Intel Core i9 14900KS จัดว่าเป็น CPU ที่ร้อนแรงใช้ได้ ประมาณว่าแค่ใช้งานปกติเอง อย่างน้อยให้สบายใจก็ต้องเอาชุดน้ำปิด 3 ตอนดีๆมาใช้กันแล้ว .. หรือถ้าอยากจะดีขึ้นมาหน่อยก็จัดไปเลยครับ ชุด Custom ราคาหลายหมื่น ใส่ Waterblock ดีๆ ปั้มแรงๆ หม้อน้ำใหญ่ๆ
อุปกรณ์สำคัญอย่างนึงในชุดน้ำเปิดก็คือ Water Block นี่แหละครับ เพราะมันเป็นตัวที่ถ่ายเทความร้อนจาก CPU ไปยังของเหลวหรือน้ำในระบบเพื่อที่จะนำไประบายความร้อนที่หม้อน้ำต่อไป ถ้า Waterblock ดี ก็แน่นอนว่าจะถ่ายเทความร้อนจาก CPU ไปยังน้ำได้ดีด้วย
ในขณะที่คนส่วนใหญ่หา Water Block ดีๆมาใช้ .. ก็มี YouTuber ชาวจีนคนนึงชื่อว่า Octppus ได้มีการดัดแปลงตัว IHS หรือ Integrated Heat Spreader ที่ภาษาไทยเรียกว่า กระดอง CPU ให้กลายเป็น Cold Plate ตัวแลกเปลี่ยนความร้อน ที่เหมือนกับ Waterblock เลย !
คำถามแรกก็คือ จะทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร ? ง่ายๆก็คือ CPU จริงๆนั้นจะอยู่ใต้กระดองที่ว่า และจะถ่ายเทความร้อนมาด้วย STIM หรือ Thermal Grease .. หลังจากนั้นความร้อนก็จะถูกถ่ายเทจาก Die ออกมาที่ตัวกระดองเพื่อให้กระจายทั่วกัน ไม่เป็นจุดสะสมจุดใดจุดนึง .. หลังจากนั้นตัวกระดองก็จะถ่ายเทความร้อนไปยัง Thermal Paste หรือ ซิลิโคน แล้วก็ต่อไปยัง Cold Plate ของ Water Block ไม่ก็หน้าสัมผัสของซิงค์ลมต่อไป
ในตัว Waterblock เองก็จะมีช่องเล็กๆที่เรียกว่า Microchannels ที่ให้น้ำไหลผ่านแล้วถ่ายเทความร้อนจากวัสดุโลหะของ Block ไปยังของเหลวด้วยวิธีการ Convection .. ซึ่งทุกขั้นตอน ทุกวัสดุที่เพิ่มเข้ามานั้น ก็จะเท่ากับเป็นการเพิ่ม Thermal Resistance .. ตรงนี้ถ้าเป็นคนปกติใช้งานธรรมดา ก็อาจจะไม่ได้ซีเรียสอะไรมาก
แต่ถ้าเป็นสายโหดในด้าน OC ต้องการจะลดอุณหภูมิให้ได้มากที่สุด ประมาณว่ายอมลงทุนมหาศาล เพื่อให้อุณหภูมิดีขึ้น 2-3 องศาเนี่ย เขาก็ต้องมาหาวิธีครับ ว่าจะต้องทำยังไงต่อให้ได้ทุกเม็ด ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าการกระทำนั้นจะยากมากก็ตาม .. วิธีสายโหดที่ง่ายที่สุดก็คงเป็นการ ถอดกระดอง หรือ IHS ออก แล้วเปลี่ยนไปเอา Waterblock วางบน die ตรงๆนี่แหละครับ
ผู้ใช้ชาวจีนคนนี้เขาคิดกลับกัน .. แล้วถ้าเอากระดองไว้ แต่ถ้าถอด CPU Block ออกหล่ะ จะดีกว่ามั้ย ? เขาก็ลองทำโปรเจ็กต์นี้ออกมาให้เราดูกันครับ .. ด้วยความที่เขามีเครื่อง CNC ที่สามารถใช้งานได้ เขาก็เลยเอาตัวกระดองของ Core i9-14900KS มากลึงให้มันเป็นช่องทางน้ำซะเลย โดยตรงต้นและปลายทางก็มีช่องสำหรับการใส่ Fitting เพื่อต่อสายยาง .. หลังจากนั้นก็เอาฝาแบบใสมาปิด พร้อมมีปะเก็นรอง เพื่อป้องกันการรั่วด้วย
ในการทดสอบนั้น เพื่อเป็นการให้อุณหภูมิของ Coolany นั้นนิ่งที่สุด .. ของเหลวก็จะถูกเทใส่ถัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นจุดพักน้ำ .. หลังจากใช้งานเสร็จรอบนึง Coolant ก็จะถูกเทลงไปในขวดแยกกัน .. หลังจากนั้นเขาก็มาจดอุณหภูมิเทียบกันระหว่างการใช้งานกระดองที่ถูกโมมา กับการใช้งาน Waterblock ปกติ
ผลก็คือในช่วง Idle และตอนที่ CPU ดึงต่ำกว่า 60W .. ก็ได้เห็นว่าอุณหภูมิของตัว IHS โมนั้น ทำออกมาได้ดีกว่า .. แต่พอความเร็วของปั้มลดลง อุณหภูมิก็พุ่งขึ้นไปไม่ต่างกับของ Waterblock ปกติเลย
โดยรวมแล้วหลักการของระบบนี้ก็คือ มันทำให้ขั้นตอนการถ่ายเทความร้อนหายไปอันนึง ซึ่งก็น่าจะทำให้มันดีขึ้น .. แต่ก็มีปัญหาตามมา ก็คือ Surface Area หรือหน้าสัมผัสที่มีจำกัดมากกว่า การออกแบบช่องทางน้ำก็อาจจะไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับ Waterblock จริงๆ .. ในขณะที่ Waterblock ทั่วไปนั้น เน้นกระจายความร้อนไปในพื้นที่กว้าง ก่อนที่จะถ่ายเทไปยังของเหลว แต่.. IHS โมแบบนี้ โฟกัสที่จุดเล็กกว่าจุดเดียว ทำให้อุณหภูมิอาจจะ Spike ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากมี Load CPU ที่มากขึ้น .. ทางแก้จึงอาจจะจำเป็นต้องใช้ Flow Rate ของน้ำเข้ามาช่วย
โปรเจ็กต์นี้เอาจริงๆ มันก็เป็นเหมือนการทำสนุกๆเฉยๆนั่นแหละครับ .. เพราะจะว่าไปแล้ว ถ้าคิดว่าการผ่ากระดองเป็นเรื่องที่น่ากลัว อย่างน้อยเราก็อาจจะเอามันกลับเข้าสู่สภาพเดิมได้หล่ะนะ แต่การเอาเครื่องกลึงมาโมดิฟายกระดองทั้งตัวแบบนี้ อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันครับ ว่าจะทำท่าไหนถึงกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ .. ประมาณว่าถ้าพลาดก็ทิ้งเลยนั่นแหละ
ข้อมูล : Tom's Hardware