ก่อนจะเข้าถึงเนื้อหาของรีวิวจอมอนิเตอร์ตัวนี้ เราอยากบอกคุณว่า Space Monitor มีอยู่ด้วยกัน 2 รุ่น คือ ขนาด 27 นิ้วที่อยู่ในกลุ่มเกมมิ่ง และอีกรุ่นก็คือ S32R75xUE ที่กำลังจะกล่าวถึง ซึ่งมันให้ความละเอียดระดับ 4K และค่ารีเฟรชเรต 60Hz ดังนั้นมันจึงเป็นจอมอนิเตอร์ไซส์ใหญ่ ใช้งานได้อเนกประสงค์ มุมมองกว้าง ให้สีสันภาพที่ดีด้วยค่า Gamut - sRGB 100% แน่นอนว่ามันก็ต้องยกความดีให้กับพาแนลชนิด VA นั่นเอง
จุดประสงค์ของการออกแบบ Space Monitor ก็คือ สร้างจอภาพที่เพิ่มพื้นที่ให้กับโต๊ะทำงาน การติดตั้งบนผนังก็ช่วยเหลือตรงจุดนี้ได้ แต่ปัญหาก็คือ มันจะใช้งานกับโต๊ะขนาดมาตรฐานได้อย่างไร และนี่คือสิ่งที่ซัมซุงพยายามคิดค้นและก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ มองไปที่ภาพด้านบน เราใช้โต๊ะสำนักงานขนาด 75x120 เซนติเมตร ใต้จอมอนิเตอร์ก็มีพื้นที่เหลือมากมายหากเทียบกับจอมอนิเตอร์ทั่วไปในตลาด ถึงอย่างนั้นการออกแบบของมันก็ดูจะเฉพาะเจาะจงเกินไปและเหมาะกับการติดตั้งถาวรมากกว่า แม้ว่าขาตั้งของมันสามารถปรับระดับความสูงต่ำได้จนติดพื้นโต๊ะตามภาพด้านล่าง แต่มันก็ยังขาดแกนหมุนซ้ายขวา ขาดช่อง VESA Mount สำหรับติดตั้งกับขาตั้งประเภทอื่นๆ
ขาตั้งที่ออกแบบมาอย่างดี
ต้องยอมรับว่าขาตั้งของ Space Monitor มีความพิถีพิถันเอามากๆ โดยมันมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากพอสมควร วัสดุด้านนอกจะเป็นพลาสติกทั้งหมด แกนยึดติดกับโต๊ะผลิตจากโลหะ อาศัยการหมุนเกลียวเหมือนกับตัว C-Clamp ผิวแป้นของตัวยึดผลิตจากยางที่หนาและด้านบนใช้แผ่นโฟมบางๆ รองรับอีกทีหนึ่ง จากที่เห็นมันสามารถปรับให้เข้ากับความหนาของโต๊ะได้อีกระดับด้วยการย้ายน็อต 4 ตัว ตรงจุดนี้สามารถหนีบกับโต๊ะที่หนาสุดได้ถึง 90 มิลลิเมตร และระยะด้านลึกเข้าไปอีก 93 มิลลิเมตร
แกนหมุนที่อยู่ติดกับพื้นโต๊ะจะทำหน้าที่พับขาตั้งให้ก้มได้เกือบระนาบไปกับพื้นและเงยได้ถึง 90 องศา ส่วนการติดตั้งจอมอนิเตอร์เข้ากับขาตั้งจะมีแผ่นโลหะแบบเสียบเข้ากับล็อกและยึดน็อตอีก 4 จุด บริเวณนี้จะมีแกนพับอีกหนึ่งชุดเพื่อปรับให้จอภาพก้มแนบไปกับแกนขาตั้งหรือปรับให้จอภาพเงยขึ้น นอกจากนั้นในภาพสุดท้ายจะเห็นว่า ด้านหลังของขาตั้งมีการบากร่องเอาไว้ 2 ร่อง สำหรับจัดเก็บสายสัญญาณไม่ให้รกเกะกะ ตรงนี้ใช้งานกับสายเคเบิ้ลที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ไม่เกิน 6.5 มิลลิเมตร
