การโจมตีบริษัทขนาดใหญ่ทางไซเบอร์ถือเป็นเป้าหมายหลักของเหล่าแฮกเกอร์อยู่แล้ว ทั้งทำเองหรือมีรัฐฐะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ในเวลานี้อาชญากรไซเบอร์เริ่มหันไปโจมตีผู้สูงอายุมากขึ้นจนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลก เนื่องจากหลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วัยเกษียณหลายคนเป็นโสด เป็นปู่ย่าตายายขาดการดูแลเอาใจใส่ สถานภาพเหล่านี้ทำให้เข้าถึงได้ง่ายและตกเป้าหมายของเหล่าอาชญากร
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ผลักดันให้ผู้สูงวัยตกเป็นเหยื่อ อย่างเช่น ผู้สูงอายุจำนวนมากเพิ่งเข้าถึงเทคโนโลยี ใช้รหัสผ่านง่ายๆ ไม่เรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองจากภัยไซเบอร์ใหม่ๆ ที่สำคัญ ผู้คนในช่วงอายุนี้โดยทั่วไปมีความสุภาพกับคนแปลกหน้า อาชญากรไซเบอร์จะใช้กลวิธีหลอกลวงที่เหมาะกับพวกเขาและตกเป็นเหยื่อในท้ายที่สุด (เห็นได้จากคดีหลอกลวงผู้สูงวัยดังๆ ในประเทศไทย) แต่วิธีการลักษณะนี้ ถ้าผู้สูงอายุมีความ "ตระหนักรู้" เพียงเล็กน้อย พวกเขาก็จะรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้แล้ว
ต่อไปนี้คือ 4 การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในปีนี้ ซึ่งเราเองก็แทรกวิธีป้องกันเบื้องต้นเข้าไปด้วย คุณผู้อ่านช่วยแชร์และแนะนำผู้สูงอายุใกล้ตัวของคุณด้วย เพื่อความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินนะครับ
1.การโจมตีแบบฟิชชิ่ง
ในปี 2017 มีการวิจัยในเมืองโคโลราโด้เกี่ยวกับการทดสอบทางจิตวิทยาในเรื่องการตรวจจับการฟิชชิ่ง ความสามารถในการแยกแยะการปลอมแปลงเว็บไซต์อีคอมเมิร์ชยอดนิยม โดยมีผู้สูงอายุเข้าร่วมการวิจัย 102 คนและบุคคลวัยต่างๆ ที่อายุน้อยกว่าอีก 91 คน การวิจัยดังกล่าวรายงานผลว่า ผู้สูงอายุมีโอกาสตกเป็นเหยื่อการโจมตีแบบฟิชชิ่งมากถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า (53.47% ต่อ26.37%)
คำแนะนำ: ทุกๆ ครั้งที่จะต้องกรอกข้อมูล เข้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกันการเงิน หรือทำธุรกรรมออนไลน์ จะต้องมีความระมัดระวังทุกครั้ง ซึ่งเป็นพื้นฐานการป้องกันการโจมตีแบบฟิชชิ่ง ตรงนี้เกิดขึ้นได้แม้แต่กับพนักงานในบริษัทเอกชน (โดนสอดแนมในระบบ, ปลอมอีเมล์ผู้บริหารแล้วเปลี่ยนบัญชีปลายทางในการโอนเงิน) นอกจากนั้นควรทำการอัพเดตแพทช์รักษาความปลอดภัยของระบบปฏิบัติการ ติดตั้งและอัพเดตแอพพลิเคชันป้องกันอย่างสม่ำเสมอ หรือทำการเปลี่ยน DNS Server ที่สามารถป้องกันการเปลี่ยนเส้นทาง URL
2.โจมตีด้วยการอาศัยพฤติกรรมของเหยื่อ
อีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้สูงอายุมักตกเป็นเป้าหมายก็คือ พวกเขามีพฤติกรรมบางอย่างที่ง่ายต่อการโจมตี โดยส่วนใหญ่จะใช้การหลอกลวงด้วยสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างลึกๆ อย่างเช่น การนัดพบเพื่อนต่างเพศ ครีมหรือบริการลบเลือนริ้วรอย การจำหน่ายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ การลงทุนวัยเกษียณ การรองขอความช่วยเหลือโดย "ปลอมเป็นสมาชิกในครอบครัว" การโจมตีด้วยแรงดึงดูดเหล่านี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จกับผู้สูงอายุบางราย แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เปราะปาง เพราะพวกเขา "เหงาและว้าเหว่"
