก่อนปัญหานี้ก็อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่ผิดกับการ์ดจอ gen ใหม่ๆนี้ ที่โอกาสในการเกิดปัญหาดังกล่าวมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมากพอสมควร
อย่างผู้ใช้ GeForce RTX 40 หลายๆคนก็แจ้งว่าการ์ดจอตัวเองนั้นมีอุณหภูมิ GPU ในระดับเกิน 80c และ Hotspot ก็ทะลุ 100c มีให้เห็นได้เหมือนกัน .. ในขณะที่บางเคสนั้นเกิดจาก Air Flow ในเคสและด้านการระบายอากาศไม่ดี ส่วนบางคนก็เริ่มมีอาการแปลกๆหลังใช้งานไปหลายเดือน แต่บางคนหนักหน่อยก็อาจจะเกิดขึ้นหลังใช้งานไปไม่กี่อาทิตย์
ล่าสุดนี้ทาง Igor's Lab ออกมาทดสอบหาสาเหตุดังกล่าว โดยเริ่มจากจุดนี่ควรจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ Thermal Paste หรือที่เราเรียกกันว่าซิลิโคนนั่นแแหละครับ
การทดสอบและวิจัยของเขาก็พบว่าสาเหตุที่การ์ดจอรุ่นใหม่ๆนั้นมันมีความร้อนสูง เป็นเพราะแบรนด์ AIB Partner ทั้งหลายนั้นมีการใช้ซิลิโคนคุณภาพต่ำ .. โดยนาย Igor เองก็ได้เอาการ์ดใหม่แกะกล่องจากค่าย Manli GeForce RTX4080 16GB Gallardo และ GeForce RTX4080 TUF Gaming มารื้อดู แต่เขาก็ได้บอกเพิ่มเติมว่า จริงๆแล้วไม่เกี่ยวหรอกว่าเป็นค่ายไหน เพราะประเด็นตรงนี้เกิดขึ้นกับแทบทุกตัวนั่นแหละ
หลังจากที่รื้อการ์ดออกมาแล้ว เขาก็ระบุไว้ว่าตอนแรกๆ Thermal Paste นั้นก็จะยังเป็นชั้นบางๆอยู่ และมันก็จะใช้งานได้ดีไม่ต่างกับพวกซิลิโคนดีๆที่ขายอยู่ในตลาดหรอก แต่พอเอาไปทดสอบกับเครื่อง ASTM D5470-17 ก็จะเห็นว่า Thermal Paste นั้นเริ่มจะไหลในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งแบบนี้ก็แปลว่าใช้งานไปแล้ว มันก็จะเกิดชั้นที่หนามากขึ้น
นอกจากนั้นเขาก็เอาไปส่องด้วย Microscope และพบได้ว่าภายในซิลิโคนพวกนี้ ประกอบไปด้วยของเหลวที่มีลักษณะคล้ายน้ำมันที่น่าจะแห้งได้ในไม่กี่นาที .. และปัญหาคือของเหลวที่ว่านี้มันไม่ได้อยู่ข้างใน Thermal Paste แต่มันอยู่ด้านนอก ระหว่างสาร Aluminium Oxide หนา 16 ไมครอน
แม้ว่าตัว Aluminium Oxide นี้จะช่วยให้ตัวซิลิโคนนำความร้อนได้ดีขึ้น แต่มันจะไม่สามารถทำงานได้ดีในระยะยาว เพราะว่าตัวของเหลวที่คล้ายน้ำมันที่ว่าไปเมื่อซักครู่มันจะไหลผ่านและแห้งไปในที่สุด จนสุดท้ายแล้วก็กลายเป็นซิลิโคนที่เสื่อมสภาพ
สาเหตุที่ผู้ผลิตการ์ดจอทั้งหลายใช้ซิลิโคนแบบนี้ก็เป็นเพราะว่าเรื่องราคาต้นทุนนั่นแหละครับ พอเอามาใช้งานกับ GPU หลายๆตัวก็จะทำให้ต้นทุนนั้นลดไปได้พอสมควรเลย .. แต่โชคดีที่ว่า ปัญหาเรื่องซิลิโคนนั้นมันแก้ได้ไม่ยากด้วยการ เปลี่ยนซิลิโคลก็จบแล้ว เพียงแค่ผู้ใช้อาจจะต้องเสียเวลารื้อมันออกมา และในบางกรณีอาจจะทำให้การ์ดนั้นประกันขาดได้
และที่แย่จริงๆเลยก็คือหลายๆค่ายไม่รับเคลม ถ้าหากซิลิโคนเสื่อมสภาพจนอุณหภูมิ Hot Spot สูงเกิน 100c เพราะถือว่าตัวการ์ดนั้นไม่ได้มีปัญหา .. อันนี้ผู้ใช้ก็อาจจะเปลี่ยนด้วยตัวเองไม่ได้เพราะเสี่ยงประกันขาดอีก
แต่สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา อันนี้อาจไม่ใช่ข้อที่กังวลเท่าไหร่ เพราะว่าเขามีกฏหมายสิทธิ์ในการซ่อมสินค้าตัวเอง ทำให้ผู้ผลิตการ์ดจอไม่สามารถแปะสติ๊กเกอร์วอยด์ที่หัวน๊อตได้ ส่วนประเทศอื่นที่ไม่มีกฏหมายช่วยเหลือประชาชนตรงนี้ ก็ต้องทำตามแบรนด์เขาไปแหละนะ
ข้อมูล : Wccftech