หัวใจของการเล่นเกม FPS ในเวลานี้ นอกจากเมาส์คีย์บอร์ดหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมแล้ว หูฟังเกมมิ่งที่ถ่ายทอดเสียงแบบ Virtual 7.1ch ก็เป็นอีกสิ่งที่นักเล่นเกมให้ความสำคัญ แน่นอนว่าที่ผ่านมาเราก็ได้รีวิวหูฟังของแบรนด์ดังมากมาย แต่นี่คือครั้งแรกของ AverMedia Sonicwave 7.1 รหัส GH337 ที่หลายๆ คนคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดีกับอุปกรณ์วิดีโอแคปเจอร์
ดีไซน์และการออกแบบ
หลังจากวิเคราะห์ดูการออกแบบหลายๆ จุดแล้ว หูฟัง Sonicwave 7.1 GH337 ถือว่า ไม่ได้มีข้อบกพร่องอะไรร้ายแรงเลย วัสดุหลักเป็นพลาสติกคุณภาพสูง ก้านคาดหูฟังด้านในผลิตจากโลหะ ปรับความสูงได้ 9 ระดับ แกนพับเอียร์คัพแข็งแรง บิดหมุนซ้ายขวาได้เล็กน้อย ซึ่งเพียงพอต่อการปรับให้เข้ากับรูปใบหน้า เรื่องของงานประกอบถือว่าเป็นจุดที่ควรชมเชย เพราะเรียบร้อยแบบไม่มีข้อติอะไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบไปหมด มีจุดเล็กๆ น้อยอย่างเช่น ก้านไมค์ที่เมื่อพับลงมาใช้งานแล้วมันสั้นเกินไป เข้าไม่ถึงปากของผู้ใช้ ตัวก้านไมค์เองก็ปรับองศาบิดงอเข้าหาปากผู้ใช้ได้ยาก อีกส่วนหนึ่งก็คือ เบ้าเอียร์แพดที่มีขนาดค่อนข้างเล็กสำหรับเป็นหูฟังแบบ Over-ear ดังนั้นเมื่อสวมใส่มันจึงครอบหูแบบแน่นๆ ไม่มีพื้นที่รอบด้านเหลืออยู่เท่าที่ควร
ส่วนเอียร์แพดแบบหุ้มหนังสังเคราะห์ถือว่า มีความนุ่มนวลและการยุบตัวที่ดีมาก แม้จะไม่ถึงระดับที่ใช้กับหูฟังเกรดพรีเมียม ส่วนใครที่ไม่ชอบสัมผัสแบบหนัง ในชุดอุปกรณ์ก็ยังมีเอียร์แพดหุ้มผ้ากำมะหยี่ที่มีคาแรคเตอร์ของฟองน้ำด้านในต่างจากแบบหุ้มหนัง โดยจะมีเนื้อที่แข็งกว่าและแน่นขึ้นมาอีกระดับ
สายสัญญาณเป็นแบบถักขนาดปานกลาง ความยาว 2.2 เมตร ถือว่ายาวกว่าหูฟังตามท้องตลาดทั่วไปมาก แน่นอนว่า ระบบจำลองเสียง 7.1 ช่องทางก็ใช้งานได้ผ่านอินเทอร์เฟส USB ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ไดรเวอร์ใดๆ ใช้งานได้ทันที แต่ถ้าอยากปรับแต่งเสียงเพิ่มเติม เช่น พวก EQ หรือมิติเสียงของระบบจำลองเสียงรอบทิศทางก็จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ นอกจากนั้นการควบคุมเสียง Mute ไมค์ เพิ่มลดเสียง หรือปิดไฟ LED ก็ทำได้จากตัวควบคุมบนสายเลย
สุดท้ายในเรื่องความสวยงาม ตรงนี้เป็นความเห็นและรสนิยมส่วนตัว ในความรู้สึกคือ มันออกไปทางแนวหูฟังที่ดูล้ำสมัยเหมือนกับที่เห็นในภาพยนต์ไซไฟ มีส่วนยื่นออกมาทางด้านหลัง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นการดีไซน์หูฟังของตัวเองให้มีเอกลักษณ์ในมุมที่แตกต่างจากหูฟังอื่นๆ แน่นอนว่า ไฟ LED ที่ลอดผ่านโลโก้ และตำแหน่งไมค์นั้นทำให้มันดูเป็น หูฟังเกมมิ่งอย่างเต็มตัว
