ไขข้อข้องใจเรื่องของ วินโดว์ มันอะไรกันนักหนาแบบไหนใช้ได้ แบบไหนใช้ไม่ได้ ใช้ได้กับที่บ้านแต่กับที่ทำงานใช้ไม่ได้ และทำไมราคาที่ขายที่เห็น บางทีก็ถูกเหลือเชื่อ บางแบบก็ราคาแพงเหลือเกิน มันเป็นยังไงกัน ต่างกันยังไง อยากรู้จริงๆ มาๆ ตามเรามา
เพื่อนๆคงจะเคยผ่านตามาบ้างจากที่เห็นราคาของวินโดว์ลิขสิทธิ์ ที่เห็นขายกันดาดดื่นในเวบขายสินค้าออนไลน์ทั่วๆไป ว่าทำไมมันจึงมีราคา ที่แตกต่างกันอย่างมาก เท่าที่เคยเห็นนั้น ราคามีตั้งแต่ที่ขายกันในหลักสิบบาท จนถึงหลายๆพันบาท
ลิขสิทธิ์วินโดว์มีมากมายหลายแบบ มากจนบางครั้งถามผู้รู้แต่ละคน เรายังได้คำตอบที่แตกต่างกัน ขนาดที่ทางทีมงานเคยสอบถามไปทาง บริษัทไมโครซอฟท์เอง ก็ยังให้คำตอบที่ชัดเจนแก่เรายังไม่ได้เลย เราจึงได้แต่หาข้อมูลทั้งจากตัวแทนจำหน่าย จากผู้คร่ำหวอดในการค้าซอฟท์แวร์ และจากผู้รู้ที่ยอมที่บอกเราในรายละเอียดของเจ้าวินโดว์นี้ว่า มันเป็นอย่างไรกันบ้าง (อะไรจะลึกลับซับซ้อนขนาดนี้)
เราจะมาพูดถึงลิขสิทธิ์ของวินโดว์ 10 ที่มีขายอย่างแพร่หลายในบ้านเรานั้น หลักๆจะมีอยู่ 3 แบบ ดังต่อไปนี้

1 แบบ OEM (original equipment manufacturer) COA (Certificate of Authenticity) คือสติกเกอร์ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีรหัสลิขสิทธิ์ 25 หลักสำหรับระบบปฏิบัติการ Windows เราจะเรียกลิขสิทธิ์แบบนี้ง่ายๆว่า แบบ สติกเกอร์ OEM ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น OEM จะเป็นลิขสิทธิ์ที่ขายให้กับผู้ผลิตเอาไปใช้ในคอมพิวเตอร์ของแบรนด์ตัวเอง ออกวางจำหน่าย พร้อมเครื่อง สติกเกอร์จะมีแถบกันการมองเห็น ก่อนจะใช้ต้องขูดเอาแถบด้านบนที่ปิดตัวเลขไว้ออก จึงจะมองเห็นคีย์ แล้วจึงนำคีย์มาใช้ในการ Activate ต่อไป แล้วที่บอกว่าเป็นแบบ OEM เรามีสิทธิ์ที่จะนำมาใช้ในเครื่องของเราได้มั้ย นั่นนะซิ!! มันจะใช้ได้หรือ?? ตามความเห็นของผู้เขียน ผมว่าใช้ไม่ได้ครับ!!!! Activate ได้ แต่สิทธิ์การใช้ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่มาตรวจไม่มาจับ ก็ใช้ต่อไปชิวๆ อัพเดทได้ตลอด ไม่ต้องกลัวเด้ง แต่ถ้าวันดีคืนดีเขามาตรวจจับ ก็เอวัง ลิขสิทธิ์แบบนี้ ของแท้ ราคาขายกันอยู่ที่ หนึ่งพันกลางๆขึ้นไป และไม่สามารถที่จะย้ายเครื่องได้ ลิขสิทธิ์จะอยู่ติดกับตัวเมนบอร์ดตลอดไป เวลาลงวินโดว์ใหม่ครั้งต่อไปก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการ Activate อีกต่อไป มันจำเราได้แล้ว