การใช้งานขาตั้งของ Space Monitor ถือว่ามันติดตั้งกับพื้นโต๊ะได้อย่างแข็งแรง ติดตั้งได้ง่าย การโยกขาตั้งไปมาทำได้อย่างยืดหยุ่น มีแรงต้านในระดับกลางๆ แต่มันจะมีเสียงของกลไกสปริงที่ทำหน้าที่ต้านน้ำหนักของตัวจอให้ได้ยินชัดเจน ส่วนการก้มเงยจอเองก็ทำได้ราบรื่นเช่นเดียวกัน มีแรงต้านอยู่เล็กน้อย ซึ่งในภาพรวมหลังจากปรับระดับแล้วก็ไม่มีอาการดึงกลับ สามารถล็อกตำแหน่งได้ในทันที อย่างไรก็ดี จากภาพ GIF ด้านบนจะเห็นว่า มันสามารถปรับระดับได้หลากหลาย และโยกเข้าไปติดผนังที่เลียนแบบจอทีวี Samsung The Frame ได้อย่างน่าชมเชย ตรงนี้ทำให้โต๊ะของคุณมีพื้นที่ว่างเอามากๆ แน่นอนว่า ด้วยขนาดจอ 32 นิ้ว ระยะห่างที่ใช้งานกับโต๊ะไซส์นี้ก็ทำได้พอดีแบบผิดคาด การใช้งานจริงก็แค่ปรับระดับความสูงให้เหมาะสมเท่านั้น ส่วนเรื่องการวางลงมาอยู่กับพื้นโต๊ะตรงนี้ก็แล้วแต่โอกาสที่จะใช้งานในบางกรณีก็แล้วกัน
การเชื่อมต่อที่จำกัด
ในบางมุมมอง จอมอนิเตอร์ราคาระดับนี้ ไซส์ขนาดนี้บางครั้งก็ควรมีตัวเลือกด้านการเชื่อมต่อมาให้มากกว่า 2 มาตรฐาน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ แต่ในบางมุม แค่ 2 มาตรฐานก็ถือว่า เพียงพอแล้ว ซึ่ง Space Monitor เลือกมุมมองอันหลังด้วยการให้พอร์ต HDMI และ mini Display Port พร้อมกับพอร์ต Service มาให้อีกหนึ่งช่อง เอาจริงๆ แล้ว HDMI ถือว่าเป็นมาตรฐานทั่วไป แต่ MiniDP นี่สิ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ต้องหาซื้อสายเพิ่มหรือไปค้นตัวแปลงจากกล่องการ์ดแสดงผล (เหตุผลอะไรเดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง) ภายใต้ข้อจำกัดนี้เรามองเห็นความเอาใจใส่ของผู้ผลิตอีกหนึ่งจุดนั่นก็คือสาย HDMI+Power ที่รวมกันเป็นสาย Y ตรงนี้มันช่วยลดความยุ่งเหยิงของสายเคเบิ้ลต่างๆ ไปได้มาก หากคุณไม่อยากใช้สายของตัวมันเองจะเลือกเสียบสาย Power เข้ากับตัวมอนิเตอร์โดยตรงก็ได้เช่นกัน
มาตรฐานพอร์ต HDMI ของมอนิเตอร์ Space Monitor เป็นเวอร์ชัน 2.0 ดังนั้นจึงรองรับสัญญาณภาพ 3,840x2,160 พิกเซลหรือ 4K ได้ แต่จากการใช้งานร่วมกับการ์ด RTX 2060 FE ที่เป็นพอร์ต HDMI 2.0b สามารถให้ความละเอียดระดับ 4k พร้อมค่ารีเฟรชเรตได้แค่ 30Hz เท่านั้น ไม่ว่าจะปรับจากจุดใด ทั้งจากไดรเวอร์การ์ดจอ ปรับในส่วนมอนิเตอร์ของวินโดว์สก็ตาม ตรงนี้เราเองไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร อาจจะเป็นที่สายเคเบิ้ลที่ให้มาหรือปัจจัยอื่นๆ (จอตัวนี้ผ่านการรีวิวมาแล้วอย่างสมบุกสมบัน) ดังนั้นเราจึงเหลือทางเลือกแค่ MiniDP ซึ่งมาตรฐาน Display Port 1.2 ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง แสดงทุกอย่างได้ครบ แม้กระทั่งการปรับใช้ Colour Dept. ระดับ 10bit
