อย่างที่เรารู้ๆ กัน เราเตอร์มาตรฐาน AX ถูกปล่อยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในฝั่งไคลเอนต์หรืออุปกรณ์ที่สนับสนุนก็เพิ่งจะเริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้วอย่างพวกสมาร์ทโฟน Galaxy S10 หรือ Note 10+ ทว่ามันก็ยังไม่มากพอ ถึงอย่างนั้นอีกไม่นานชิปไวร์เลส WiFi 6 จะมาพร้อมกับโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ที่ใช้โปรเซสเซอร์ Intel Gen 10 (แอบหวังว่าจะไม่ถูกตัดออกในรุ่นราคากลางถึงเริ่มต้น) อย่างไรก็ดี เราเตอร์ Archer AX11000 ที่กำลังจะพูดถึงนี้ไม่ได้ถูกจับคู่กับอุปกรณ์มาตรฐาน AX ดังนั้นประสิทธิภาพของเครือข่ายไร้สายที่คุณจะได้พบต่อไปนี้ จึงเป็นแค่ประสิทธิภาพบนมาตรฐาน AC เท่านั้น
เราเตอร์ Archer AX11000 ถือได้ว่าเป็นตัวท็อปทางฝั่งเกมมิ่งของค่าย TP-Link จากภาพที่คุณเห็น มันมาพร้อมกับเสาสัญญาณ MU-MIMO มาถึง 8 ต้น สามารถสร้างการเชื่อมต่อแบบ Multi-User ได้ทั้งฝั่งดาวน์โหลดและอัพโหลดได้แล้ว (เฉพาะมาตรฐาน AX) แน่นอนว่าด้วยมาตรฐานใหม่จึงรองรับสื่อสารแบบ OFDMA และเชื่อมต่อแบบ 4x4 ได้ในเวลาเดียวกันไม่ใช่ 8x8 เนื่องจากเราเตอร์ตัวนี้แบ่งคลื่นความถี่ 5GHz ออกเป็น 2 คลื่น ดังนั้นมันจึงทำได้แบบ 4x4:4 Spatial Steams จำนวน 2 ชุดนั่นเอง
TP-Link Archer AX11000 เหมาะกับใครบ้างและเป็นเราเตอร์แบบไหน?
- เหมาะสำหรับนักเล่นเกมที่ต้องการลดลาเทนซี่ในการเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเกมด้วยคุณสมบัติของ WiFi 6 และฟีเจอร์ Game Accelerator
- ต้องการพอร์ต WAN 2.5G ในกรณีที่อินเทอร์เน็ตความเร็วเกินกว่า 1Gbps
- ต้องการเพิ่มแบนด์วิดธ์ให้กับ GbLAN ด้วยการทำ Link Aggregation
- สามารถรองรับกับอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายเกือบทุกมาตรฐานในปัจจุบัน
- วางแผนสร้างระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงด้วยมาตรฐาน AX ในอนาคต
Hardware & Design
ดีไซน์ของเราเตอร์ Archer AX11000 ถือว่าบึกบึนแข็งแรงด้วยพลาสติกที่มีคุณภาพสูง เสาสัญญาณทั้ง 8 ต้นรายอยู่รอบตัวเครื่อง ใช้สีดำสลับแดงดูทรงพลัง แน่นอนว่า เสาทั้ง 8 ต้นไม่สามารถปรับองศาซ้ายขวาหรือก้มเงยได้ ส่วนการติดตั้งเองก็สะดวก เพียงแค่เสียบเข้าไปตรงๆ กับคอนเน็คเตอร์บนตัวเราเตอร์
ด้านหน้ามีปุ่มเล็กๆ มาให้ 3 ปุ่ม เพื่อการทำ WPS สำหรับให้อุปกรณ์ไคลเอนท์เข้ามาเชื่อมต่อ ส่วนอีก 2 ปุ่มที่เหลือจะเป็นปุ่มเปิด-เปิดสัญญาณ Wi-Fi และ ปิดไฟ LED บนตัวเครื่อง ทั้ง 3 ปุ่มนี้จะมีไฟส่องสว่างด้านหลังขณะใช้งาน
ฝั่งด้านข้างติดตั้งพอร์ต USB 3.0 และ USB Type C สำหรับเชื่อมต่อกับฮาร์ดดิสก์ภายนอก เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ที่คุณต้องการ อาทิ การทำเป็น FTP Server, Cloud Server ผ่าน DDNS, Media Sharing