2.แบบ CD มาในซองแข็งสีขาว ด้านในมีแผ่น CD Windows และสติกเกอร์ ลิขสิทธิ์แบบนี้ ผู้เขียนว่า มันเหมือนกับแบบแรกทุกประการ เพียงแค่มีแผ่น CD Windows เพิ่มขึ้นมาท่านั้น ในเมื่อมันเป็นเหมือนกับในแบบแรกที่กล่าวมาแล้ว มันก็คือแบบ OEM แน่นอนครับถ้านำมาใช้งานก็ไม่น่าจะถูกต้องเหมือนกัน แต่ในเมื่อทางเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้มีแอ๊คชั่นใดๆ ก็ใช้กันยาวไป ก็เห็นมีขายกันทั่วไป ราคาขายลิขสิทธิ์แบบนี้ จะอยู่ที่สองพันปลายๆขึ้นไป

3.แบบ FPP (Full Packaged Product) ภายในกล่อง จะมี การ์ดแข็งที่มีคีย์พิมพ์ไว้อยู่ คู่มือ และ usb โปรแกรมวินโดว์ ลิขสิทธิ์แบบนี้ เป็นลิขสิทธิ์แบบถูกต้อง ที่เราหาซื้อมาใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราเองได้เลย ถูกต้องสะอาดหมดจด ราคาแพง ลิขสิทธิ์จะอยู่ไปกับเราจนวันตาย (แต่ต้องเก็บกล่องและของที่มีมาด้วยในกล่องไว้ด้วย) สามารถที่จะย้ายเครื่องได้ ติดปัญหาใดๆก็โทรเข้าไปที่ไมโครซอฟท์ให้เขาแก้ปัญหาได้เลย ราคาขายจะอยู่ที่ห้าพันกว่าบาทขึ้นไป ถามว่าแพงมั้ย ดูแล้วก็อาจจะแพง แต่ทางผู้เขียนมองว่าก็คุ้มค่านะ ย้ายเครื่องก็ได้ อัพเดทได้ตลอด และผมว่าน่าขายต่อได้ด้วย(ขายทั้งหมดที่มีมาในกล่อง) และเห็นได้ยินมาว่า Windows 10 จะเป็นเวอร์ชั่นสุดท้าย จะไม่มี 11 12 ตามมาอีก(จริงหรือเปล่า) จะมีแต่การอัพเดทตามมาเรื่อยๆเท่านั้น
ที่จริงแล้วลิขสิทธิ์วินโดว์ยังมีอีกมากมายหลายแบบ(จะเยอะไปไหน) แต่เรามาพูดถึงแค่ลิขสิทธิ์วินโดว์ที่มีขายอย่างแพร่หลายในบ้านเราทั้งสามแบบ เพื่อนๆคงจะสงสัยว่า ไม่เห็นจะพูดพวกของราคาถูกๆเลย ที่เห็นขายกันอยู่ตั้งแต่ราคา 70-80 บาท จนถึง 200-300 บาทบ้างเลย ที่เห็นขายๆกันอยู่ Activate เสร็จ ใช้งานไปบางทีก็เด้งออก ติดต่อคนขาย ก็เปลี่ยนคีย์ใหม่มาให้ หรือถ้าคนเปลี่ยนเยอะๆ ก็ปิดร้านหนี เปิดร้านใหม่ขาย ก็หากินกันง่ายๆ เพื่อนๆคิดว่าลิขสิทธิ์เขาจ้างนักพัฒนามาเขียนโปรแกรม แล้วเอามาขายในราคาหลักสิบหลักร้อย มันจะเป็นไปได้มั้ย อันนี้ต้องลองพิจารณากันดูเองแล้วละครับ ส่วนตัวผมบอกเลยว่าราคาแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ครับ
ขอขอบคุณ
-ข้อมูลและภาพประกอบจาก www.djingsoft.com
-ข้อมูลจาก เด็ก exclusive