ความต้องการใช้งานคลาวด์ในองค์กรได้ก้าวข้ามปัจจัยขับเคลื่อนระยะเริ่มต้นไปแล้ว ธุรกิจในปัจจุบัน ต้องพร้อมในการปรับขยายให้ตอบโจทย์การใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อรับมือความท้าทายและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และต้องรักษามาตรฐานการบริการ ในขณะเดียวกัน เวิร์คโหลดงานบนคลาวด์ก็มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องมีโซลูชันการประมวลผลที่ออกแบบให้เหมาะสมสำหรับ CPU, DPU และตัวเร่งการประมวลผลด้าน AI เพื่อใช้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมและเฟรมเวิร์กแบบ Cloud-Native ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ การลงทุนในระบบคลาวด์จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ในการดำเนินงาน ข้อมูลจาก Flexera เผยว่า ปัจจุบัน เกือบครึ่งหนึ่งของเวิร์คโหลดงานและข้อมูลอยู่บน Public Cloud แล้ว และที่น่าสนใจคือ ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้าน IT (ITDMs) ถึง 72% ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบคลาวด์ให้เหมาะสม โดยถูกยกให้เป็นโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการลดต้นทุนขององค์กร
บทวิเคราะห์อุตสาหกรรมดาต้าเซนเตอร์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี เผยว่า ธุรกิจกลุ่มระบบเซิร์ฟเวอร์มีแนวโน้มรายได้ขยายตัว 12.0 - 13.0% ต่อปี จากการประยุกต์ใช้ระบบคลาวด์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างองค์กรของภาคธุรกิจจำนวนมากที่อยู่ในช่วงโอนย้ายข้อมูลและแอปพลิเคชั่นไปยังระบบคลาวด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย เสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ และสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นเดียวกับองค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับโครงสร้างการบริหารข้อมูลไปสู่ระบบคลาวด์มากขึ้นเป็นลำดับ จากนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud-first policy) ของภาครัฐ เพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมบริการให้เข้าถึงประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว โดยช่วงที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีทั้งในกลุ่มดาต้าเซนเตอร์และการให้บริการคลาวด์มีแผนเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ในปี 2567 อุตสาหกรรมดิจิทัลมียอดขอรับการลงทุนกว่า 150 โครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นการขอรับการลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Services คิดเป็นมูลค่ากว่า 240,000 ล้านบาท
จากแนวโน้มเหล่านี้ ได้เน้นความสำคัญของการปรับขนาดของโซลูชันระบบคลาวด์ให้มีความเหมาะสม องค์กรต่าง ๆ ต้องมั่นใจว่ามีการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับความต้องการทางธุรกิจและลักษณะงานขององค์กร กลยุทธ์ด้านระบบคลาวด์ที่เหมาะสมจะมอบความยืดหยุ่น ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ทำไมต้องเป็นตอนนี้
การประมวลผลบนระบบคลาวด์เป็นดั่งกระดูกสันหลังของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในสมัยใหม่มาอย่างยาวนาน ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากการประมวลผลแบบเอนกประสงค์ อย่างไรก็ตาม ยุคของโซลูชันคลาวด์แบบ "one-size-fits-all" กำลังหายไปอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เทคโนโลยี AI และเวิร์คโหลดงานด้าน High-Performance Computing (HPC) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ โซลูชันคลาวด์แบบเดิม ๆ กำลังประสบปัญหากับการตอบสนองความซับซ้อนในการประมวลผลโมเดล Deep Learning ทำให้องค์กรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการลงทุนได้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน สถาปัตยกรรมแบบ Cloud-Native ได้กลายมาเป็นมาตรฐาน เนื่องด้วยธุรกิจต่าง ๆ ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ลดระยะเวลาในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และควบคุมต้นทุน ซึ่งหากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับให้เหมาะสมกับระบบคลาวด์ อาจทำให้องค์กรมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียข้อได้เปรียบในการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดและลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมแบบ Multi-Cloud ซึ่งท้ายสุดแล้วทำให้คุณประโยชน์การนำ Cloud-Native มาใช้ลดลง