ด้านหลังหลักๆ จะมีพอร์ต WAN 2.5G ซึ่งตรงนี้ออกมารองรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เกินกว่า 1Gbps ขณะที่พอร์ต Ethernet ทั้งหมดจะเป็นมาตรฐาน GbLAN ทั้งหมด สังเกตดีๆ สามารถทำ Link Aggregation ได้ ซึ่งสามารถเข้าไปเซ็ตใน Web interface ของเราเตอร์
ฐานของเราเตอร์ติดตั้ง Wall Mount จะมีแผ่นยางรองเอาไว้ ช่วยการยืดเกาะกรณีในทุกการติดตั้ง บอดี้ด้านล่างเจาะรูพรุน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนอากาศให้กับแผงวงจรด้านใน
บอดี้ส่วนบนเองก็เจาะรูพรุนเช่นกันเพื่อให้อากาศร้อนลอยตัวผ่านออกจากเราเตอร์ได้สะดวก ขณะที่ตรงกลางจะเป็นตำแหน่งของไฟ LED เป็นรูปโลโก้ของ TP-Link
สำหรับชุดประมวลผลของเราเตอร์ตัวนี้ถือว่า อยู่ในกลุ่มระดับท็อปของมาตรฐาน AX เลยก็ว่าได้ และทั้งชิปประมวลผล ชิปเครือข่ายไร้สาย หรือแม้แต่ชิปอีเธอร์เน็ตต่างใช้ชิปของ Broadcom ซึ่งกรณีของซีพียู BCM4908 จะเป็นชิป 4 แกนแบบ 64bit และมีความเร็วถึง 1.8GHz ขณะที่แรมเองหรือแฟลชรอมก็ให้มาขนาดใหญ่ 1GB และ 512MB ตามลำดับ
สังเกตในตาราง Signal Rate จะเห็นว่ามีการแสดงความเร็วของเราเตอร์ (Peak Speed) เฉพาะมาตรฐาน AX เท่านั้น เมื่อรวมกันทั้ง 3 คลื่นก็จะได้ตัวเลขใกล้เคียงกับชื่อรุ่นนั่นเอง นอกจากนั้นตรงนี้ก็เป็นการยืนยันว่ามาตรฐาน AX หรือ WiFi 6 ของเราเตอร์ Archer AX11000 สามารถทำงานบนคลื่น 2.4GHz ได้แน่นอน ซึ่งจุดนี้แม้ว่าจะใช้งานความกว้างของคลื่นได้สูงสุด 40MHz และทำความเร็วได้ไม่เท่าคลื่น 5GHz แต่มีข้อดีในเรื่อง Coverage ที่ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับมาตรฐาน Wireless-N
อย่างไรก็ดี เราเตอร์ Archer AX11000 สามารถสื่อสารข้อมูลต่อเนื่องได้สูงสุด 12 Streams ซึ่งอย่างกล่าวไว้ข้างต้น คลื่นความถี่ 5GHz แต่ละคลื่นจะสื่อสารได้ช่องละ 4 Streams ส่วนที่เหลืออีก 4 Streams คาดว่าจะอยู่บนคลื่น 2.4GHz ส่วนความเร็วสูงสุดของมาตรฐาน AX บนคลื่น 5GHz นั้นก็มีรายละเอียดเช่นกัน โดยจะต้องใช้ความกว้างของแบนด์วิดธ์ 160MHz และอุปกรณ์ไคลเอนท์เองก็ต้องมีเสารับส่งสัญญาณทั้งหมด 4 ต้นด้วยกัน
ขณะที่ฟีเจอร์อื่นๆ ก็ให้มาไม่ขาดตกบกพร่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นการทำ VPN, DDNS, QoS, Parental Control หรือ Security ต่างๆ ทั้งในแง่ของเครือข่ายไร้สายหรือเน็ตเวิร์กภายในที่ผสานเข้ากับ Trend Micro แน่นอนว่า การมอดูเลตสัญญาณแบบ 1024-QAM หรือ OFDMA ก็เป็นไปตามข้อกำหนดของ WiFi 6 เช่นเดียวกัน
Web Interface
การออกแบบเว็บอินเทอร์เฟซของ TP-Link ถือว่าทำความเข้าใจได้ง่าย ไม่งง แยกหมวดหมู่ชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น Network Map, Game Center, Internet, Wireless และ Advanced จะมีบางส่วนที่อยู่ผิดที่ไปบ้างตามความเห็นส่วนตัว เช่น Dashboard ที่เข้าไปอยู่ในหน้าของ Game Center ซึ่งจริงๆ ควรอยู่ในหน้าแรกของ Network Map เพื่อให้มองเห็นสถิติหรือข้อมูลการทำงานของระบบภายใน หรือการทำงานของไคลเอนท์ต่างๆ ได้ทันทีเมื่อเข้ามาในเว็บอินเทอร์เฟส ตรงนี้อาจจะเป็นเพราะทีมออกแบบที่ให้ความสำคัญกับนักเล่นเกมมากกว่า เมื่อจะต้องเข้ามาปรับเพิ่มเกมใน Game Accelerator