คุณสมบัติโดยรวม
ดูเหมือนว่า ไดรเวอร์ที่ใช้แม่เหล็ก Neodymium ขนาด 50 มิลลิเมตรจะเป็นมาตรฐานของหูฟังเกมมิ่งสมัยนี้ไปแล้ว ส่วนไมโครโฟนก็มีแพทเทิร์นการเก็บเสียงแบบ Omnidirectional ส่วนรายละเอียดที่เหลือก็ตามตารางด้านล่าง จากที่สังเกตหูฟังมีค่าอิมพีแดนซี่แค่ 32 โอห์ม จากที่เคยใช้งานอุปกรณ์ของแบรนด์นี้ก็ไม่น่าห่วงว่าเสียงจะเบาเหมือนกับหูฟังจากฝั่งจีน ส่วนน้ำหนัก 370 กรัม ส่วนตัวแล้วถือว่า ค่อนไปทางหนักเล็กน้อย แต่จะมีผลต่อการใช้งานแค่ไหนติดตามกันดู
ซอฟต์แวร์ Avermedia Sound Engine
แม้ว่าหูฟังจะออกแบบให้ทำงานแบบ Plug & Play แต่ถ้าจะให้เปิดใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ก็จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ตัวนี้ เนื่องจากคุณสามารถปรับแต่งเสียงอื่น ขยายระบบเสียงเซอร์ราวน์ดเพิ่ม หรือการปรับแต่งอีควอไลน์เซอร์ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเพียงแค่ฟีเจอร์พื้นฐานยังมีฟีเจอร์พิเศษซ่อนอยู่ไม่น้อย
การออกแบบอินเทอร์เฟซของซอฟต์แวร์อาจจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ใช้นัก เมื่อเทียบกับยุคสมัย เนื่องจากการควบคุมหลักๆ จะมีให้เห็นแค่ Speaker กับ Mic การเข้าถึงเมนูอื่นๆ ทำได้โดยการเรียกคอนเท็กซ์เมนู หรือคลิกไปที่ขวาหูฟังหรือไมโครโฟน ขณะที่ซอฟต์แวร์หลายๆ ค่ายจะใส่เมนูดังกล่าวเข้าไปในรายการเมนูเลย
ภาพรวมของการปรับแต่งหูฟังถือว่าสนุกเลยและทำได้ค่อนข้างละเอียด คุณสามารถปรับเสียงเซอร์ราวน์ดให้มีมิติกว้างแคบได้ 3 ระดับ หรือถ้าต้องการเพิ่มระบบเสียงรอบทิศทางแบบสูงสุดก็เข้าไปปรับที่เมนู Xear Surround Max นอกจากนั้นก็ยังปรับความสดใสของเสียง (Brilliant) เพิ่มเสียงเบสแบบมีไดนามิค เน้นความชัดใสของเสียงวอยซ์ ซึ่งเมนูทั้งหมดที่มีมาให้ทำงานได้จริง ส่วนเรื่องของการปรับแต่งไมโครโฟน นอกจากระดับเสียงหรือค่า Sampling Rate ที่ทำได้เช่นเดียวกับหูฟังแล้ว ซอฟต์แวร์ตัวนี้ยังมีเมนูให้ปรับการลดเสียงรบกวนจากภายนอกและการแปลงเสียงปกติให้เป็นเสียงอื่นๆ ได้อีก 4 แบบ
ในกรณีที่คุณอยากได้รับคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดสำหรับการฟังเพลง คุณสามารถกดปุ่มสไลด์บริเวณมุมขวาในช่องใต้ชื่อซอฟต์แวร์ ซึ่งปกติทำหน้าที่รายงานการเปิดใช้ฟีเจอร์ จากนั้นจะมีปุ่ม Hi-Fi ให้คุณเลือก
ความสบายในการสวมใส่และคุณภาพเสียง