นอกจากนี้ การรันเวิร์คโหลดงานด้าน AI ขนาดใหญ่โดยที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ที่เหมาะสมอาจนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เพิ่มทั้งต้นทุนการดำเนินงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ความไร้ประสิทธิภาพนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้งบประมาณรัดตัว แต่ยังบ่อนทำลายเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้ความสำคัญกับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัยก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในการเลือกฮาร์ดแวร์ที่ปรับให้เหมาะสมกับระบบคลาวด์ แต่มักถูกมองข้าม ฮาร์ดแวร์ที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมกับคลาวด์มักมาพร้อมฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพ เช่น confidential computing ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ละเอียดอ่อนจะยังคงได้รับการเข้ารหัสในขณะใช้งาน ลดความเสี่ยงของการโจมตีทางกายภาพในรูปแบบ DIMM (Dual In-line Memory Module) หรือภัยคุกคามเชิงเสมือนในสภาพแวดล้อมโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyperconverged
ความเสี่ยงของการละเมิดข้อมูลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ความเสียหายทางการเงินและชื่อเสียง องค์กรต่าง ๆ ต้องตระหนักว่าการปล่อยปละละเลยให้สภาพแวดล้อมระบบคลาวด์ไร้การป้องกันที่เหมาะสมไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป การเพิ่มขึ้นของภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อน ตั้งแต่แฮกเกอร์ไปจนถึงผู้กระทำการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐชาติทำให้การรักษาความปลอดภัยระบบคลาวด์ ได้รับการยกระดับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถละเลยได้
คู่มือการปรับปรุงระบบคลาวด์ของคุณในปี 2025
ขณะที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ เร่งผลักดันการนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ ผู้นำด้าน IT ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ของพวกเขาสามารถรองรับเวิร์คโหลดงานที่ต้องใช้การประมวลผลประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งสร้างสมดุลระหว่างต้นทุน ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ แม้ว่าความต้องการด้านการประมวลผลของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ทีม IT ที่กำลังดำเนินการปรับปรุงฮาร์ดแวร์ให้ทันสมัยควรพิจารณาถึงปัจจัยต่อไปนี้:
- ประสิทธิภาพ (PERFORMANCE) – อินสแตนซ์คลาวด์ของคุณพร้อมส่งมอบประสิทธิภาพการประมวลผลในระดับที่ธุรกิจของคุณต้องการหรือไม่? โครงสร้างพื้นฐาน คลาวด์ต้องรองรับเวิร์คโหลดงานที่หลากหลาย ตั้งแต่แอปพลิเคชันส่วนหน้าเว็บไปจนถึงการวิเคราะห์ในหน่วยความจำ และการประมวลผลด้านธุรกรรมจำนวนมาก
- ต้นทุนและประสิทธิภาพ (COST AND EFFICIENCY) – คุณสามารถลดขนาดการใช้งานคลาวด์โดยการรันปริมาณงานเท่าเดิมบนเซิร์ฟเวอร์จำนวนน้อยลงได้หรือไม่? การจัดลำดับความสำคัญของอินสแตนซ์ที่มีความหนาแน่นในการประมวลผลสูงช่วยให้ธุรกิจสามารถรัน VMs หรือคอนเทนเนอร์ต่อเซิร์ฟเวอร์ได้มากขึ้น ทำให้ได้รับคุณประโยชน์ด้านต้นทุนและประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างมาก
- ความปลอดภัย (SECURITY) – อินสแตนซ์คลาวด์ของคุณมอบระดับการปกป้องข้อมูลตามที่คุณต้องการหรือไม่? เทคโนโลยี confidential computing จะช่วยลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ปกป้องข้อมูลที่กำลังใช้งาน และลดช่องโหว่ในสภาพแวดล้อมเสมือน
