เราจะรู้ได้อย่างไรว่า SD Card ที่เราซื้อมาเป็นของปลอมหรือไม่? วิธีการเช็คที่ง่ายที่สุดคือการทดสอบความเร็วในการอ่าน-บันทึก ซึ่งแอพฯ ที่เรากำลังจะมาแนะนำวันนี้ ช่วยไขความกระจ่างให้คุณได้
ปัจจุบัน SD Card และ MicroSD Card กลายเป็นสื่อบันทึกข้อมูลมาตรฐานที่ถูกนำไปใช้งานอย่างหลากหลายแทบทุกอุปกรณ์ ตั้งแต่สมาร์ทโฟน โดรน กล้องดิจิตอล กล้องติดรถ เว็บแคม ไปจนถึงเครื่องเล่นเกมพกพาต่างๆ ความนิยมในการใช้ SD Card นี้เองนำมาซึ่งการ์ดปลอม ก๊อบเกรด A วางขายกันเกลื่อนออนไลน์ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า SD Card ที่เราซื้อมาเป็นของปลอมหรือไม่? วิธีการเช็คอย่างง่ายที่สุดคือการทดสอบความเร็วในการอ่าน-บันทึก ซึ่งแอพฯ ที่เรากำลังจะมาแนะนำวันนี้ ช่วยไขความกระจ่างให้คุณได้
4 แอพฯ ทดสอบความเร็วและความจุที่แท้จริง
โชคดีที่คุณเป็นแฟน OCZ เพราะเรากำลังจะบอกคุณว่า สามารถตรวจสอบการ์ดที่ซื้อมาแล้วว่าเป็นของปลอมหรือไม่ได้ง่ายๆ ด้วยความช่วยเหลือของแอพฯ ที่สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรีต่อไปนี้
H2testw
แอพฯ เก่าแก่แต่น่าเชื่อถือตัวถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบความจุที่แท้จริงของ SD Card / microSD Card รวมไปถึงความเร็วในการอ่าน-บันทึกข้อมูล และความสมบูรณ์ของเซลบันทึกข้อมูลแบบละเอียดด้วย ข้อเสียของแอพฯ นี้คือมันถูกพัฒนามานานพอสมควรจึงอาจไม่สามารถทำงานร่วมกับการ์ดความจุสูงๆ รุ่นใหม่ได้ดีนัก (ทำงานได้แต่จะใช้เวลาตรวจสอบค่อนข้างนาน) อีกทั้งหน้าเว็บไซต์ของผู้พัฒนายังเป็นภาษาเยอรมัน (ผู้พัฒนาเป็นชาวเยอรมนี) แต่ก็ไม่ต้องกังวล แค่มองหาปุ่ม Download สีเขียว ไฟล์ที่โหลดมาจะเป็นชนิด .EXE ไม่ต้องติดตั้ง ดับเบิลคลิกเรียกใช้งานแล้วเลือกภาษาเป็นภาษาอังกฤษก็สามารถใช้งานได้ทันที (อย่าลืม Format การ์ดก่อนทดสอบ)
ดาวน์โหลด: H2testw
FakeFlashTest
ถ้า H2testw ช้าไปไม่ทันใจวัยรุ่น แนะนำให้ลอง FakeFlashTest ที่รูปแบบการทำงานจะคล้ายกับ H2testw โดยจะทำการเขียนข้อมูลลงการ์ดเพื่อตรวจสอบความเร็วในการบันทึกและอ่านข้อมูล แต่ที่ต่างกันคือโหมดการทำงานแบบ “Quick Size Test” ที่จะทำการบันทึก-อ่านข้อมูล 512 ไบต์แบบสุ่มเซกเตอร์ทั่วทั้งการ์ด ส่งผลให้การทดสอบเร็วกว่า และเหมาะสำหรับการ์ดรุ่นใหม่ที่มีความจุสูงๆ แนะนำให้ทำการสำรองข้อมูลในการ์ดก่อนทำการทดสอบเพราะข้อมูลจะถูกลบทิ้งทั้งหมด
ดาวน์โหลด: FakeFlashTest
ChipGenius
