สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซน การใช้ชีวิตประจำวันของเรากับเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ ซึ่งแน่นอนการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากนั้น อีกสิ่งที่มีความจำเป็นก็คือ ปลั๊กสามตา ,ปลั๊กพ่วง ,ปลั๊กราง หรือ ชุดสายพ่วง ที่ในยุคก่อนก็ขายกันตามมีตามเกิด ถูกหน่อยก็เสี่ยงกับปัญหาต่างๆนาๆ แพงหน่อยก็มีฟีเจอร์เพื่อความปลอดภัยมากมาย แน่นอนว่าปลั๊กพ่วงราคาถูกที่มันสร้างปัญหากันต่างๆมากมาย ที่แต่ก่อนยังไม่มีการบังคับใช้ มอก. ของปลั๊กพ่วง แต่ผู้ผลิตบางรายก็ลักไก่เอา มอก. ในส่วนของสายไฟ หรือ อุปกรณ์ส่วนอื่นๆมาติดแทน ทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจผิดว่าปลั๊กพ่วงมี มอก. ก็ไปโวยวายกับ สมอ. กันไป โดยปัญหาของปลั๊กพ่วงไร้คุณภาพก็ตั้งแต่สายไฟละลายจนไปถึงเป็นต้นเหตุของการเกิดไฟไหม้ ที่ประเทศไทยเริ่มค่อยๆกำหนดมาตรฐานของปลั๊กพ่วงจวบจนการบังคับใช้มาตรฐานเมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา โดย มอก. 2432-2555 ที่ช่วงปี 2563 ก็มีการจับปรับร้านค้าที่มีปลั๊กพ่วงที่ไม่มี มอก. 2432-2555 เอาง่ายๆว่าถ้าขายปลั๊กพ่วงที่ไม่มี มอก. 2432-2555 คือผิดกฎหมาย แต่ก็มีหลายแบรนด์นั้นม้วนเสื่อกลับบ้านเพราะลงทุนบล็อกพิมพ์ไม่คุ้มเพื่อขายในประเทศไทยอย่างเดียว บางแบรนด์ก็เตรียมพร้อมกับการบังคับใช้ มอก.2432-2555 บางแบรนด์ที่ไม่เคยทำตลาดในไทยก็มาบู้ตลาดในไทยอย่างสนุกสนานด้วยราคาที่เร้าใจ เดี๋ยวเรามาดูเบื้องต้นกันว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรบ้าง
ปลั๊กพ่วงแบบมี มอก.

โดยหลักๆแล้วภายนอกของปลั๊กรางที่สามารถของ มอก. 2432-2555 ได้นั้นจะมีอะไรบ้าง
1. เต้ารับแบบ Hybrid ที่รองรับปลั๊กแบบ Type O ,Type A ,Type B และ Type C (เดี๋ยวจะมาพูดเพิ่มในส่วนนี้) แล้วก็ต้องมีม่านป้องกัน มาตรฐาน มอก. 166-2549
2. เต้าเสียบที่จะต้องเป็นแบบ Type O มาตรฐานประเทศไทย มีใช้อยู่ประเทศเดียวบนโลก มาตรฐาน มอก. 166-2549
3. เต้ารับและเต้าเสียบ ต้องเสียบได้พอดี ไม่แน่นและไม่หลวมเกินไป
4. อุปกรณ์ป้องกันการใช้ไฟเดิน แบบ RCBO หรือ Thermal ห้ามใช้ฟิวส์แบบสมัยก่อน

ข้อบังคับส่วนอื่นๆของปลั๊กพ่วงที่สามารถขอ มอก. 2432-2555 ได้
1.โครงสร้างต้องใช้วัสดุที่ไม่สามารถติดไฟ หรือ ต้องมีสารป้องกันไฟลุกลาม
2. สายไฟที่ใช้ พื้นที่หน้าตัด และ ความยาว ต้องใช้ตามมาตรฐานของที่ สมอ. กำหนดไว้
3. การวางตำแหน่งของขา L G N ต้องเป็นไปตามกำหนดของมาตรฐานของเต้ารับประเทศไทย
4. อุปกรณ์ส่วนอื่นๆที่ใช้ภายใน ควรต้องใช้ที่ผ่าน มอก. ด้วยเช่นกัน
Type-O Plug มอก.166-2549

เต้าเสียบมาตรฐาน มอก.166-2549 มาตรฐานประเทศเดียวในโลก ที่เกิดจากการค่อยๆปรับเปลี่ยนจากขาแบนมาเป็นขากลม เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานแรงดัน 220v ในประเทศไทย โดยที่ทำให้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปลั๊กมาตรฐานอื่น เช่นแบบขาแบนสามารถปองดองยังใช้งานได้อยู่ร่วมกับเต้ารับแบบ Hybrid ที่ได้รับความนิยมในการใช้งานตามบ้านและปลั๊กพ่วง

