เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปพร้อมกับวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทุกวันนี้เราได้เห็นเครื่องมือใหม่ ๆ เกิดขึ้น เพื่อใช้ทำงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ เสริมความสามารถในงานสร้างสรรค์ และ ช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลายคนกังวลว่าเครื่องมือด้าน AI ที่มีอยู่อย่างมากมายจะกระทบต่ออนาคตด้านการงานและอาชีพของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำงานที่น่าทึ่งได้จากคำสั่งง่าย ๆ เพียงไม่กี่คำ
ความสามารถของ Generative AI (gen AI) เช่น การสร้างโค้ด เขียนคอนเทนต์ทางการตลาด ออกแบบกราฟิก สร้างสรรค์งานศิลปะได้หลากหลายสไตล์ สร้างวิดีโอเต็มรูปแบบพร้อสคริปต์และเพลงประกอบ คิดแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์ พัฒนาโพสต์บนโซเชียลมีเดีย และอื่น ๆ อีกมาก
จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับโอกาสในการจ้างงานในอนาคต
แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปในทางลบเสียทั้งหมด
แม้ว่าการเรียนรู้การใช้เครื่องมือ AI อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนในแวดวงเทคโนโลยี แต่ยังมีความสามารถบางอย่างของคนที่เครื่องจักรไม่อาจเทียบได้ เช่น การคิดและตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ การแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ความเข้าใจที่เกิดจากความเห็นอกเห็นใจ ทักษะมนุษย์เหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม ทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ และสามารถรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างที่ AI ไม่สามารถทำได้
เร้ดแฮทพาสำรวจ soft skills ที่คนทำงานสายเทคโนโลยีควรให้ความสำคัญ เพื่อปรับตัวและเติบโตในยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI
6 soft skills สำคัญที่คนในยุค AI ควรมี
แม้ว่าจะมีเครื่องมือ AI จำนวนมาก แต่เครื่องมือเหล่านั้นมักใช้กับงานเฉพาะทางและบทบาทเฉพาะอย่าง แต่ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์และอารมณ์ (soft skills) กลับเป็นทักษะที่มีความเป็นสากลที่ทุกคนควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุง ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหรือสายงานใดก็ตาม
1.ทักษะในการแก้ปัญหา
AI สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ความสามารถในการแก้ปัญหานั้นไม่สามารถเทียบกับมนุษย์ได้ AI สามารถสร้างโค้ดได้ แต่มนุษย์ต้องเป็นผู้ออกแบบระบบที่มีประสิทธิภาพ ขยายขนาดได้ แก้ไขปัญหาที่ไม่คาดคิด และเฝ้าระวังจุดบกพร่องและปัญหาความปลอดภัยที่ AI อาจนำมา
แม้ gen AI จะช่วยตรวจจับความผิดปกติด้านความปลอดภัยได้ แต่คนต้องเป็นผู้ประเมินและจัดอันดับความสำคัญของความเสี่ยงเหล่านี้ ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถดำเนินการซ้ำ ๆ ได้มากมาย แต่ก็ยังต้องอาศัยวิจารณญาณของคนในการออกแบบอย่างรอบคอบและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
ในทางการตลาดและการสื่อสาร เครื่องมือ AI ที่วิเคราะห์ความรู้สึกจากข้อความ (sentiment analysis) ช่วยตรวจจับประเด็นปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่การตัดสินใจเลือกแนวทางรับมือ หรือการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ยังต้องพึ่งพาการตัดสินใจของคน
การพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ตามประสบการณ์ แต่หากต้องการฝึกฝนอย่างเป็นระบบมีบทความและหลักสูตรมากมายที่ช่วยในการเรียนรู้ได้อย่างมีแบบแผนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. ทักษะในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ
