แม้ว่าฝั่งสมาร์ทโฟนและโอเปอร์เรเตอร์ในเมืองไทยจะเริ่มก้าวไปสู่มาตรฐาน Wi-Fi 6 กันแล้ว แต่ทางฝั่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายภายในบ้านส่วนใหญ่เพิ่งจะขยับไปสู่มาตรฐาน AC นั่นเป็นเพราะว่า เราเตอร์ของ ISP เริ่มใช้มาตรฐานนี้แทนที่มาตรฐานเดิมอย่าง 802.11n แน่นอนว่า เราเตอร์เหล่านั้นโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ยอดเยี่ยมมากพอที่จะตอบรับทราฟิกจำนวนมากๆ เมื่อมีอุปกรณ์ต่อเชื่อมต่อหลายตัวพร้อมกันในขณะที่ต้องประมวลผลงานอื่นๆ ไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การทำหน้าที่เป็นโมเด็มออกสู่อินเทอร์เน็ต การทำหน้าที่เซิร์ฟเวอร์ DHCP ให้กับไคลเอนท์ทั้ง LAN และ Wi-Fi หรือประมวลผลข้อมูลในการรับส่งข้อมูลเครือข่ายไร้สาย ดังนั้นการมองหาเราเตอร์ไร้สายมาตรฐาน AC อีกตัวเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระจึงเป็นสิ่งผู้ใช้จำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญ
เราเตอร์ Mercusys AC12G ถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ในเมืองไทย ซึ่งนำเข้าโดย TP-Link มาพร้อมกับค่าตัวที่สมเหตุสมผลเพียง 1,490 บาทเท่านั้น และบทความต่อจากนี้จะช่วยให้คุณรู้จักกับเราเตอร์ตัวนี้มากขึ้น
Mercusys AC12G เหมาะกับใครบ้างและเป็นเราเตอร์แบบไหน
- ต้องการเครือข่ายไร้สายมาตรฐาน AC ในระดับความเร็วสูงสุด 867Mbps
- รองรับการตั้งค่าระดับพื้นฐานที่ทำได้สะดวกด้วยอินเทอร์เฟซที่ทำความเข้าใจได้ง่าย
- ควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของบุตรหลานผ่านการกำหนดเวลา
- ต้องการขยายพื้นที่ Wi-Fi ทั้ง 2.4GHz และ 5GHz ในราคาประหยัด
- ต้องการควบคุมแบนด์วิดธ์เครือข่ายด้วยตัวเองแบบรายอุปกรณ์
Hardware & Design
กล่องของเราเตอร์ Mercusys AC12G ออกมาได้ดึงดูดผู้ใช้งานอย่างมาก ด้วยสีแดงตัดกับสีดำให้อารมณ์คล้ายกับเราเตอร์เกมมิ่ง มาพร้อมกับสายเคเบิ้ล GbLAN เราเตอร์ คู่มือต่างๆ อะแดปเตอร์ขนาดจิ๋วใช้ปลั๊กแบบ Type A ซึ่งเสียบกับปลั๊กรางหรือปลั๊กไฟบ้านเราได้แน่นสนิท
ตัวเราเตอร์มีขนาดค่อนข้างเล็ก น้ำหนักเบา ผิวด้านบนเป็นผิวกึ่งด้านสลับกับผิวแบบมีเท็กซ์เจอร์ คาดกลางด้วยการขึ้นรูปชิ้นงานเป็นรูปตัว X ขณะที่เสาสัญญาณทั้งหมด 4 เสาระบุว่ามีกำลังส่ง 5dBi ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ ส่วนฐานของตัวเครื่องใช้สีเทา มีการเจาะช่องรูพรุนให้ลมเข้าไปภายในเครื่อง และยังสามารถติดตั้งแบบแขวนผนังได้ด้วย
สำหรับด้านหลังมีพอร์ต Ethernet สำหรับเชื่อมต่อ LAN 3 ช่อง ขณะที่ช่องที่ติดกับช่องต่อ WAN (สีเหลือง) จะรองรับการใช้งานกับ IPTV ได้ด้วย ทั้งหมดมีความเร็วในการเชื่อมต่อระดับ GbLAN ทั้งสิ้น ส่วนปุ่มสีดำข้างๆ กันจะเป็นทั้งปุ่ม WPS และปุ่ม Reset ส่วนไฟแสดงสถานะการทำงานจะอยู่ด้านหน้า สกรีนสถานะเอาไว้ชัดเจนทั้ง Sys, Wi-Fi, WAN และ LAN
Specification
