สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซน วันนี้จะมากับช่วงเล่าย้อนอดีต ตอนที่ห้า ด้วยช่วงสถานะการ Covid-19 แน่นอนว่างาน Computex Taipei ไม่สามารถจัดขึ้นได้ แต่จริงๆ ที่พาย้อนอดีตไปชม Computex Taipei 2004-2005 มันเป็นยุคสมัยที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และ IT มันมีความเปลี่ยนแปลงกันอย่างเห็นได้ชัดเจน ถ้าเปรียบเทียบก่อนยุคปี 2000 พร้อมกับการออกแบบเทคโนโลยีที่ยังสามารถเปลี่ยนผ่านไปใช้แบบยุคใหม่ หรือ ย้อนหลังรองรับยุคก่อนได้ คนสมัยใหม่คงงง ว่ามันคืออะไรกันเนี่ย !!!
Computex Taipei 2004-2005
ทางด้านของกราฟฟิกการ์ดในระดับเรือธงอย่าง ATi ที่เป็น X800 Series และ nVidia ที่เป็น GeForce 6800 Series ที่ในยุคนั้นกราฟฟิกการ์ดจะมีทางเลือกของอินเทอร์เฟส AGP และ PCI Express จะตัดสินใจซื้ออะไรก็ต้องดูเมนบอร์ดตัวเองด้วยนะครับ ในภาพก็จะเป็นยุคที่เปลี่ยนมาใช้ PCI Express เต็มตัว ถ้าเป็นการ์ด AGP ชิพกราฟฟิกยุคใหม่ต้องใช้ Bridge แปลง หรือ ชิพยุคเก่ามาเป็น PCIe ก็ต้องใช้ Bridge แปลง
Mini PC จาก MSI ก็เป็นอีกหนึ่งของดีที่มีความโดดเด่นที่แตกต่างจากใครๆเค้า คือมันสามารถฟังวิทยุ FM ได้โดยไม่ต้องเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ในภาพที่เราจะเห็นว่าตัวเครื่องมีหน้าจอแสดงเวลา และ ใช้ควบคุมความถี่ของคลื่นวิทยุได้อีกด้วย
กับเคสที่ดีไซน์อวกาศในยุคนั้น ASUS Vento ที่เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นมาก ถ้าเทียบกับเคสแบรนด์อื่นๆในสมัยนั้น แถมยังมีการออกมาของฮีทซิงค์ที่ดูเข้าธีมกัน แต่ว่าเคสมันฝาทึบสองฝั่งเนี่ยสิ
ถ้าพูดถึงสมัยนั้นเกมมิ่งเกียร์ยังไม่มีออกมากันซักแบรนด์ ลองสังเกตุดูในภาพว่าคีย์บอร์ดยังดูธรรมดากันเลยครับ แต่เมื่อเล่นเกมขับรถแล้ว เก้าอี้ที่ใช้ก็เป็นรูปทรง Semi Bucket Seat สมัยนั้นเคสคอมพิวเตอร์ที่ดูมีราคาต้องเคสอลูมิเนียม ฝาหน้าเปิดปิดได้ พร้อมกับฝาข้างเจาะใส พวกแสงสีก็ยัดใส่ไปเองจากพัดลมหรือหลอดนีออน
เมนบอร์ดจากแบรนด์ Foxconn ที่ยุคนั้นมีการออกมาทำตลาดขายปลีกกันด้วย ทั้งเมนบอร์ดสายใช้งานทั่วไปหรือประสิทธิภาพสูง ด้วยความเป็น Foxconn ที่เป็นเจ้าพ่อในวงการผลิตสิ้นส่วนที่ใช้ผลิตเมนบอร์ด ก็พาทำให้ผู้ผลิตเมนบอร์ดรายใหญ่ในตลาดหลอนเป็นอย่างมาก
ถ้าพูดถึง Mini PC ในตระกูล Xpc จากแบรด์ Shuttle เป็นอีกหนึ่งความนิยมของคนชอบเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเล็กแต่แรง สมัยนั้นยังไม่มีเมนบอร์ด Mini ITX แบบสมัยนี้
ยุคของแสงสีที่มาแรง เคสเจาะฝาใส พร้อมกับไฟ LED สีน้ำเงิน หรือ UV นี่ได้รับความนิยมมาก แต่นี่ลามไปถึงพาวเวอร์ซัพพลายใสครับ การปรับรอบพัดลมอัตโมมัติไม่มี หมุนปรับด้วยมือเอาครับ
พาวเวอร์ซัพพลายแบรนด์ Tagan ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในบ้านเรามาก ทั้งพัดลมสีน้ำเงิน ไฟสีต่างๆที่เต้ารับ การถอดสายได้ มีการหุ้มสายมาเรียบร้อย บางตระกูลกล่องมาอย่างเท่ห์มาก ทุกวันนี้ผมยังใช้กล่องมันเก็บของอยู่เลยครับ
หูฟัง Bluetooth อาจไม่ใช่เรื่องแปลก พอเทคโนโลยีถูกลง แบรนด์จากไต้หวัน หรือ จีนทำมาลงตลาด ราคาจับต้องได้ง่ายขึ้น ขนาดเล็กลง ถ้าเทียบกับหูฟัง Bluetooth อย่าง Sony Ericsson ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ซื้อมาด้วยราคาเหยียบหมื่น
