สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซน กับบทความวันนี้ที่เราคงเห็นแล้วว่ามันเป็นแนวทางการซ่อมลำโพงที่ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งในตลาดของคอมพิวเตอร์นั้นที่กระแสจะเน้นไปทางของหูฟังซะมากกว่า โดยลำโพงบางรุ่นที่เคยมีขายเมื่อนานมาแล้ว ทุกวันนี้ก็มีขายอยู่เหมือนเดิม แน่นอนว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะใช้หรือไม่ใช้ก็มีโอกาสจะเสียได้ ซึ่งอาการเสียของลำโพงคอมพิวเตอร์จากประสบการณ์ ก็ต้องบอกเลยว่ามีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ในส่วนภาคจ่ายไฟ, ภาคขยายสัญญาณ แม้กระทั้งตัวดอกลำโพงเอง แต่เคสตัวอย่างวันนี้จะเป็นการเสียหายในส่วนพาวเวอร์ซัพพลาย โดยเสียงที่ออกมานั้นอู้อี้เหมือนฟังวิทยุในพื้นที่ห่างไกลในสมัยก่อนนั้นเอง โดยค่าอะไหล่ครั้งนี้ผมจ่ายไปที่ 15 บาท เท่านั้นครับ ถ้าพอมีความรู้และอุปกรณ์เครื่องมือ เราก็สามารถทำเองได้ที่บ้านง่ายๆ
เรื่องของเรื่องนี่เป็นความหลังสมัยก่อนของผมละกัน ที่คอมเครื่องแรกนั้นต้องทนใช้กันแบบไม่มีลำโพง เพราะงบไม่พอจริงๆ ก็เลยเป็นคนที่ชอบซื้อลำโพงคอมพิวเตอร์เรื่อยๆ ฟังเสียงแล้วชอบ หรือ หน้าตาดี ก็ซื้อหมด โดยการใช้งานผมก็สลับสับเปลี่ยนฟังไปเรื่อยๆ โดย Microlab ที่วางอยู่บนโต๊ะนั้นคือลำโพงเจ้าปัญหาของเคสวันนี้ เสียงมันอู้อี้ผิดปกติ ทั้งๆที่ลำโพงชุดนี้ถูกเก็บแทบไม่เคยได้ใช้เลย
ตรวจสอบเบื้องต้นกับสภาพดอกลำโพง ถ้าเป็นรุ่นที่ถอดหน้ากากไม่ได้ ก็ลองใช้ไฟฉายส่องช่วยดูครับ หลักๆขอบ กรวย และ ดัสแคป ยังอยู่ในสภาพดีครับ
Microlab FC530 ในเรื่องเบสที่จะสู้ Microlab X3 ไม่ได้ แต่ความกลมกล่อมของเสียงผมชอบ Microlab FC530 มากกว่า
ยังถือว่าเป็นความง่ายในการซ่อมแซม เพราะ Microlab FC530 เป็นแบบแอมป์แยกจากตู้ลำโพง ซึ่งเมื่อเราเปิดฝามาลองดูที่คาปาซิเตอร์เก็บประจุภาคจ่ายไฟมันบวม แม้จะไม่ได้ค่อยได้ใช้งานมันก็มีการเสื่อมคุณภาพได้
ต้นตอปัญหาของวันนี้ จริงๆเห็นคุณภาพของคาปาซิเตอร์ ก็อยากจับเปลี่ยนให้หมด แต่ถ้ามาเทียบกับราคาค่าตัวของชุดลำโพง กับอะไหล่ที่จะเปลี่ยนใหม่เกือบทั้งหมด โดยส่วนตัวผมมองว่าไม่คุ้มครับ
เราก็มามองส่องถึงจุดที่เราจะมาถอดคาปาซิเตอร์ภาคจ่ายไฟ คิดว่ามันเป็นแบบแอมป์แยกแล้วจะง่าย สุดท้ายก็ต้องรื้อแผงวงจรออกมาอีกครับ
ผมก็ได้จัดการแยกชิ้นส่วนออกมาเรียบร้อย วิธีการแยกของลำโพงคอมแต่ละรุ่นก็จะแตกต่างกันออกไป โดยแนะนำว่าถ่ายรูปขั้นตอน และ เรียงน็อตใส่ถาดไว้ให้ดี เพราะมันใช้ขนาดและความยาวที่ไม่เท่ากัน
คาปาซิเตอร์เจ้าปัญหาที่เป็นแบบ 25v ความจุ 4700uF เดี๋ยวผมจะพาไปถอดออกมาก่อน แล้วค่อยไปหาคาปาซิเตอร์ตัวใหม่มาเทียบ
มาถึงอุปกรณ์หลักที่เราจะใช้ในการถอดคาปาซิเตอร์ ซึ่งมันก็คือเครื่องมือในการใช้ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ หัวแร้ง, ที่ดูดตะกั่ว, ตะกั่วเชื่อม และ ถ้าให้ง่าย เตรียมน้ำยาประสานสำหรับบัดกรี แต่ผมไม่ค่อยชอบใช้เท่าไรครับ
