AMD เปิดตัว Processor ตระกูล Ryzen 8000G ซึ่งจัดว่าเป็น APU สถาปัตยกรรม Phoenix ไปหลายรุ่นในช่วงงาน CES2024 ที่ผ่านมา และไม่นานจากนั้นเราก็ได้เห็นว่าตัวชิปนั้นจะใช้การนำพาความร้อนด้วย Thermal Paste หรือซิลิโคนระหว่างตัว die ของชิป ไปยังหน้ากระดองที่เป็นโลหะหรือ Heat Spreader ของตัว Processor
ไม่กี่วันก่อนนัก Overclock และนักโมดิฟาย CPU ขาประจำอย่างนาย Der8auer หรือ Roman Hartung ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพการผ่ากระดองของ Ryzen 7 8700G ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำประจำกับ CPU แทบทุกตัวอยู่แล้ว .. ประมาณว่าถ้าใครนึกถึงนาย Der8auer จะต้องนึกถึงการผ่ากระดอง ในขณะเดียวกัน ถ้าใครนึกถึงการผ่ากระดองก็จะนึกถึงคนนี้เป็นคนแรกเช่นกัน เพราะเขาเองขายอุปกรณ์ในการช่วยผ่ากระดอง CPU ด้วย
Content ที่เขาได้ทำออกมาก็เริ่มด้วยข้อมูลว่า Ryzen 8000G นั้นดูแล้วจะมีการออกแบบที่ใกล้เคียงฝั่ง Mobile มากกว่า และในการนำพาความร้อนนั้น มันยังคงเป็นการใช้ซิลิโคน ไม่ใช่การบัดกรีเชื่อมติดเหมือนกับ Processor ฝั่ง Desktop รุ่นบนๆ .. นั่นแปลว่ามันสามารถผ่ากระดองมาแล้วเปลี่ยนตัว Thermal Interface Material (TIM) ให้กลายเป็นตัวที่นำความร้อนได้ดีกว่าอย่าง Liquid Metal จะเป็นผลดีทันที
ก่อนที่การทดสอบจะเริ่มต้นขึ้น เขาเองก็ได้มีการผ่ากระดองมาเปรียบเทียบกัน ระหว่างตัว Ryzen 7 8700G รุ่นที่ว่า กับตัว Ryzen 9 7950X ซึ่งเป็น CPU โดยเฉพาะ .. ตรงนี้แค่เรามองผ่านๆก็เห็นแล้วว่าภายในนั้นมีความแตกต่างอยู่มากพอสมควรเลย อย่างแรกเลยก็คือ Pattern การวาง die นั้นไม่เหมือนกันสิ้นเชิง และการผ่ากระดองของตัว 8700G จะง่ายกว่ามาก เนื่องจากมันไม่ได้บัดกรีติด แต่เป็นการทาซิลิโคนเอาไว้เฉยๆ โอกาสในการผิดพลาดจนชิปเสียหายก็น้อยกว่ามากเช่นกัน
การทดสอบของเขาก็จะมีอยู่สามรูปแบบ แตกด่างกันที่ค่า Clock และค่าพลังงานที่ป้อนให้ตัว Processor .. ซึ่งก่อนการทดสอบหลังโมดิฟายแล้วก็จะมีการทดสอบค่ามาตรฐานจากโรงงานทั้งหมด , เปิดใช้งาน PBO , และ Overclock แบบ Manual ไปที่ 5.0GHz .. หลังจากนั้นก็ลองทดสอบทั้งการใช้ตัว KyroSheet และ Liquid Metal แบบของเหลว
เขาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ด้วยว่าหลังจาก Overclock แบบ Manual ที่ 5.0GHz แล้ว ประสิทธิภาพของ 8700G จะตามหลัง 7700X อยู่ราวๆ 5% ในการทดสอบ Cinebench .. แต่ตรงนี้ก็ยังเทียบตรงๆไม่ได้ครับ เพราะสินค้าเป็นของคนละกลุ่มตลาด ตัว 8700G นั้นเด่นในเรื่องของ iGPU ไม่ใช่แค่เป็น CPU เฉยๆ
พอใช้ Liquid Metal เข้ามาแล้วเขาก็ได้พบว่าจุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตั้งค่าก็จะเป็นค่า Overclock ที่ 5.3GHz เพราะตรงนี้ได้ความเสถียรและอุณหภูมิของตัว Core จะอยู่ต่ำกว่า 80c ซึ่งค่าตรงนี้ทำความแรงได้สูงกว่า APU เดิมๆที่ 15-17% เลยทีเดียว
ซึ่งการ Delid หรือผ่ากระดอง APU แบบนี้ก็อาจจะเป็นผลดีต่อใครหลายๆคนครับ ไม่ใช่ว่าจะเอาไป Overclock มหาโหดอะไร แต่การออกแบบของ APU นั้นก็มักจะใช้ในงานประเภทที่ว่าคนไม่ต้องการการ์ดจออยู่แล้ว อย่างเช่นพวก Mini PC ที่พื้นที่มีจำกัด ทำให้การใช้ซิงค์ระบายความร้อนนั้นต้องเลือกมากกว่าเดิม รวมไปถึงเรื่องเสียงรบกวนที่ต้องต่ำด้วย แบบนี้แปลว่าการผ่ากระดองตรงนี้ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกนึงในการลดความร้อนของตัว APU แทนที่จะไปแก้ที่ข้อจำกัดอื่นๆอย่างเช่นการเปลี่ยนซิงค์นั่นเอง
ข้อมูล : Tom's Hardware