Bluetooth Dongle ในยุคนั้นใครใช้งาน PDA หรือ Smartphone ก็ต้องมีไว้ถ่ายโอนข้อมูล สมัยก่อนแบรนด์นี้แพงมากครับ แต่เจอกันนำแรงบันดาลใจมาใช้ เทคโนโลยีถูกลงราคาเหลือไม่กี่บาท แต่คุณภาพสู้ของจริงไม่ได้เลย
ยุคนั้นเทคโนโลยี Wireless Lan เริ่มมากันแล้ว แต่ราคายังสูงมาก ถ้าบ้านใครมีฐานะถึงจะมีใช้งานในบ้านครับ จำได้ว่าสมัยนั้นไม่ได้เร็วอะไรกับการถ่ายโอนข้อมูล แต่ถ้ามาเล่นเพียงแค่อินเตอร์เน็ตก็ถือว่าพอเพียงในการใช้งาน
เครื่องเล่นเพลงดิจิตอล หรือ เครื่องเล่น MP3 คือสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในการฟังเพลงอย่างเห็นได้ชัด ในยุคแรกที่เครื่องเล่นแพงดิจิตอลราคาแพงมากเพราะ Storage ภายใน พอเทคโนโลยี Nand Flash ราคาถูก เครื่องเล่นเพลงดิจิตอลราคาก็ถูกลงและเล็กลง สมัยก่อนช่วงประถมผมยังพก Sony Discman ไปโรงเรียน เดินไปฟังเพลงกระตุกไป ฮ่าๆ
การ Modding Case ที่มันมีมาตั้งแต่สิบกว่าปีก่อนโน้น แต่ที่เราจะเห็นได้ว่ายังไม่ได้เน้นที่ชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ เราจะเห็นไอเดียในการออกแบบเคสโมดิฟายเคสที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป
ถึงจะมีการสร้างหรือโมดิฟายเคสกัน แต่อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ODD ยุคนั้นอินเตอร์เน็ตไม่ได้เร็วมาก บางบ้านยังไม่มีอินเตอร์เน็ต การติดตั้ง Driver หรือ Software จำเป็นต้องลงจากแผ่นซีดีที่ให้มาในกล่องเป็นหลัก
การแสดงถึงความเป็นคอมพิวเตอร์ระดับไฮเอนด์ ในยุคนั้นเคสอลูมิเนียม Lian-Li ที่ได้รับความนิยมมาก ในภาพคือเคสรุ่น 777 ดีไซน์แตกต่าง ช่อง 5.25" ใส่ ODD หรือ HDD Rack Hot swap มาเต็มที่ พร้อมยังมีช่องติดตั้ง FDD 3.5" ที่มีความจำเป็นในยุคสมัยก่อน
เทคโนโลยีพัดลมระบายความร้อน ที่การพัฒนาของฝั่ง Server นั้นจะมีความโดดเด่นกันมาก ในภาพเป็นการโชว์ถึงประสิทธิภาพของ Airflow ลมที่ออกมา
เป็นอีกหนึ่งความพัฒนาของพัดลม ที่มีความสามารถในการกันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP55 ที่ช่วยเพิ่มความทนทานในการใช้งานต่อเนื่องได้ดีมากขึ้น
การโอเวอร์คล็อกสมัยก่อน ที่การเล่น Dryice LN2 HE2 หรือ Compressor ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลสำหรับการโอเวอร์คล็อกเล่น ในภาพก็เป็นแรม G.Skill DDR1 ชิพ Samsung TCCD ที่เป็นตัวแรงในยุค ตรงถามยุคด้วยฮีทซิงค์ Thermalright ซีพียูหนีไม่พ้น AMD Socket 939 Athlon 64 หรือ Athlon FX
การปรับแต่งจูนเพื่อการโอเวอร์คล็อก เค้นประสิทธิภาพ ต้องทำการปรับแต่งผ่าน Bios ยังไม่มีการปรับแต่งผ่าน Software ในสมัยนี้ที่ง่ายมากๆ ในยุคก่อนหน้านี้จะเป็นการปรับผ่าน Dip Switch บนเมนบอร์ดโดยตรง
ชุดระบายความร้อนการ์ดจอจาก Thermaltake ที่สร้างความแปลกใหม่ในตลาด พร้อมกับชุดระบายความร้อนซีพียูแบบลูกครึ่ง ที่ใช้ครีบพร้อมท่อทองแดงที่ใช้ของเหลวระบายความร้อน
ยุคที่หน้าจอ LCD เข้ามาเปลี่ยนผ่านหน้าจอ CRT แต่คุณภาพหน้าจอ LCD ที่เรียกได้ว่าสุดๆ ซื้อจอตัวนึงอาจต้องเลือกดีๆหน่อย เลือกจากหน้าร้านมากลับถึงบ้านอาจต้องวิ่งกลับไปเปลี่ยนที่ร้านอีกรอบได้ แต่ ASUS ที่ได้ออกมาของหน้าจอ Zero Bright Dot เชื่อมั่นกับคุณภาพได้