ซึ่งในส่วนของ Game Accelerator นั้นระบบจะตรวจจับและทำการออพติไมส์เส้นทางข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์เกมให้อัตโนมัติ ตรงนี้มีการสนับสนุนเซิร์ฟเวอร์เกมมากถึง 47 เกม แน่นอนว่ามีเกมดังๆ อย่าง Call of Duty, FIFA, DotA. Final Fantasy, LoL, Minecraft, Warframe, Team Fortress, GTA, StarCraft2 ซึ่งในหน้าเว็บอินเทอร์เฟซเองก็จะมีการรายงาน Latency เอาไว้ให้ด้วย
สำหรับใครที่ต้องการสร้างไฟล์แชร์ริ่งหรือเซิร์ฟเวอร์ FTP หรือการใช้งานสตอเรจบนเน็ตเวิร์กเมนูตั้งค่าจะอยู่ในส่วนของ Advanced นอกจากนั้นยังรองรับ Time Machine ของทางฝั่ง Mac OS ด้วย
ผู้ใช้สามารถตั้งค่ารายละเอียดของเครือข่ายไร้สายเพิ่มเติมได้จากเมนู Advanced ซึ่งสามารถกำหนดความเร็วสัญญาณได้ เลือกความกว้างของแบนด์วิดธ์ กำหนดแชนแนลของเครือข่ายไร้สาย จากภาพจะเห็นว่า คลื่น 5GHz ทั้ง 2 คลื่นแยกความถี่คนละช่วง ตั้งแต่ 36 – 52 และ 100 – 116 แต่ว่าการเลือกโหมด Wireless อาจจะไม่ได้ยืดหยุ่นนัก เพราะมีตัวเลือกไม่กี่แบบ เนื่องจากผู้ผลิตลดปัญหาไคลเอนท์เชื่อมต่อไม่ได้เมื่อมาตรฐานไม่ตรงกันด้วยการออกแบบตัวเลือกโหมด Mixed เพื่อให้เราเตอร์เลือกโหมดการเชื่อมต่อเองตามไคลเอนท์ที่เข้ามาเชื่อมต่อ
ส่วนใครที่มีเพื่อนๆ หรือลูกหลานมาเยี่ยมบ่อยๆ ก็เปิดให้ใช้เครือข่าย Guest บนเราเตอร์ได้ ซึ่งสร้างเครือข่ายได้อีก 3 วง (2.4GHz, 5GHz-1, 5GHz-2) และกำหนดให้เข้าหรือไม่เข้าเชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กภายในได้เช่นกัน
Wireless Performance Tests
การทดสอบสัญญาณและแบนด์วิดธ์ของเราเตอร์ Archer AX11000 ก็เป็นไปตามเกณฑ์ของทีมงาน ซึ่งเราวางเราเตอร์เอาไว้บนชั้น 3 จากนั้นไล่ทดสอบความแรงสัญญาณและค่าแบนด์วิดธ์สูงสุดด้วย iPerf3 ร่วมกับโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปไวร์เลส Intel AC 9560 ซึ่งเรากำหนดความกว้างของแบนด์วิดธ์คลื่น 2.4GHz ที่ 40MHz และคลื่น 5GHz ทั้งสองช่องแบ่งเป็น 80MHz และ 160MHz
ความแรงสัญญาณถือว่าเป็นไปตามธรรมชาติของคลื่นความถี่ต่างๆ เมื่อเจอกับสภาพแวดล้อมของเรา โดยเฉพาะคลื่น 5GHz ทั้ง 2 ช่องที่มีปัญหาหนักสุดกับชั้นที่ 1 เนื่องจากไกลเราเตอร์และมีอุปสรรคขวางกั้นที่หนักหนาสาหัส สังเกตดีๆ บนชั้น 3 ส่วนของ Balcony ที่ไกลจากเราเตอร์ 10 เมตร ความแรงสัญญาณของ 5GHz-160MHz นั้นมีอัตราการดรอปที่มากกว่าเพื่อน
ในแง่ของความเร็วในการเชื่อมต่อเห็นได้ชัดว่า ความกว้างแบนด์วิดธ์ 160MHz นั้นทำความเร็วได้อย่างเหนือชั้นแตะที่ 1700Mbps หรือเอาง่ายๆ เต็มความเร็วของชิปไวร์เลสที่ใช้ทดสอบที่ใช้เสาสัญญาณ 2 เสา ส่วนคลื่น 2.4GHz ก็ทำได้ดีในทุกๆ ชั้นของเรา ส่วนพื้นที่ Balcony เห็นได้ชัดว่า ความเร็วในการเชื่อมต่อของคลื่น 5GHz -160MHz นั้นดรอปลงไปมากเลยทีเดียว