แม้เอียร์คัพของหูฟังจะปรับหมุนได้เล็กน้อย แต่ระยะห่างของเอียร์คัพทั้งสองฝั่งไม่ได้ชิดกันนัก ก้านคาดเองก็มีแรงต้านระดับกลางๆ และเมื่อประกอบกับเอียร์แพดที่หนาและนุ่ม ทำให้การสวมใส่ไม่ได้บีบรัดหรือกดใบหูในระดับที่มากเกินไป โดยส่วนตัวถือว่ายังไม่สบายเท่ากับพวกหูฟัง Juturna แต่ให้ระดับที่ดีกว่าหูฟังตระกูล Cloud ที่เป็นแบบ Over-Ear ถึงอย่างนั้นก็แอบรู้สึกเจ็บเล็กๆ บริเวณศรีษะส่วนบน เนื่องจากการกดทับของโฟมรองศรีษะที่เป็นเมมโมรี่โฟมแบบนุ่มปานกลาง และหลังจากลุยเกม PUBG ไป 1 ยก ฟังเพลงไปอีกครึ่งชั่วโมง ผลของมันก็ถือว่า น่าพอใจ ไม่ได้เจ็บเบ้าหู เจ็บขมับหรืออะไร จะมีก็ตามที่บอกไปข้างต้น มีความรู้สึกร้อนใบหูเล็กน้อย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปกับวัสดุหุ้มเอียร์แพดด้วยหนังเทียม
กลับมาที่เรื่องเสียงกันบ้าง ถ้าใช้งานในการฟังเพลง (ใช้ค่าดีฟอลต์/ ปิดฟีเจอร์ Xear Surround ทั้งหมด) แนะนำให้เข้าไปปรับ EQ และลดความถี่ช่วง 8K และ 16K ลง เพราะว่า เสียงแหลมบาดหูเอาเรื่อง โดยเฉพาะถ้าฟังเพลง FRIENDS - Marshmello & Anne-Marie หรือ Havana ของ Camila Cabello คุณจะได้ยินเสียงไฮแฮทขั้นรุนแรงแบบเอาหูเข้าไปอยู่ใกล้ๆ เลย (จะลดลงเล็กน้อยเมื่อทำงานในโหมด Hi-Fi) ส่วนเรื่องเสียงเบสบอกได้เลยว่า หนักแน่น เนื่องจากมันเป็นหูฟังแบบ Closed-Back ทั้งมวลเสียง ทั้งอิมแพคสะใจแน่นอน อย่างไรก็ดี หูฟังตัวนี้มันสามารถปรับ EQ ได้ ดังนั้นมันจึงมีความยืดหยุ่นต่อความชอบส่วนบุคคลอยู่แล้ว ทั้งการปรับ EQ ด้วยตัวเองหรือแม้กระทั่งเรียกใช้สำเร็จรูป จะปรับเบสหนัก เบสกลาง เสียงกลางเด่น หรือจะยกเสียง Voice ให้เด่น ก็แล้วแต่ชอบเลย
ในกรณีที่ไม่อยากปรับอะไรเลยก็ให้เลือกโหมด Hi-Fi ที่บอกไปข้างต้น ซึ่งให้เสียงที่มีความสมดุลมากที่สุดแล้ว อย่างไรก็ดี คาแรคเตอร์เสียงของหูฟังตัวนี้ไม่ได้โปร่งเป็นทุนเดิมจากการเป็นหูฟังแบบ Closed-back ซึ่งคุณรับรู้ได้ชัดเจนหากเคยสัมผัสความโปร่งของเสียงโดยธรรมชาติจากหูฟังแบบ Open Back หรือ Semi-Open ให้สรุปง่ายๆ ให้ชัดเจนก็คือ คุณภาพเสียงของ GH337 ตัวนี้ยังไปไม่ถึงระดับหูฟัง Hi-Fi (จะได้ไม่ต้องคาดหวัง)
เราขอข้ามเรื่องการรับชมภาพยนต์ไปเลย เพราะมันทำได้ดีพอตัว แถมซอฟต์แวร์เองก็ปรับแต่งให้เหมาะสมได้อยู่แล้ว ส่วนการเล่นเกมบนเครื่องพีซีอย่าง PUBG หูฟังตัวนี้ระบุ เสียงฝีเท้าได้ดี ทั้งระยะและทิศทาง อย่างเช่น เสียงฝีเท้าของศัตรูที่อยู่ในบ้านข้างๆ หรือระยะห่างกลางๆ ที่ยังมองเห็นและในระยะยิง ตรงนี้ช่วยให้เอาชีวิตรอดได้สบายๆ โดยเฉพาะที่ศัตรูย่องเข้ามาใกล้ๆ ก่อนที่จะมองเห็น แต่ที่ไม่ชอบก็คือ เสียงปืนสไนเปอร์ของศัตรูขณะยิงและเสียงสะท้อนจากระยะไกลที่ทำให้ใจสั่นทุกๆ ครั้ง หรือแม้กระทั่งเสียงเครื่องบินที่ร่อนผ่านไปมา เพราะมันดังลากยาวไปเลย แถมยังทิ้งหางเสียง ส่งผลให้เราเองไม่ได้ยินฝีเท้าศัตรูไปด้วย