- ระบบนิเวศ (ECOSYSTEM) – การเลือกใช้โปรเซสเซอร์ที่ขับเคลื่อนการประมวลผลบนสถาปัตยกรรม x86 ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมทำให้การประมวลผลบนสภาพแวดล้อมระบบคลาวด์นั้นง่ายดายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการพัฒนา บำรุงรักษา และโยกย้ายแอปพลิเคชันทำได้ง่ายขึ้นและมีการหยุดชะงักน้อยที่สุด
การปรับปรุงเบื้องหลัง สร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้
สำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจด้าน IT การทำความเข้าใจผลกระทบด้านต้นทุนของแต่ละ "หน่วยงาน" มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกอินสแตนซ์คลาวด์ โครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมนั้นบังคับให้องค์กรต้องเลือกระหว่างการจัดสรรทรัพยากรที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือการจัดสรรที่น้อยเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาคอขวดด้านประสิทธิภาพ ฮาร์ดแวร์ที่ปรับให้เหมาะสมกับระบบคลาวด์จะเข้ามาเปลี่ยนสมการนี้ ช่วยให้ธุรกิจสามารถบรรลุงานต่าง ๆ ได้มากขึ้นในทรัพยากรที่น้อยลง ในขณะที่ยังคงรักษาระดับประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และการใช้พลังงานได้ในระดับสูง
ท้ายที่สุดแล้ว การปรับปรุงระบบคลาวด์ให้เหมาะสมไม่ควรถือเป็นจุดหมายปลายทาง แต่เป็นการเดินทางที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่น Oracle Cloud และ Google ต่างประกาศข้อเสนอด้านระบบคลาวด์ใหม่ที่ขับเคลื่อนขุมพลังบนโปรเซสเซอร์ 5th Gen AMD EPYC™ โดยล่าสุด Oracle รายงานว่าอินสแตนซ์ E6 Standard Bare Metal มีประสิทธิภาพการประมวลผลและหน่วยความจำเพิ่มขึ้นถึง 33% และมีแบนด์วิดท์เครือข่ายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับอินสแตนซ์ E5 Standard ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในการทดสอบมาตรฐานอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน การทดสอบของ Google Cloud เปิดเผยว่า Virtual Machines C4D ใหม่มี Throughput/vCPU สูงขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของสถาปัตยกรรม AMD “Zen 5”
ในขณะที่เทคโนโลยีคลาวด์ยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบให้ทันสมัยจะได้รับประโยชน์จากการปรับสเกลอย่างไร้รอยต่อ ความยั่งยืนที่ได้รับการพัฒนา และรากฐานดิจิทัลที่ยืดหยุ่นสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต ในโลกที่ความคล่องตัวมีความสำคัญ การปรับปรุงระบบคลาวด์ให้เหมาะสมไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความหรูหราฟุ่มเฟือยอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็นทางธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในปี 2025 และในอนาคต
เกี่ยวกับ AMD
เป็นเวลากว่า 50 ปีที่ AMD ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งในส่วนของการประมวลผลกราฟฟิก และเทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชั่นต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับวงการเกม เป็นแพลตฟอร์มระดับมืออาชีพ และเป็นศูนย์กลางข้อมูล ผู้บริโภคหลายร้อยล้านคน องค์กรธุรกิจชั้นนำที่จัดอยู่ในกลุ่ม Fortune 500 และหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ทั่วโลก ต่างใช้เทคโนโลยีของ AMD เพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิต การทำงาน และความบันเทิง พนักงานของ AMD ทุกคนทั่วโลกล้วนมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะก้าวข้ามขอบเขตของข้อจำกัดทั้งหลาย ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AMD (NASDAQ: AMD) และกระบวนการสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เราทำในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ที่เว็บไซต์ website, blog, Facebook และ X