เรื่องของแบนด์วิดธ์เฉลี่ยในการทดสอบด้วย iPerf3 บนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ช่องสัญญาณ 5GHz-160MHz ก็แทบจะใกล้เคียงกับความเร็วของพอร์ต GbLAN ที่เราเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ทดสอบเลย (หรือจริงๆ อาจจะติดคอขวดที่ GbLAN แล้ว) ขณะที่ช่องสัญญาณอื่นๆ ก็ทำได้ดีอย่างที่ควรจะเป็นเช่นกัน ในกรณีที่มีระยะห่างออกไปจากเราเตอร์ ช่อง 5GHz -80MHz นั้นให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีกว่าคลื่น 5GHz -160MHz ในทุกๆ จุด ยกเว้นในห้องที่ตั้งเราเตอร์
และนี่คือ ความเร็วเมื่อเราเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ iPerf3 จำนวน 2 ตัว และทดสอบไคลเอนท์ 2 ตัวพร้อมกัน โดยตัวหนึ่งเป็นโน้ตบุ๊ก อีกหนึ่งตัวเป็นสมาร์ทโฟน ผลที่ได้ก็คือ ตัวเลขของแบนด์วิดธ์มีค่าลดลงเมื่อเทียบกับการทดสอบแบบ Single Client ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีของมาตรฐาน AC ในกรณีที่มีไคลเอนท์จำนวนมาก แต่สำหรับมาตรฐาน AX แล้ว ในสภาพการณ์เช่นนี้ตามทฤษฎีความเร็วที่เกิดขึ้นจะสูงกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ค่าเหล่านี้คือ ค่าแบนด์วิดธ์เฉลี่ยที่ใช้งานได้จริง และถ้าเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือเล่นเกมออนไลน์ ความเร็วเครือข่ายระดับนี้ถือว่า เหลือเฟือ
Conclusion!!
อย่างที่บอกข้างต้น น่าเสียดาย เนื่องจากเราไม่มีไคลเอนท์มาตรฐาน AX ที่จะดึงเอาศักยภาพของเราเตอร์ตัวนี้ออกมาได้เต็มที่ บททดสอบจึงมีแค่มาตรฐาน AC ซึ่งผลที่ออกมาก็ถือว่า สวยหรูไม่แพ้เราเตอร์เกมมิ่งใดๆ ในวงการ ในอนาคตถ้ามาตรฐาน AX แพร่หลายมากกว่านี้ คุณอาจจะได้เห็นตัวเลขแบนด์วิดธ์หรือความเร็วการเชื่อมต่อระดับ Gbps เป็นเรื่องปกติ
ในแง่ของการตั้งค่า ต้องยอมรับว่า TP-Link ออกแบบมาได้อย่างเป็นมิตรกับผู้ใช้มากๆ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเน็ตเวิร์กระดับเซียนก็เปิดใช้งานฟีเจอร์หลายๆ อย่างได้โดยง่าย ขอแค่รู้ทฤษฎีบ้างเท่านั้นพอ ส่วน Game Accelerator ก็เป็นฟีเจอร์อัตโนมัติที่ช่วยให้การเล่นเกมออนไลน์ตามที่เราเตอร์สนับสนุนได้ดีขึ้นนอกเหนือจาก WiFi 6 ที่ตัวเทคโนโลยีนั้นลดค่าลาเทนซี่มาได้ระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นถ้าคุณเป็นคอเกมออนไลน์ระดับจริงจังหรือเป็นสตรีมเมอร์สายแข็ง เราเตอร์ Archer AX11000 ก็เป็นอีกหนึ่งเกมมิ่งเราเตอร์ที่คู่ควรแก่การพิจารณา
ข่าวดีสำหรับ Overclockzone fanpage!! เราเตอร์ Archer AX11000 จัดโปรโมชั่นเอาใจเหล่าแฟนๆ รับส่วนลดเพิ่มอีก 1,000 บาท จากราคาเต็ม 15,990 บาท เมื่อซื้อเราเตอร์รุ่นนี้ทางออนไลน์ผ่าน TP-Link Official บน Shopee
โดยใส่โค้ด - TPLIAX001 - *ย้ำเฉพาะบน Shopee เท่านั้น และโค้ดมีจำนวนจำกัดนะครับ
ลิ้งร้านค้า >> http://bit.ly/2lD7MEn
ราคา: 15,990 บาท
Special Thanks : TP-Link Enterprise