AI ยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ ด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLMs) มีข้อจำกัดจากการเทรนและข้อมูลที่ใช้ในการเทรน หากองค์กรใดกำลังใช้เครื่องมือ AI เหล่านี้ ควรให้คนขององค์กรได้ฝึกฝนทักษะในการประเมินผลลัพธ์ของ AI อย่างมีวิจารณญาณ เข้าใจข้อจำกัดของเครื่องมือ และเรียนรู้วิธีระบุอคติของโมเดลและผลลัพธ์ ที่อาจมีปัญหาได้
แม้ AI จะเก่งในการตรวจจับรูปแบบต่าง ๆ แต่การตีความอย่างถูกต้องและการสังเกตความผิดปกติที่อาจถูกมองข้ามยังคงต้องอาศัยคน เช่นเดียวกับการจัดการกับอคติและประเด็นจริยธรรมที่ซับซ้อนก็ต้องอาศัยสติปัญญาและความเข้าใจของคน รวมถึงการตรวจสอบให้เครื่องมือหรือกระบวนการที่ใช้ AI ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ จะพัฒนาได้จากประสบการณ์โดยธรรมชาติ เช่นเดียวกับทักษะในการแก้ปัญหา แต่ก็เป็นทักษะที่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้ แม้การเรียนรู้ทักษะนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย แต่ยังมีแหล่งอื่นนอกมหาวิทยาลัยที่ช่วยคนพัฒนาด้านนี้ได้ เช่น LinkedIn Learning มีหลักสูตรหลากหลายที่เน้นการพัฒนาการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ เช่นเดียวกับ Khan Academy และ Udemy นอกจากนี้ยังมีหนังสือมากมายเกี่ยวกับหัวข้อนี้ให้เลือกอ่านเช่นกัน
3. ทักษะในการทำงานร่วมกัน
ความสามารถในการทำงานร่วมกัน ร่วมมือกัน และทำงานเป็นทีมเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่สำคัญของคน ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครเก่งเท่ากับทุกคนรวมกัน” (none of us is as good as all of us) ซึ่งปัจจุบัน AI ยังมีข้อจำกัดด้านนี้ และไม่อาจเทียบได้กับความสามารถของคนในการสร้างความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกัน
เมื่อพัฒนานาแอปพลิเคชัน AI ผู้พัฒนาจะต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญด้าน AI นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ผู้จัดการผลิตภัณฑ์และโครงการ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอนว่าทักษะการทำงานร่วมกันนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในโปรเจ็กต์ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินงานโครงการเหล่านี้
ในการใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสาร เราอาจใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ความรู้สึกของผู้บริโภคหรือแนวโน้มของสื่อได้ แต่ก็ยังต้องอาศัยคนในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับนักข่าว พันธมิตร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ
ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญของการทำงานเป็นทีมและการสร้างความไว้วางใจ สามารถเรียนรู้ได้จากทั้งหนังสือและหลักสูตรต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น หรือเริ่มต้นง่าย ๆ บน YouTube
4. ทักษะด้านการสื่อสาร
ทักษะด้านการสื่อสาร มีความสำคัญอย่างยิ่งกับทุกสาขาอาชีพในแวดวงเทคโนโลยี วิศวกรด้านไอทีต้องสามารถให้คำอธิบายแนวคิดทางเทคนิค และแนวทางเชิงกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ต้องสามารถตีความผลลัพธ์ที่ได้จาก AI และสื่อสารข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นให้ฝ่ายบริหารหรือทีมที่ไม่ใช่ทีมเทคนิคสามารถเข้าใจได้ว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นนั้นร้ายแรงหรือไม่เพียงใด
การสื่อสารเป็นหัวใจของการตลาดและการประชาสัมพันธ์ แม้เครื่องมือ AI สามารถให้การวิเคราะห์และข้อมูลเชิงลึกได้ แต่คนคือผู้สร้างสรรค์และบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ที่โดนใจผู้ที่เราต้องการเข้าถึง
ทักษะการสื่อสารช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างระหว่างทีมเทคนิคและทีมอื่นที่อาจไม่เชี่ยวชาญทางเทคนิค และขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านการแปลงแนวคิดที่ซับซ้อนให้เป็นกลยุทธ์ที่นำไปปฏิบัติได้จริง ทักษะการสื่อสารมีหลายประเภทแต่ควรเริ่มต้นที่การสื่อสารในที่ทำงาน