คำแนะนำ: เลือกตั้งค่าความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของ Windows 10 ผ่านเมนู Setting ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในรับมือกับการโจมตีแบบ Behavior นอกจากนี้ขอให้เปิดใช้งาน Windows Defender Security Center ด้วย เพื่อป้องกันการเปลี่ยนเส้นทางไปยังจากเว็บไซต์ปลอม รวมถึงอย่าเปิดเอกสารแนบจากอีเมล์ที่ไม่น่าเชื่อถือ วางสายโทรศัพท์หรือหยุดการแชทกับบุคคลที่น่าสงสัย
3. การฉ้อโกงจากร้านค้าออนไลน์
เว็บอีคอมเมิร์ซปลอมกำลังพุ่งไปหากลุ่มผู้สูงอายุที่ขาดความรู้เท่าทันเล่ห์กลโกงและเชื่อในความจริงใจปลอมๆ ตรงนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แล้วไม่ได้รับการจัดส่งของหรือจัดส่งแต่มีค่าบริการแอบแฝง ดังนั้นนอกจากการตรวจสอบเว็บไซต์ว่าถูกต้องจริงหรือไม่แล้ว การสั่งซื้อสินค้าก็ควรเช็คดูประวัติของร้าน การให้เรตติ้งการให้บริการ และข้อมูลอื่นๆ ในร้านค้าที่อยู่ในเว็บอีคอมเมิร์ซ หรืออาจจะเช็คทะเบียนการค้าก็ได้
คำแนะนำ: สำหรับคนที่ซื้อสินค้าจาก Amazon.com บ่อยๆ ก็พยายามหลีกเลี่ยงการดีลกับบริษัทที่ใช้ชื่อแปลกๆ หรือใช้ชื่อของบริษัทผสมลงไปในอีเมล์อย่างเช่น amazon-support123@live.com, support@nice-amazon.com
4.การโจรกรรมข้อมูล
เหยื่อที่ถูกโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กันคือ ใช้รหัสผ่านหรือ PIN ที่คาดเดาได้ง่าย นอกจากนั้นรหัสผ่านบริการของ Gmail รหัสเข้าอีเมล์ รหัสเชื่อมต่อแอพพลิเคชันแชท รหัสผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ รหัสผ่านเว็บเสียภาษีก็ล้วนแต่ใช้รหัสผ่านที่คล้ายๆ กัน หรือบางคนก็เหมือนกันแทบไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุ แต่เป็นผู้คนส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ เพียงแต่ผู้สูงอายุอาจจะใช้รหัสผ่านที่ง่ายเพื่อการจดจำมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สูงอายุบางรายที่ยังซุกซน ชอบเข้าเว็บไซต์ไปทั่ว หรือพยายามค้นหาคอนเทนต์ที่ต้องการ เช่น เว็บเกี่ยวกับบริการนำเที่ยว และเว็บเหล่านั้นถูกฝังมัลแวร์เอาไว้ เมื่อกดรับการแจ้งเตือนหรือโฆษณา มัลแวร์ก็จะฝังตัวเข้าไปในระบบ จากนั้นมันจะคอยเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการหารายได้ของแฮกเกอร์ ที่เหลือก็แล้วแต่ว่า ข้อมูลในเครื่องมีอะไรบ้างและเกิดความเสียหายได้แค่ไหน
คำแนะนำ: ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวัยสูงอายุ ทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโลกดิจิทัลควรหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่มีความสำคัญ อย่างหมายเลขบัตรเครดิต ชื่อ หรือพาสเวิร์กผ่านเครื่องพีซีที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนั้นควรเปลี่ยนหรือปรับรหัสผ่านให้คาดเดาได้ยาก และไม่ควรสอดคล้องกับชื่อหรือวันเดือนปีเกิด ถ้าหากจดจำไม่ได้ก็ลองหาแอพพลิเคชันกลุ่ม password manager มาใช้งาน