สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซน ด้วยสถานการณ์ของ COVID-19 ในเวลานี้ การกักตัวเองอยู่ที่บ้านนั้นคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยส่วนตัวผมนี่ก็แทบไม่ได้ออกจากบ้านไหน ซึ่งวันนี้กับโปรเจค Modding Log ด้วยการโมดิฟายลำโพงคอมพิวเตอร์ กับคอนเซ็ปต์ ของเดิมดีอยู่แล้ว จะมาโมให้"เจ๊ง"ทำไม ในสถานการณ์ Work From Home สั่งของมาโมดิฟายลำโพงคอมพิวเตอร์ทางออนไลน์ล้วนๆ แน่นอนว่าการออกแบบลำโพงคอมที่วางขายในด้วยการแข่งกันในตลาดที่สูงมาก ทำให้ผู้ผลิตนั้นต้องใช้ของคุณภาพแบบตามราคาที่ผู้ขายยังมีกำไร ซึ่งกับคอนเซ็ปต์ เดิมดีอยู่แล้ว จะมาโมให้"เจ๊ง"ทำไม ในช่วงของ Modding From Home จะเป็นการอัพเกรดพวกคาปาซิเตอร์คุณภาพที่สูงขึ้น ก็ต้องมาลองดูว่าความวินาศสันตะโรจะออกมาเช่นไร
วันนี้ก็จะเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกับคราวที่แล้ว "ลำโพงคอมฯเสีย ซ่อมได้ในงบหลักสิบ" แต่วันนี้จะเป็นเรื่องราวของเจ้าตัว Microlab Pro 1 ที่วางอยู่ข้างหลังในภาพนี้
เจ้า Microlab Pro 1 ที่ได้รับการเปลี่ยนคาปาซิเตอร์ของภาคจ่ายไฟภาคขยายเสียง มากันทุกจุด ด้วย ELNA RJD และ Nichicon FG แต่ปัญหามันยังไม่จบ
คาปาซิเตอร์ภาคจ่ายไฟของเดิมที่ใช้ใน Microlab Pro 1 คือตัวที่สองจากซ้ายมือของภาพ 35V 4700UF เปลี่ยนมาใช้ ELNA RJD 35V 7400UF แทน โดยได้มีการพ่วงเพิ่มเข้าไปอีก 2 ตัว กลายเป็น 4 ตัว
ในส่วนคาปาซิเตอร์ภาครับสัญญาณเสียงจากปรี ที่มีการค่อยๆเปลี่ยนเข้ามาทีหลัง หลังจากเปลี่ยนคาปาซิเตอร์ที่ภาคขยายเสียงมาแทบทุกจุด
ในส่วนภาครับสัญญาณเสียงจากภายนอกในส่วนของปรี ที่มีการเปลี่ยนใหม่หมด โดยเปลี่ยนเป็นเบอร์เดิมตรงกับของเดิม ที่เราจะเห็นได้ว่าบางเบอร์ขนาดนี่ใหญ่โตกว่าของเดิมมาก
บางเบอร์ที่ผมไม่มีอะไหล่ หรือ หาซื้อไม่ได้ ก็จัดการนำแบบความจุหรือ UF เท่าเดิม แต่ Voltage สูงขึ้นมาใส่แทน โดยภาคปรีนี่จับเปลี่ยนคาปาซิเตอร์หมด ยกเว้นแบบเซรามิคและไมล่า ที่ปล่อยมันไว้
ขั่วต่อสายลำโพงจากแบบหนีบ ก็จัดการเปลี่ยนเป็นไบดิ้งโฟสต์ขนาดใหญ่ ที่เจาะกันเหนื่อยมาก เพราะดอกสว่านไม่ดี