ในขณะที่ H2testw และ FakeFlashTest จะใช้วิธีการเขียนข้อมูลลงการ์ดเพื่อตรวจสอบพื้นที่ความจุและความเร็ว แต่ ChipGenius จะใช้วิธีการที่เร็วกว่านั้นคือการเช็คข้อมูลที่ถูกโปรแกรมไว้ในตัวการ์ดหรือแฟลชไดรฟ์ เช่น ผู้ผลิต รุ่น ความจุ แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ จากนั้นจะนำผลลัพธ์มารายงานว่าการ์ดหรือแฟลชไดรฟ์ของคุณเป็นของแท้ๆ หรือเทียมแท้ โดยให้คุณนำหมายเลข VID (Vendor ID) และ PID (Product ID) ที่ตรวจได้ ไปเทียบข้อมูลในเว็บไซต์ http://the-sz.com/products/usbid/index.php เช่น หากคุณซื้อการ์ด Kingston 128GB มาแล้วแอพฯ ตรวจสอบพบว่ามันคือการ์ด Strontium 8GB ก็ Capture หน้าจอไปโวยที่แผงที่คุณซื้อมาได้เลย (ถ้าแผงไม่ปิดหนีไปเสียก่อน)
ดาวน์โหลด: ChipGenius
BurnInTest
แอพพลิเคชั่นจากค่าย Passmark ที่คุ้นเคยตัวนี้ออกแบบมาสำหรับการทดสอบ SD Card รวมไปถึง USB แฟลชไดรฟ์ของคุณโดยเฉพาะว่ามีความจุและความเร็วตามที่โฆษณาไว้หรือเปล่า รวมไปถึงตรวจสอบว่าสามารถบันทึกข้อมูลได้ครบสมบูรณ์หรือไม่ วิธีการทดสอบอาจซับซ้อนกว่าแอพฯอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป ขั้นแรกให้คลิกที่เมนู “Configuration->Test Duty Cycles” คลิกปุ่ม All off แล้วคลิกเลือกเฉพาะหัวข้อ “Disk test” เลื่อนแถบ Disk Duty cycle to ไปที่ 100% ส่วนหัวข้อ Auto Stop after กำหนดเป็น “0” และ Cycle เป็น “100” ตามด้วยคลิกปุ่ม OK กลับมาที่หน้าต่างหลัก คลิกเมนู Test preferences แล้วเลือกไดรฟ์ที่เป็น SD Card หรือแฟลชไดรฟ์ โดยคลิกทำเครื่องหมายหน้า “Test this drive” จากนั้นกำหนด Test mode เป็น “Random data pattern”, File size “1%” และ Block size เป็น “1024KB” สุดท้ายคลิกปุ่ม “OK” แล้วเริ่มทำการทดสอบโดยคลิกเมนู “Test -> Start Test Run”
ดาวน์โหลด: BurnInTest
แถมท้าย: วิธีสังเกตการ์ดปลอมเบื้องต้น
โดยส่วนใหญ่แล้วสามารถสังเกตการ์ดปลอมได้จากลักษณะภายนอก ตั้งแต่แพ็กเกจ ที่ดูไม่ค่อยมีคุณภาพ พิมพ์ตัวอักษรไม่ชัด ไม่มีสติ้กเกอร์รับประกันแบบเรืองแสง หรือมีก็เป็นสติ้กเกอร์จีนแดงซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายในบ้านเราแน่ๆ บางแหล่งเราอาจเห็นการ์ดปลอมที่ปลอมกันโต้งๆ คือไม่มีชื่อยี่ห้อ มีแต่ตัวเลขบอกความจุ หรือไม่ก็เนียนๆ เลียนแบบทั้งสี ยี่ห้อ และแพ็กเกจแบบครบๆ เลย
ทีนี้ปัญหาก็คือการ์ดเหล่านั้นมักมีราคาถูกมากจนน่าตกใจ เช่น การ์ดความจุ 256GB ราคาแค่ 300 เศษๆ ซึ่งถ้าใครเคยโดนต้มมาแล้วเพราะเห็นแก่ของถูกก็คงจะรู้ดีกว่า เวลานำมาใช้งานจริงการ์ดดังกล่าวอาจสามารถจุข้อมูลได้แค่ 16GB เท่านั้น (บางคนใช้ไม่ได้เลยก็มี) แถมยังเจอปัญหาอ่านเขียน Error ตลอดเวลาจนน่าปาลงขยะหรือเผาทิ้งให้รู้แล้วรู้รอด ... ว่าแต่ใครเคยมีประสบการณ์กับการ์ดเหล่านี้ แวะมาแชร์ข้อมูลกันได้นะ