เต้าเสียบแบบ Type-O สามขา ที่ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นค่อยๆปรับเปลี่ยนมาใช้กันหลายปีแล้วครับ ภาพนี้ก็เป็นเต้าเสียบจากเครื่องซักผ้าที่บ้าน ถ้าจำไม่ผิดซื้อมาตั้งแต่ปี 2556

การออกแบบของเต้าเสียบ Type-O แบบ สามขา ที่มีการวางตำแหน่งของ L N G เหมือนกับ Type-B แต่ปรับเปลี่ยนขาให้เป็นแบบกลมเหมาะสมกับการใช้ไฟแรงดัน 220V สังเกตุดีๆ การออกแบบนั้นป้องกันไม่ให้สามารถใช้ผิดๆได้ รวมไปถึงขา G ที่มีความยาวกว่าปกติ ก็ทำให้ในส่วนเต้ารับนั้นก็ต้องมีการออกแบบใหม่อีกด้วย

เต้าเสียบ Type-O แบบ 2 ขา ที่มีแต่ L และ N ภาพนี้ก็เป็นเต้าเสียบจากตู้เย็นที่บ้าน ถ้าจำไม่ผิดซื้อมาตั้งแต่ปี 2556

ในส่วนมิติของเต้าเสียบ Type-O แบบ 2 ขา ที่ขาหน้าสัมผัสจะเหมือนแบบ 3 ขา แต่ไม่มีขา G เท่านั้น
เต้ารับแบบ Type-O

(ที่มา : https://www.worldstandards.eu)
เต้ารับแบบ Type-O แท้ๆ ที่ในวันนี้ยังคงไม่ได้ใช้งานกันเป็นมาตรฐาน แต่ในอนาคตเมื่อไรก็ไม่รู้ที่น่าจะต้องเป็นมาตรฐานหลักในการใช้งานภายในบ้าน คิดว่าคงอีกหลายปีครับ

พื้นที่หน้าตัดภายในของเต้ารับแบบ Type-O ที่มีการกำหนดมาตรฐาน มอก.166-2547 แต่ยังไม่มีการบังคับใช้งานเป็นมาตรฐานหลักในเวลานี้ ถ้าประเทศเพื่อนบ้านเรานำมาตรฐานของ Type-O ไปใช้งานด้วยคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเต้ารับ Type-O
เต้ารับแบบ Hybrid

หน้าตาของเต้ารับแบบ Hybrid ที่รองรับการใช้งานร่วมกับเต้าเสียบทั้งแบบขาแบนและขากลม ที่เป็นเต้ารับที่ได้รับความนิยมในการใช้งานมากที่สุดในบ้านเรา เพราะบ้านเราเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศจากทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกา ,ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น สมัยก่อนก็ไม่ได้มี มอก. หรือ มาตรฐานบังคับอะไร อย่าไปเรียกว่ามันเต้ารับแบบ Universal เพราะมันไม่ได้เป็นแบบ Universal จริงๆ ซึ่งเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้ยินมาว่าเต้ารับผนังภายในบ้านที่วางขายจะต้องเป็นแบบ แบบ Hybrid เท่านั้น

หน้าหน้าตัดของเต้ารับแบบ Hybrid ที่เป็นมาตรฐาน มอก.166-2547 ที่รองรับการใช้งานทั้งขากลมและขาแบน แบบ Type-O ,Type-A ,Type-B และ Type-C โดยสังเกตุให้ดีว่าขา G หรือ กราวน์นั้น จะมีความลึกที่มากกว่า ขา L และ N ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตนั้นสูงขึ้น นอกจากต้องทำบล็อกใหม่ของบอดี้ภายนอก และ ขา G เพิ่ม

นี่คือหน้าตาตัวอย่างของเต้ารับแบบ Universal ที่รองรับการใช้งานร่วมกับเต้าเสียบทั้งแบบขาแบนและขากลมรองรับกับเต้าเสียบจากมาตรฐานแทบทั้งโลกประมาณ 150 ประเทศ แต่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. 2432-2555 เนื่องจากเป็นการออกแบบกันเองของผู้ผลิตไม่มีมาตรฐานกลางใดๆ ในการเรียง L G และ N อาจไม่ตรงกับตามมาตรฐานของประเทศไทย ถ้าสังเกตุกันง่ายๆ ที่ขาเต้ารับฝั่ง L และ N จะมีมุมทะแยงเพื่อรองรับการเสียบของเต้าเสียบ 3 ขา ของประเทศจีนตามตัวอย่างสีเทาในภาพนี้ หรือ ฝั่ง L N G จะมีขนาดใหญ่เพื่อรองรับเต้าเสียบของอังกฤษ ซึ่งในกรณีของเต้ารับ Universal ถ้าเอาเต้าเสียบแบบ Type-O มาใช้งานร่วมด้วย อาจเจอปัญหาเสียบลงยาก หรือ เสียบลงได้ไม่สุด แน่นอนว่าระยะยาวขาของเต้ารับข้างในอาจจะเกิดการเสียหาย มันไม่ใช่เรื่องที่ดีทางด้านความปลอดภัย ในภาพเราคงจะเห็นม่านชัตเตอร์เสียหายไปบ้างแล้ว