ขั้นตอนก็ไม่ยากใช้หัวแรงจี้ให้ตะกั่วละลาย แล้วใช้ที่ดูดตะกั่วดูดตะกั่วให้เรียบร้อย แล้วดึงคาปาซิเตอร์ตัวเจ้าปัญหาออกมาครับ โดยในภาพที่เราจะเห็นได้ว่าลาย PCB มันพร้อมที่จะร่อนออกมาแล้ว คาดว่าน่าจะเกิดจากการบวมเลยดันขาของคาปาซิเตอร์ออกมา ซึ่งก็ต้องใช้ความระวัดระวังมากขึ้นในการทำงาน โดยถ้าเราดูดตะกั่วออกไปให้เนียน มันจะช่วยในการทำงานได้สะดวกมากขึ้น
มาถึงการเทียบคาปาซิเตอร์ที่เราจะเปลี่ยนครับ โดยของเดิมตัวซ้ายสุด ที่เป็นค่าความต่างศักย์ 25V ความจุ 4700uF เราสามารถใช้คาปาซิเตอร์ที่มีค่าความต่างศักย์และความจุที่สูงกว่าของเดิมได้ โดยในกรณีวันนี้ถ้าผมไม่อยากเสียค่าอะไหล่ก็ไปหาของเก่าในบ้านในภาพจะเป็นตัว 35V 4700uF ที่สัดส่วนไม่ได้แตกกต่างจากของเดิมมากนัก ถัดมากับ ELNA RJD ที่เป็นแบบ 35V 7400UF ราคาสิบห้าบาท เนื่องจากความกว้างและมีพื้นที่ความสูงเหลืออยู่ ผมเลยเลือกใช้ตัวนี้ ส่วนขวาสุด Nichicon Gold Tune ความกว้างมากเกินไป ถ้าจะใส่ต้องมีการพลิกแพลงครับ
ในการใส่คาปาซิเตอร์แบบ VDC หรือ มีขั้ว นั้นเราต้องดูแถบด้านข้างและบน PCB ให้ตรงกัน ถ้าใช้วิธีครูพักลักจำ ก็ถ่ายรูปก่อนถอดเทียบเอาไว้ ดูแถบให้อยู่ฝั่งเดียวกันครับ ความสูงของคาปาซิเตอร์ที่เราเปลี่ยนไปแทนก็กำลังดี
จัดการใช้หัวแร้งจี้ตะกั่วไปที่ขาของคาปาซิเตอร์ทั้งสองขา ความสวยงามไม่ใช่เรื่องสำคัญขอให้มันเชื่อมติดกันดีพอ ทำบ่อยๆมันก็จะออกมาเป็นทรงเจดีอันสวยงามเอง
ตรวจสอบรอยเชื่อมให้เรียบร้อยแล้ว ก็จัดการตัดขาของคาปาซิเตอร์ส่วนเกินออก จะใช้คีมตัดลวด หรือ กรรไกรตัดเล็บ ก็เลือกแล้วแต่ถนัดครับ
ประกอบทุกอย่างกลับไปที่เดิม ตามขั้นตอนที่เรารื้ออกมาเลยครับ
เสียบปลั๊กกันเลย ถ้าสมมุติว่าเราใส่คาปาซิเตอร์ผิดข้าง สั้นๆง่ายๆ คาปาซิเตอร์ก็แค่ระเบิด ซึ่งถ้าใครอยากจะลองทำเอง ก็ระวั่งเรื่องขั่วของคาปาซิเตอร์ให้ดีครับ
ทดลองใช้งานดู เสียงที่ออกมามันก็ปกติอย่างที่ควรจะเป็นใช้งานได้กันอย่างปกติ
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างกับ Microlab Pro1 ที่ผมไปฝากอยู่บ้านพี่ที่เคารพกันหลายปีมาก แบบไม่ได้ใช้งานมันเลย หลังจากเอากลับมาฟัง อาการปลายเสียงสูงแตกพร่า ซึ่งในการซ่อมแซมมันไม่ได้มาจากคาปาซิเตอร์ของภาคจ่ายไฟ ที่ผมได้ลองเปลี่ยนก็ยังไม่หายดี ซึ่งด้วยความหัวร้อนในเวลาตีสี่ ง่วงก็ง่วง ผมก็จับเปลี่ยนมันเกือบทุกตัวให้มันจบๆ ด้วยของที่มีอยู่ที่บ้าน โดยการใช้คาปาซิเตอร์อย่างในภาพใช้ Nichicon ตระกูล FG แซมกับ BP ที่เป็นตระกูลยอดนิยมในระบบเสียง ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น ซึ่งลักษณะในการซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่ก็ต้องดูเป็นกรณีไปครับ ซึ่งก็ทำให้ปัญหาที่ผมเจอนั้นหายไป
Conclusion
วันนี้เราก็เป็นแนวทางในการซ่อมลำโพงคอมพิวเตอร์ก็แล้วกัน ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นั้นสามารถเกิดความเสียหายได้ ทั้งจากการใช้งาน และ คุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ข้างใน โดยในแนวทางวันนี้เป็นการซ่อมที่เรียกได้ว่าไม่ยากนัก ใช้ค่าอะไหล่ไปที่ 15 บาท (แบบไม่รวมค่าเดินทางไปซื้อ) ซึ่งมันก็สามารถชุบชีวิตลำโพงคอมพิวเตอร์ที่เก่าเก็บให้ใช้งานได้อย่างปกติ สำหรับวันนี้ก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