แม้ว่าเราเตอร์ Mercusys AC12G จะเป็นเราเตอร์มาตรฐาน AC 1200 แต่การมุ่งเป้าไปคที่ตลาดผู้ใช้ระดับเริ่มต้นมันจึงเป็นเราเตอร์มาตรฐาน 802.11ac Wave 1 พร้อมเสาสัญญาณ 2x2 MIMO รวมถึงรองรับแบนด์วิดธ์ช่องสัญญาณสำหรับย่าน AC-5GHz สูงสุด 80MHz โดยมีความเร็วสูงสุด 867Mbps นอกจากนั้นก็มีฟีเจอร์อื่นๆ เสริมอย่างเช่น การรองรับ Dynamic DNS, IPV6, Virtual Server และการเข้ารหัสสัญญาณเครือข่ายแบบ WPA-PSK / WPA2-PSK
Signal Rate |
300 Mbps at 2.4 GHz, 867 Mbps at 5 GHz |
Wireless Standards |
IEEE 802.11a/n/ac 5 GHz, IEEE 802.11b/g/n 2.4 GHz |
Interfaces |
1xGigabit WAN Port |
Transmission Power |
<20dBm (EIRP) |
Wireless Functions |
Enable/Disable Wireless Radio, Wireless Statistics |
WAN Type |
Dynamic IP/Static IP/PPPoE/PPTP/L2TP |
Other |
DMZ Server, Virtual Server, UPnP, DMZ, IP and MAC Address Binding, NO-IP, DynDNS |
อย่างไรก็ดี เราเตอร์ตัวนี้ยังสามารถสร้างเครือข่าย Guest Wi-Fi ได้อีก 2 ช่องสัญญาณ ดังนั้นเราเตอร์ตัวนี้จึงสามารถสร้างเน็ตเวิร์กไร้สายหรือ SSID ได้ทั้งหมด 4 ชุดด้วยกัน
Web Interface
โดยส่วนตัวขอชื่นชมการออกแบบเว็บอินเทอร์เฟซของเราเตอร์ตัวนี้ที่ทำความเข้าใจได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป สามารถตั้งค่าเพียง 3 ขั้นตอนก็สร้างเครือข่าย Wi-Fi พร้อมใช้งานได้ทันที สามารถจัดการกับอุปกรณ์หรือรายงานข้อมูลการใช้งานเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงทำการบล็อกอุปกรณ์ได้เพียงคลิกเดียว ตลอดจนกำหนดค่าอัพโหลดดาวน์โหลดรายอุปกรณ์ได้เลย (NAT Boost Disable) นอกจากนั้นยังแบ่งแยกโหมดการตั้งค่าทั้งแบบ Basic และ Advance
การตั้งค่าในโหมด Advanced ก็มีการแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 7 รายการ ตรงนี้จดจำได้ง่ายและไม่ต้องอาศัยทักษะด้านเน็ตเวิร์กใดๆ สำหรับผู้ใช้งานมือใหม่ การตั้งค่าเครือข่าย 2.4GHz กำหนดโหมดเครือข่ายได้ตั้งแต่ BGN ทั้งแบบแยกหรือแบบผสมให้ปรับตามไคลเอนท์ที่เข้ามาเชื่อมต่อ เลือกแชนแนลได้ 13 ช่องและใช้แบนด์วิดธ์ช่องสัญญาณขนาด 20และ 40MHz ขณะที่เครือข่าย 5GHz จะเลือกใช้โหมดมาตรฐาน 11a/n และ 11a/n/ac พร้อมกับกำหนดแชนแนลได้ 4 ช่อง (36, 40, 44, 48) รวมถึงใช้งานแบนด์วิดธ์ช่องสัญญาณขนาด 20, 40, 80MHz แน่นอนว่า สามารถปรับกำลังขยายสัญญาณได้อีก 3 ระดับ
ขณะที่เครือข่าย Guest จะปรับรายละเอียดเหมือนกับเครือข่าย Host ไม่ได้ แต่เพิ่มรายการตั้งค่าให้เข้าเชื่อมต่อ/ไม่เชื่อมต่อกับเครือข่ายภายใน รวมถึงกำหนดแบนด์วิดธ์อัพโหลด/ดาวน์โหลด รวมถึงระยะเวลาในการเข้าใช้งานเครือข่ายได้ทั้งแบบจำนวนเวลา และกำหนดช่วงเวลา
สำหรับ Parental Control จะอยู่ในหมวด Network Control ร่วมกับการตั้งค่า Access Control ซึ่งตรงนี้สามารถตั้งค่า Whitelist และ Blacklist โดยกำหนดหัวข้อ Description กำหนดเป้าหมายหรือหมายเลข Mac Address รวมถึงกำหนดช่วงเวลา ซึ่งเหมาะสำหรับกรณีคนข้างบ้านมาขอใช้อินเทอร์เน็ตและเราต้องการกำหนดช่วงเวลาให้ใช้งาน ตรงนี้มีสามารถตั้งค่าทั้งแบบง่ายๆ และแบบขั้นสูงมาให้ด้วย