สำหรับการใช้งานกับเครื่อง PS4 จะไม่สามารถใช้ระบบจำลองเสียงรอบทิศทางได้ ระดับความดังเสียงถือว่า ทำได้ดีกว่าหูฟังยูเอสบีราคาประหยัดพอสมควร ทั้งๆ ที่ปรับความดังเท่าๆ กัน ส่วนทิศทางของเสียง ความชัดเจนของเสียงภายในเกม หรืออรรถรสที่ได้จากเสียงเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี น่าเสียดายที่ก้านของไมโครโฟนกลับสั้นเกินไป เข้าไม่ถึงปาก ดังนั้นต้องอาศัยการปรับแต่งในเครื่อง PS4 กันนิดนึง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร
ส่วนการใช้งานไมโครโฟนกับเครื่องพีซีจะมีความหลากหลายยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากซอฟต์แวร์จะปรับเพิ่มลดเสียงไมค์ได้แล้ว ยังสามารถการแปลงเสียงอีก 4 รูปแบบผ่านซอฟต์แวร์ ซึ่งทำงานได้ราบรื่น แทบจะไม่ใช้พลังประมวลผลของเครื่องพีซีเลย สำหรับคุณภาพเสียงเองก็อยู่ในขั้นที่ดีมาก เสียงคมชัด ไม่แบน ผิดเพี้ยนไปจากเสียงจริงบ้างเล็กน้อย และไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก (เปิด Noise-Cancelling)
Conclusion !!!
ข้อจำกัดของมันก็คือ การเฉพาะเจาะจงแพลตฟอร์ม พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ไม่สามารถพกพาไปกับคุณได้ทุกๆ ที่หรือใช้งานกับเครื่องเล่นเกมพกพาหรือสมาร์ทโฟนเหมือนกับหูฟังเกมมิ่งบางรุ่นที่มาพร้อมช่องต่อ 3.5 มม และแนบ USB DAC มาให้ แต่อย่างน้อยสำหรับเราแล้วนี่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับ AverMedia ในการเข้าสู่ตลาดหูฟังเกมมิ่ง แม้ว่าการออกแบบจะไม่ได้ให้ความรู้สึกพรีเมี่ยมมากนัก แต่ขอปรบมือให้กับคุณภาพวัสดุและการประกอบชิ้นงาน แน่นอนว่า มันเกิดมาเพื่อการเล่นเกมกับความบันเทิงอย่างการดูหนัง ฟังเพลงที่ไม่ใช่ระดับ Hi-Res ถึงอย่างนั้นเราก็มองว่า มันมีคุณภาพโดยรวมที่ดีสมตัว อีกเรื่องที่ลืมบอกก็คือ การใช้งานบนเครื่องพีซีนั้นให้เสียงค่อนข้างดัง กำลังขับเสียงด้วยไฟจากพอร์ตยูเอสบีทำได้อย่างไร้ปัญหา แต่กรณีที่เปิดดังๆ คุณจะไม่ได้ยินเสียงโดยรอบตัวเลย หรือแม้กระทั่งเสียงคุณเองขณะสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม ตรงนี้จะเป็นจุดเด่นหรือจุดด้อยก็อยู่ที่ตัวผู้ใช้แล้ว
Thank : CONNEXT IT
Price : -