5. ทักษะในการปฎิบัติอย่างรู้จริง
AI เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าตื่นเต้น ซึ่งขณะนี้ถูกนำไปใช้งานในแทบทุกอุปกรณ์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว AI ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง และมีประสิทธิภาพมากกว่าในบางเรื่อง แอปพลิเคชัน AI ควรได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้ และเชื่อมโยงกับความต้องการทางธุรกิจที่มีอยู่
ความสามารถในการประเมินความเป็นไปได้รวมถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีหรือโซลูชันต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เป็นจุดแข็งที่แท้จริงของมนุษย์ การรู้จักสร้างสมดุลระหว่าง “สิ่งที่ทำได้” และ “สิ่งที่ควรทำ” โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ด้วยแนวทางที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ การปฏิบัติอย่างรู้จริงเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นตามธรรมชาติจากประสบการณ์ แต่ก็เหมือนกับทักษะอื่น ๆ ที่สามารถฝึกฝนได้ผ่านการเรียนรู้และการลงมือปฎิบัติอย่างสม่ำเสมอ
การเป็นนักปฏิบัติอย่างรู้จริงไม่ได้หมายถึงการมองโลกในแง่ลบหรือคอยปิดกั้นความคิดใหม่ ๆ แต่เป็นการมองแนวทางหรือโซลูชันที่มีศักยภาพในมุมมองที่เป็นจริงและรอบคอบ
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สามารถพัฒนาความเป็นนักปฏิบัติอย่างรู้จริงได้โดยมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์จริง และเลือกโซลูชันที่ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพในสถานการณ์จริง ยอมรับการพัฒนาแบบรอบวนซ้ำ การทดสอบ และการรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้แนวทางการทำงานมีความเป็นรูปธรรมและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
6. ทักษะในการปรับตัว
มนุษย์ยุคแรกสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ เพราะมีความสามารถพื้นฐานในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เห็นได้ชัดจากช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเครื่องมือและขีดความสามารถของ AI
การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวในที่ทำงาน โดยพื้นฐานแล้วคือการสร้างทัศนคติที่ยืดหยุ่น ผ่อนสั้นผ่อนยาว (เพียงแค่เปิดใจให้กับสิ่งใหม่ ๆ) และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เปิดรับแนวคิด ความรับผิดชอบใหม่ ๆ ทุ่มเทให้กับการพัฒนาตนเอง กระตือรือร้นในการเสนอแนวทางแก้ไขหรือการปรับปรุงเมื่อเจอปัญหา และติดตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอยู่เสมอ (แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มากมายจนน่ากังวลใจก็ตาม)
บทสรุป
การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องคือหัวใจสำคัญของทักษะทุกอย่าง มีการนำเครื่องมือที่เป็น AI ไปใช้งานในแทบทุกบทบาทและทุกสายงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้หลายคนกังวลเกี่ยวกับอนาคตของงานในมือ แต่ “ทักษะทางสังคมที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น” หรือ “soft skills” กลับมีความสำคัญมากขึ้นในยุคของ AI แม้ AI จะช่วยให้เราทำงานได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น แต่มันไม่สามารถทดแทนความสามารถในการแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกัน ความเป็นเหตุเป็นผล และการปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงได้
เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกกังวลกับอนาคต แต่สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว AI กลับเป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมในการใช้เครื่องมือใหม่เหล่านี้จัดการกับงานที่ซ้ำซากและน่าเบื่อ เพื่อให้เราได้หันมาโฟกัสกับการพัฒนาทักษะมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และได้ทำสิ่งที่น่าสนใจจริง ๆ ซึ่ง AI ไม่สามารถทำได้