ส่วน Parental Control ก็ไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมาก แค่ผู้ใช้เลือกอุปกรณ์ที่เข้ามาเชื่อมต่อขณะนั้น คลิกเลือกใช้งาน Parental Device และกำหนดช่วงเวลาที่ไม่ต้องการให้ใช้งานเข้าไปเป็นอันเสร็จสิ้น แน่นอนว่า สามารถแทรกหรือลบได้ง่ายๆ ด้วย
ส่วนหมวด Advance Users และ System Control ก็ให้มาในระดับมาตรฐาน สิ่งที่ทำได้ก็ตามที่เห็นในภาพ แต่จะไม่ความสามารถในการมอนิเตอร์ริ่งระบบที่ช่วยให้เรามองเห็นการทำงานของชิปประมวลผล ปริมาณหน่วยความจำที่ใช้งานไป หรือข้อมูลเชิงกราฟในการใช้งานแบนด์วิดธ์ภาพรวม
Performance Test
การทดสอบหาค่าแบนด์วิดธ์ของเราในครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม โดยในชั้น 2 มีสิ่งกีดขวางสัญญาณขนาดใหญ่อยู่ เนื่องจากออฟฟิศของเราทำการต่อเติม ดังนั้นผลทดสอบสัญญาณในชั้น 1 จึงไม่อยู่ในสภาวะที่จะนำเสนอได้ ดังนั้นผลการทดสอบจึงมีเฉพาะชั้น 3 และชั้น 2 เท่านั้น
ทีมงานใช้สมาร์ทโฟน Asus Max Pro จับสัญญาณผ่านแอพฯ Wi-Fi Analyst จากกราฟนี้จะเห็นค่าความแรงสัญญาณของเราเตอร์ในชั้น 1 อยู่ในขั้นที่แทบใช้งานไม่ได้เลย ตรงนี้เป็นเพราะเหตุผลข้างต้น ขณะที่ความแรงสัญญาณในชั้นอื่นๆ ก็ไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ เมื่อเทียบกับเราเตอร์อื่นๆ ที่เราเคยทดสอบมา แน่นอนว่า เราเปิดให้เราเตอร์กระจายสัญญาณระดับสูงสุดอยู่แล้ว
ค่าแบนด์วิดธ์ที่ทดสอบร่วมกับชิปไวร์เลส Intel AC-9560 บนโน้ตบุ๊ก ROG Strix ก็ให้ผลแบนด์วิดธ์ที่น่าพอใจ โดยมีค่าแบนด์วิดธ์เฉลี่ยสำหรับคลื่น 5GHz อยู่ที่ 305Mbit/s ขณะที่คลื่น 2.4GHz ทำได้ที่ 43Mbit/s และก็ยังทำได้ดีในชั้น 2 ด้วยที่แทบจะไม่ได้ลดความเร็วลงมาเลย ต่างจากคลื่น 5GHz ที่ลดลงเหลือ 170Mbit/s ถึงอย่างนั้นมันก็ยังเป็นความเร็วที่ดีเมื่อนำไปใช้งานจริง แต่ทั้งหมดนี้คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สภาพแวดล้อมในการทดสอบของเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ได้เหมือนกับเราเตอร์อื่นๆ ที่เราเคยทดสอบมา
CONCLUSION!
เรียกได้ว่าการออกแบบเราเตอร์ Mercusys AC12G นั้นเป็นมิตรกับผู้ใช้งานทั่วไปและตอบสนองประสิทธิภาพด้านเครือข่ายไร้สายได้อย่างสมเหตุสมผลกับค่าตัว แม้ว่าในภาพรวมแล้วจะไม่ได้มีฟีเจอร์พิเศษอะไรที่โดดเด่น แต่มันก็มีสิ่งที่ผู้ใช้งานตามบ้านต้องการอยู่อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายสัญญาณเครือข่ายไร้สายที่ด้วยเสาสัญญาณกำลังส่ง 5dBi การสร้างเครือข่ายไร้สายแบบ Dual band ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดสรรช่องทางการสื่อสารตามความเหมาะสม (หรือตามใจตัวเอง) ตลอดจนกระทั่งการสร้างเครือข่าย Guest และการตั้งค่าควบคุมการใช้งานที่สะดวกอย่าง Parental Control แต่สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำก็คือ ค่าตัวของมันที่อยู่ในกลุ่ม "คุ้มค่า"
Thanks: TP-Link Technologies Co., Ltd.
Price: 1,490 บาท
รับประกันผ่าน: Plenty และ Synnex (ผู้ใช้สามารถส่งเคลมได้ที่ศูนย์บริการที่ซื้อผลิตภัณฑ์)
FACEBOOK : https://www.facebook.com/MercusysTH/