ให้สีสันได้ดี มุมมองเยี่ยม
จากค่าตามสเปคของจอตัวนี้ ถือว่าใช้ทำงานด้านกราฟิกระดับกลางได้สบายๆ ด้วยค่า Colour Gamut ทั้งค่า sRGB 100% หรือ NTSC 1976 ที่ 72% ซึ่งเราไม่สามารถวิเคราะห์ออกมาในเชิงลึกได้ว่า มันมีความผิดเพี้ยนหรือแม่นยำมากเพียงใดทั้งก่อนหรือหลังจากการคาริเบลต หรือแม้กระทั่งมีค่าความสว่าง 250nit ตามที่ระบุหรือไม่ แต่จากการประเมินด้วยตาเปล่าร่วมกับภาพทดสอบที่ใช้เป็นประจำก็พอจะบอกได้ว่า มันให้สีที่มีความเพี้ยนต่ำ สีสันสดใส มีความเป็นธรรมชาติสูง ให้สีดำที่ดำสนิทกว่าจอ IPS หากว่ายังไม่พอใจก็ปรับเพิ่ม Black Level ได้จากเมนู OSD ส่วนมุมมองก็ถือว่าทำได้ตามที่เคลมมาคือ 178 องศาทั้งแนวตั้งและแนวนอน แต่สิ่งที่เราชอบมากก็คือ การแสดงสีระดับ 10 bit และการเคลือบ Anti-Glare มาแบบบางๆ ให้ความสว่างในห้องที่พอเหมาะ ไม่จำเป็นต้องปรับสูงสุด (ใช้ค่ามาตรฐานจากโรงงาน) นอกจากนั้นในเมนู OSD เองก็ยังปรับโหมดสีเพิ่มเติมได้ ตลอดจนตั้งค่าความสว่าง คอนทราสต์ ความคมชัดหรืออื่นๆ รวมถึงการเปิดใช้งาน PIP/PBP ที่กำหนดตำแหน่งได้ ตรงนี้การควบคุมทำได้ไม่ยากถ้าคุ้นเคยกับจอยสติ๊กและเมนู OSD ในทีวีของซัมซุง แน่นอนว่า ยังมีโหมดถนอมสายตาให้ใช้ด้วย
Final Thought
ถ้าจะผิดหวังก็คงมีแค่เรื่องพอร์ตเชื่อมต่อที่มีให้มาน้อยนิด และเรื่องที่มันไม่สามารถหมุนซ้ายขวาได้ แต่นั่นไม่ใช่ตัวตัดสินจอมอนิเตอร์ตัวนี้ เพราะมันมีหลายๆ สิ่งที่ควรชมเชยโดยเฉพาะความตั้งใจในการออกแบบเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้ มองอีกมุมหนึ่งจอ Space Monitor ที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องขาตั้งและใช้พาแนลคุณภาพสูง พร้อมกับราคาขาย 16,500 บาท อาจจะสูงเกินไปสำหรับบางคน แต่ถ้าคุณมองไปในตลาดตอนนี้ จอมอนิเตอร์ขนาด 32 นิ้วหลายๆ ตัวในตลาดก็มีระดับราคาที่ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นสำหรับเราแล้วถือว่า สมเหตุสมผลกับสิ่งที่คุณจะได้รับ อย่างไรก็ดี ด้วยดีไซน์ของ Space Monitor สามารถวางแนบกับผนังไปได้เลยก็ชวนให้นึกถึงออฟฟิศ เน็ตคาเฟ่หรือโต๊ะทำงานหรูๆ แบบมีสไตล์ได้เลย ถึงอย่างนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อ คุณควรเช็คโต๊ะทำงานให้ดีก่อนว่ามันติดตั้งกับจอตัวนี้ได้หรือไม่ เพราะโต๊ะทำงานสวยๆ บางตัวใช้งานกับจอตัวนี้ไม่ได้ เนื่องจากโต๊ะอาจจะมีคานเหล็กที่วางเป็นมุมสามเหลี่ยม หรือเป็นพื้นแก้วที่บางเกินกว่าจะติดตั้งลงไป
Special Thanks : Samsung Thailand
Price: 16,500 บาท