เต้ารับแบบ Hybrid นอกจากการรองรับเต้าเสียบแบบ Type-O ก็ยังสามารถใช้งานร่วมกับเต้ารับ Type-A ,Type-B และ Type-C รวมไปถึง Type-F แบบ Schuko แบบไม่เต็มร้อย เพราะไม่สามารถใช้ขา G หรือ กราวน์ได้

(ที่มา : https://www.pea.co.th/ )
อันนี้ก็คือภาพการเลือกซื้อปลั๊กพ่วงจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่เราจะเห็นกับ 7 จุดสำคัญในการเลือกซื้อ ซึ่งในกรณีปลั๊กพ่วงที่ผ่าน มอก.2432-2555 นั้นผ่านหมดทุกข้อแหละ แต่สิ่งที่อยากเอาไห้ดูว่าปลั๊กพ่วงมอก. 2432-2555 หน้าตามันจะคล้ายกันมาก เป็นรูปแบบที่ดูเหมือนเอาเต้ารับที่ใช้งานภายในบ้านมาใส่บล็อกและอุปกรณ์ได้ตามมาตรฐาน มอก.2432-2555 นั้นเอง

(ที่มา : https://lssth.panasonic.com/)
หน้าตาตัวอย่างปลั๊กพ่วง มอก.2432-2555 ในยุคแรก ซึ่งเราจะเห็นกับแบรนด์ Panasonic ที่ภายหลังก็มีแบรนด์อื่นเอาแรงบรรดาลใจมาทำปลั๊กพ่วงหน้าตาสไตล์นี้ออกมาขายกันก็มีให้เห็น
หน้าตาตัวอย่างปลั๊กพ่วง มอก.2432-2555 ในยุคหลัง ที่มีการทำโมแม่พิมพ์ให้มีรูปทรงสวยงาม และ กระทัดรัดมากขึ้น

หน้าตาตัวอย่างปลั๊กพ่วง มอก.2432-2555 แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ที่ผมได้ราคาโปรโมชั่นทางออนไลน์มาถูกมาก จริงๆอันนี้คือตั้งใจซื้อมาถ่ายรูปครับ
ตัวอย่างปลั๊กพ่วง มอก.2432-2555 แบรนด์จากอังกฤษ ที่การปรับเพิ่มคุณภาพของอุปกรณ์ภายในให้มีคุณภาพที่เหนือกว่า พร้อมรองรับการใช้งานได้เฉพาะมากขึ้น อย่างเช่นในการใช้งานภายในตู้ Rack
Conclusion
ก็คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีต่อผู้บริโภค ที่ในตลาดของ ปลั๊กสามตา ,ปลั๊กราง หรือ ปลั๊กพ่วง นั้นจะมีมาตรฐาน มอก. เพื่อควบคุมให้ปลั๊กพ่วงนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขและมาตรฐานที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ซึ่งบ้านเรานั้นมีการบังคับใช้มาตรฐานช่วงเวลาไม่ห่างจากประเทศสหรัฐอเมริกามากนัก แน่นอนว่าในมาตรฐาน มอก.2432-2555 ที่มีรายละเอียดปลีกย่อย ควบคุมตั้งแต่การใช้งาน ,วัสดุ ,ส่วนประกอบ ,ส่วนเสริม เพื่อให้ผู้ใช้งานนั้นได้มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น แต่ในแง่ของทางด้านผู้ผลิตที่จะมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ต้องมีการออกแบบใหม่ ,เพิ่มคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ และปรับเปลี่ยน เพื่อให้ตรงมาตรฐาน มอก. 2432-2555 ก็เป็นครั้งแรกใน้บ้านเราที่มีการควบคุมปลั๊กพ่วงให้มีมาตรฐานไปในแนวทางเดียวกัน ราคาขายปลีกของโมเดลที่ได้รับ มอก. ราคาก็จะสูงขึ้นตามต้นทุน ส่วนโมเดลเก่าๆที่ไม่มี มอก. ก็จะไม่มีผลิตเพิ่มแล้วและห้ามวางจำหน่ายแล้ว หลายๆแบรนด์ก็มีความพร้อมสำหรับปลั๊กพ่วง ในยุค มอก. ปลั๊กพ่วงราคาถูกตามตลาดนัด หรือ ปลั๊กสามตาที่นิยมใช้กันสมัยก่อนก็คงจะเป็นอดีตไป ยังไงซะในแง่มุมของผู้บริโภคคนนึงที่ใช้ปลั๊กพ่วง ก็ต้องทำใจกับราคาที่สูงกว่าเดิม(มั้ง) แต่ได้มาตรฐานที่สูงมากขึ้น ที่เราได้เห็นการทำตลาดของปลั๊กพ่วง มอก.2432-2555 มีราคาถูกลง จับต้องได้ง่ายมากขึ้น แต่ยังคงมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน มอก.2432-2555 สำหรับวันนี้ก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