ทางด้าน OP-AMP จัดการถอดออกแล้วใส่ Socket เพื่อจะได้เปลี่ยน OP-AMP ได้ภายหลัง ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนของคาปาซิเตอร์บางตัวรอบๆ OP-AMP เพื่อให้สะดวกในการเปลี่ยน OP-AMP โดยไม่ต้องรื้อบอร์ดออกมา โดยคาปาซิเตอร์ที่ผมเปลี่ยนไปทุกตัวเป็นของ Nichicon ในตระกูล FG, BP และ KZ
ในส่วนของ Network ลำโพง ที่ได้มีการเปลี่ยนคาปาซิเตอร์แบบตรงเบอร์ของเดิมในส่วนย่านความถี่เสียงสูง เปลี่ยนแบบลักไก่ง่ายๆ เข้ากับขาของเดิมและตัดขาของเดิมออก เดี๋ยวไว้ว่างๆค่อยรื้อมา Wire สายในตู่ใหม่ แล้วค่อยมาเก็บงานให้ดีกว่านี้
คงเป็นส่วนสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด กับการยัดใยสังเคราะห์ในตู้ลำโพง ซึ่งปกติผมจะใช้แผ่นใยสังเคราะห์ ที่กรองของเสียจากตู้ปลา แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ก็แกะจากหมอนข้าง ซึ่งมันก็ใช้ใยสังเคราะห์เหมือนกัน โดยยัดไปฟังไป ว่าฟังแล้วชอบกับความแน่นแบบไหน ตรงนี้จะช่วยให้เบสนุ่มขึ้น
จากการ Modding From Home ที่เสียเงินกันไปพอสมควร เพราะต้องสั่งออนไลน์จากหลายๆร้าน ไม่ได้ไปซื้ออะไหล่จากบ้านหม้อแบบปกติ เสียงที่ออกมาก็ดีขึ้นในระดับนึง จากคาปาซิเตอร์คุณภาพที่ดีมากกว่าของเดิมนั้นเอง ส่วนใครจะเปลี่ยนระดับไหนก็แล้วแต่งบประมาณ อาจะเริ่มต้นที่สายลำโพง และ ยัดใยสังเคราะห์ ที่ทำง่ายแบบง่ายที่สุดแล้ว
Conclusion
วันนี้ที่เป็นเรื่องราวแบบไม่มีอะไรมาก เขียนสนุกๆกับการโมลำโพงคอมพิวเตอร์ตัวนึง เพื่อเค้นเสียงออกมาให้ดีขึ้น ที่หลายคนก็คงมีคำถามในใจ (แม่ผมก็เคยถาม ตอนสมัยมัธยม) ประมาณของเดิมดีอยู่แล้ว จะมาโมให้ทำไมกัน ก็คงเห็นได้แล้วว่าของที่เราอัพเกรดเปลี่ยนไปนั้นคุณภาพที่มันดีและสูงกว่าเดิม ซึ่งมันก็ส่งผลต่อเสียงที่ออกมาที่ดีขึ้น ซึ่งตัวอย่างในวันนี้เป็น Microlab Pro 1 ที่ผมค่อยๆทำทีละนิดอยู่เป็นเดือน โดยทุกจุดที่เราเปลี่ยนเข้าไปมันก็ส่งผลต่อเสียงที่ออกมาตามการเปลี่ยนอุปกรณ์ การจะโมลำโพงคอมพิวเตอร์ตัวนึง ก็ควรคำนึงถึงงบประมาณ และ ความเป็นไปได้ในการโมนั้นเอง โดยส่วนตัวที่ตัดสินใจลงทุนไปกับ Microlab Pro 1 เพราะหน้าตา ,ชิพภาคขยายที่ใช้กับแอมป์แบรนด์ดัง และ พื้นฐานเสียงเดิมที่ทำได้ เลยเป็นที่มาของความวินาศสันตะโรที่ได้เห็นกัน ก็เป็นแนวทางกับช่วงว่างๆกักตัวอยู่บ้าน เผื่อใครจะหาอะไรทำคลายเครียด สำหรับวันนี้ก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